เพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยด เสริมแกร่งชาวนาพัทลุง

“ข้าวสังข์หยด” เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุงที่ปลูกกันมาไม่น้อยกว่า 100 ปี ข้าวพันธุ์นี้ได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้บริสุทธิ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวแห่งศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ข้าวเจ้าเมื่อหุงสุกในรูปแบบข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติอร่อย ข้าวสังข์หยดนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวนาเมืองพัทลุง เพราะเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยและของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 23 มิถุนายน 2549  

แปลงปลูกข้าวสังข์หยดแบบเกษตรอินทรีย์

การปลูกข้าวสังข์หยด

ข้าวสังข์หยดพัทลุงผลิตจากแหล่งปลูกธรรมชาติ ที่ได้ชื่อว่า “อู่ข้าว” ของภาคใต้ เป็นแผ่นดินที่ราบระหว่างทิวเขาบรรทัดกับทะเลสาบสงขลา-พัทลุง ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายชนิด ชาวนาพัทลุงปลูกข้าวสังข์หยดในฤดูนาปี เดือนสิงหาคม-กันยายน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป

ฤดูการผลิตปี 2565 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกข้าวสังข์หยดกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4,137 ราย ครอบคลุม 11 อำเภอ เนื้อที่เพาะปลูกรวม 19,655 ไร่ ผลผลิตรวม 7,976 ตันต่อปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 402 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแหล่งปลูกสำคัญ ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน และอำเภอป่าบอน ปี 2565 มีเกษตรกรที่ได้รับ GI ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง จำนวน 102 ราย พื้นที่ปลูกรวม 632 ไร่ และมีผู้ประกอบการข้าวสังข์หยดที่ได้การรับรองให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 6 ราย

สินค้าข้าวสังข์หยดที่ผ่านกระบวนการขัดสี 3 ระดับ ของวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการตลาด ชาวนาพัทลุงมุ่งลดต้นทุนการทำนา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับตัวสู่การทำนาแบบอินทรีย์ ปลูกพืชบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องเมล็ดพันธุ์ โดยเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้ใช้เองเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำรวจพบว่า ชาวนาพัทลุงหลายรายใช้เทคโนโลยีเครื่องพ่นเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 11 เพราะทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยกระจายทั่วถึงพื้นที่เพาะปลูก สามารถควบคุมปริมาณการใช้และประหยัดเวลา ที่สำคัญทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นเป็น 389 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เมื่อเทียบกับการปลูกโดยวิธีปกติที่มีผลผลิตเฉลี่ย 345 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

ผู้บริหาร วช. กับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

ขณะเดียวกัน ชาวนาพัทลุงมีการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการชาวนาเสริมการเรียนรู้ด้านการผลิตและการตลาด เช่น วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง ที่เน้นการรักษาคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพิ่มศักยภาพด้านการแปรรูปข้าวโดยสร้างโรงสีข้าว สร้างตราสินค้า เพิ่มมูลค่าข้าว สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน เพิ่มการกระจายสินค้าที่หลากหลาย ทั้งงานแสดงสินค้าและตลาดออนไลน์ผ่านทางระบบไลน์และเฟซบุ๊ก

โชว์ข้าวสังข์หยดของวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง

สารสกัดจากรำข้าว

ขายได้กิโลกรัมละ 2,000 บาท

แนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท คาดว่ามียอดขายทะลุ 2 แสนล้านบาทในไม่ช้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 46.8% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เช่น ช่วงต้มยำกุ้ง ทุกธุรกิจชะลอตัวหมด ยกเว้นตลาดเครื่องสำอาง เพราะไม่ว่าจะอย่างไรผู้หญิงก็ต้องใช้เครื่องสำอางเพราะถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต

เนื่องจากสารสกัดจากข้าวสังข์หยดมีคุณสมบัติด้านต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดโรค ช่วยลดหรือชะลอความแก่ได้ จึงตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพ ความงามและผิวพรรณได้อย่างดี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ดำเนินงานโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูป-เพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดด้วยนวัตกรรมให้แก่กลุ่มผู้ปลูกข้าว ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง วิสาหกิจข้าวอินทรีย์โตนดด้วน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านกล้วยเภา กลุ่มทำนาอินทรีย์ตะโหมด และกลุ่มข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านพังดาน

ผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวสังข์หยดกึ่งสำเร็จรูป

ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายสามารถแปรรูปข้าวสังข์หยด (ข้าวหักท่อน รำข้าว) สู่ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวกล้องสังข์หยดสำเร็จรูปปรุงรส ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคลีนซิ่งออยล์จากสารสกัดรำข้าวสังข์หยด จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มโอกาสอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวสังข์หยด ขยายระดับการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ในระดับที่สูงขึ้น

ดร.พรวิชัย เต็มบุตร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ข้าวตกเกรดมักขายได้ราคาถูก โดยปลายข้าวหรือข้าวหักท่อนราคากิโลกรัมละ 15 บาท รำข้าวกิโลกรัมละ 8 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นสารสกัดจากข้าวสังข์หยด สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง 100 เท่า คือ ลิตรละ 2,000 บาท

ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการอบรมความรู้ สามารถทำสารสกัดจากข้าวสังข์หยดอย่างง่ายๆ ด้วยวิธีการสกัดด้วยไมโครเวฟ โดยอาศัยคลื่นไมโครเวฟช่วยในการสกัด ร่วมกับตัวทำละลาย ข้อดีคือ ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ลดค่าใช้จ่าย รวดเร็ว ได้สารสำคัญสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สารสกัดข้าวสังข์หยดจากข้าว-รำข้าว ด้วยไมโครเวฟ

ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก เริ่มจากเตรียมอุปกรณ์คือ เครื่องไมโครเวฟแบบครัวเรือน กำลังไฟ 800 วัตต์ บีกเกอร์หรือภาชนะแก้วสำหรับใส่ตัวอย่าง รำข้าวหยาบ 50 กรัม ตัวทำละลาย (ใช้โพรพิลีนไกลคอล หรือน้ำ) แท่งแก้วคน กรวยกรอง และกระดาษกรอง ทั้งนี้ ใช้อัตราส่วนระหว่างตัวรำข้าวกับตัวทำละลายเป็น 1 ต่อ 4 ส่วน ระยะเวลาการสกัด เข้าไมโครเวฟตั้งเวลาทำงาน 10 วินาที เมื่อครบเวลาให้นำออกมาคนเป็นเวลา 30 วินาที

นำวัตถุดิบเข้าไปไมโครเวฟและออกมาคนครบจะนับเป็น 1 รอบ ทำการสกัดเป็นจำนวน 10 รอบ นำไปผ่านกรวยกรอง และกระดาษกรองในขั้นตอนสุดท้าย ก็จะได้สารสกัดจากข้าวสังข์หยดตามที่ต้องการ ข้อควรระวังคือ อย่าให้ร้อนเกินไปจนเดือดหรือปะทุ

เกษตรกรผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์จากสารสกัดข้าวสังข์หยด

สารสกัดจากข้าวสังข์หยดเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการผลิตเครื่องสำอางที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ชุมชนนาขยาด อำเภอควนขนุน ที่นำสารสกัดข้าวสังข์หยดไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพัทลุงยังได้นำสารสกัดจากข้าวสังข์หยดไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Essence แบรนด์ “ABI HASU” และ Makeup Remover ขายใน ชื่อแบรนด์ “คัดสรร”

คุณบดินทร์ภัทร วิบูลย์พันธุ์ (คนกลาง)

ด้าน คุณบดินทร์ภัทร วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง ซึ่งดูแลด้านการตลาด ได้ศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า คนไทยวัย 40-50 ปีซึ่งเป็นประชากรร้อยละ 40 ของประเทศ นิยมบริโภคข้าวสังข์หยดเพราะมีสารอาหารมากมายที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และเหมาะสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการอาหารดี มีประโยชน์ จึงเปิดตัวสินค้าใหม่คือ ผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวสังข์หยด ซึ่งกินง่าย แค่ชงน้ำร้อนพร้อมกินได้เลย และมีรสชาติอร่อย ที่สำคัญสินค้าตัวนี้ สร้างมูลค่าเพิ่มสูงกว่าขายข้าวสารถึง 19 เท่า ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพชาวนาได้อย่างดี