ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหาหนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ด้วงแรด ด้วงงวง ล้วนแล้วแต่เป็นแมลงศัตรูมะพร้าวที่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวไม่ต้องการให้เกิดขึ้นทั้งในสวนของตนเองและสวนของเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อพบแล้ว ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชเหล่านี้จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการควบคุมหรือกำจัดที่ดีพอ
คุณวิชาญ บำรุงยา เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ผู้ที่เคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นประจำปี 2558 ในสาขาอาชีพทำสวน และเราให้คำจำกัดความเขาว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” ในมุมของเกษตรกรทำสวนมะพร้าว
มุมมองของคุณวิชาญ คือ การแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชทุกอย่างด้วยการงดใช้สารเคมี หรือใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดในกรณีที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้างไปถึงผู้บริโภค แม้สารเคมีบางชนิดที่ได้รับการประเมินปริมาณในการใช้แล้วว่า ไม่ตกค้างจนก่อให้เกิดโทษต่อผู้บริโภคก็ตาม
“หนอนหัวดำและแมลงดำหนาม เป็นแมลงศัตรูพืชที่ในอดีตไม่เคยมี เกษตรกรของไทยไม่เคยประสบ กระทั่งปีที่เกิดการระบาดในภาคใต้ และไม่นานก็แพร่ระบาดมาถึงภูมิภาค อื่นๆ การแก้ปัญหาที่ภาครัฐแนะนำขณะนั้น คือ การใช้สารเคมีกำจัด เพราะต้องการให้การแพร่ระบาดหมดไปโดยเร็ว อีกทั้งเป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่งพบ ทำให้ไม่มีงานวิจัยใดมารองรับ การแก้ปัญหาศัตรูพืชชนิดนี้มาก่อน”
ระยะที่พบการระบาด เมื่อได้รับคำแนะนำจากภาครัฐ สิ่งที่เกษตรกรทำได้คือการทำตาม เพื่อแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด แต่เมื่อภาวะระบาดผ่านพ้นไป การทบทวนถึงวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงมีขึ้น
ไม่เพียงแต่การป้องกันหรือกำจัด แต่มองไปถึงต้นทุนการผลิตที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ตอบโจทย์เกษตรกรให้ได้รู้ว่า กำไรจากการทำสวนมีมากหรือน้อย
คุณวิชาญ มองว่า การใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม มีต้นทุนที่สูงมาก สารเคมีปริมาณ 250 มิลลิลิตร ราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท เมื่อใช้ในปริมาณที่แนะนำ สามารถใช้ในมะพร้าว จำนวน 8 ต้น และควบคุมได้ในระยะเวลาเพียง 6-8 เดือน เมื่อคิดเป็นต้นทุนแล้วเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายต่อต้นอยู่ที่ 150 บาท ต่อ 6-8 เดือน
“แตนเบียนบราคอน” เป็นแมลงตามธรรมชาติที่มีความสามารถในการกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวได้
ตามทฤษฎีการใช้แตนเบียนกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว คือ การปล่อยแตนเบียน จำนวน 200 ตัว (1 กล่อง มี 200 ตัว) จะสามารถควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวได้ในพื้นที่ 1 ไร่
ที่ผ่านมา มีเกษตรกรหลายรายทำตาม หวังผลที่ดีขึ้น แต่การควบคุมและกำจัดก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะลดลงแต่ก็ยังพบการระบาดอยู่ และหากสวนใกล้เคียงไม่ทำไปพร้อมๆ กัน โอกาสควบคุมและกำจัดได้ประสบความสำเร็จก็ค่อนข้างยาก
แต่ถึงอย่างไร “แตนเบียน” ก็เป็นความหวัง
คุณวิชาญ ใช้ทฤษฎีการปล่อยแตนเบียนเป็นตัวตั้ง แล้ววิเคราะห์จากปัจจัยโดยรอบ พบว่า เมื่อสวนรอบข้างไม่ได้พร้อมใจกันปล่อยแตนเบียนไปกำจัดแมลงศัตรูพืชพร้อมกัน ก็เกิดช่องโหว่ เพราะพื้นที่จะกว้างมากขึ้น จำนวนแตนเบียนที่ปล่อยไปตามพื้นที่สวนของเกษตรกรแต่ละรายก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากเกษตรกรไม่พร้อมใจกัน เจ้าของสวนที่ปล่อยแตนเบียนก็จำเป็นต้องปล่อยแตนเบียนเพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือปล่อยจำนวนเท่าเดิมแต่ระยะเวลาถี่ขึ้น และเริ่มใช้แตนเบียนกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556
คุณวิชาญ ปล่อยแตนเบียนสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 10-20 กล่อง ได้ผลดีเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
“ถ้าจะให้ได้ผลดี สวนข้างเคียงต้องทำไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นแตนเบียนจากสวนเราก็กระจายไปสวนอื่นด้วย ยังไงก็ไม่ได้ผล”
เมื่อแตนเบียนจำเป็นต้องใช้จำนวนมากในการปล่อย คุณวิชาญจึงเป็นโต้โผในการเพาะเลี้ยงแตนเบียน เพื่อให้ได้ปริมาณมากพอสำหรับปล่อยทุกสัปดาห์ ทุกสวน เพื่อให้การควบคุมและกำจัดได้ผล
การรวมกลุ่มกันของเกษตรกรสวนมะพร้าวในอำเภอบางละมุงจึงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด เพราะพื้นที่บางละมุงมีมากถึง 8 ตำบล ปัจจุบัน เกษตรกรสวนมะพร้าวที่พร้อมใจกันรวมกลุ่มผลิตแตนเบียนมีมากถึง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลหนองหรือ และ ตำบลตะเคียนเตี้ย
การรวมกลุ่มเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแค่เห็นผลว่า แตนเบียนสามารถควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวได้ แต่เพราะเป็นการทำที่ต้นทุนต่ำกว่าการใช้สารเคมีมาก
การผลิตแตนเบียน ควรเพาะหนอนข้าวสาร (แทนหนอนหัวดำ) สำหรับใช้เป็นอาหารของแตนเบียน การเพาะหนอนข้าวสาร จำเป็นต้องใช้รำ ปลายข้าว ไข่ผีเสื้อ หมักไว้รวมกัน จากนั้นเมื่อได้หนอนข้าวสาร ก็นำมาวางไว้ให้เป็นอาหารของแตนเบียน เพื่อเพิ่มจำนวนแตนเบียน กระบวนการตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงได้แตนเบียนตามจำนวนต้องการ ใช้ระยะเวลา 45 วัน
ปัจจุบัน ปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำ ศัตรูมะพร้าวตัวฉกาจ ยังไม่หมดไป แต่ก็พบได้น้อยมาก
เทคนิคการดูแลมะพร้าวอื่นๆ ปราชญ์มะพร้าวท่านนี้ แนะนำไว้ ดังนี้
ใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบปีละครั้ง จำนวน 2 กิโลกรัม ช่วงต้นหรือปลายฤดูฝน ขึ้นกับความสะดวก
ทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลสุกร นำไปพ่นที่ใบมะพร้าวทุกเดือน ช่วยป้องกันแมลงรบกวนได้ดีระดับหนึ่ง
เทคนิคที่คุณวิชาญใช้และเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วย คือ การทำให้ต้นมะพร้าวแข็งแรง การป้องกันโรคจากการใช้สารชีวภาพ และการบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยขี้ไก่ รวมถึงการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเกิดภาวะแล้ง ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้มะพร้าวให้ผลผลิตดีอย่างต่อเนื่องแน่นอน
แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว และมองข้ามการใช้แตนเบียนกำจัด คุณวิชาญ วิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเพราะความไม่พร้อมในการหาอุปกรณ์ผลิตแตนเบียน รวมถึงการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรในตำบลเดียวกันที่ยังไม่เข้มแข็งพอ เพราะการผลิตแตนเบียนให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันนั้น ต้องมีการกำหนดวันเวลาที่ทำไว้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นจำนวนแตนเบียนที่ผลิตได้อาจไม่เพียงพอ รวมถึงขณะนั้นเกษตรกรเห็นว่ามีพืชอื่นที่ขายได้ราคาดีกว่า จึงไม่ให้ความสำคัญกับการทำสวนมะพร้าว
นอกเหนือจากหนอนหัวดำแล้ว ศัตรูพืชที่สำคัญของมะพร้าว ยังมีด้วงแรดและด้วงงวง ที่จัดว่าเป็นศัตรูพืชที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งแตนเบียนไม่สามารถกำจัดด้วงเหล่านี้ได้
คุณวิชาญ ไม่ได้เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่เก่งกาจไปทุกสิ่ง ปัญหาด้วงแรดและด้วงงวงก็ยังพบอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะการทำการเกษตรด้วยปัญญา ทำให้ปัญหาต่างๆ ทุเลาลง
“ตัวร้ายจริงๆ คือ ด้วงงวง ที่เข้าไปวางไข่ในยอดอ่อน ของมะพร้าว แต่ถ้าไม่มีด้วงแรด ด้วงงวง ก็ไม่สามารถเข้าไปวางไข่ได้ เพราะด้วงแรดเป็นตัวกัดกินยอดอ่อนของมะพร้าว เป็นศัตรูพืชที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ดังนั้น หากกำจัดด้วงแรดได้ ด้วงงวงก็ไม่สามารถเข้าไปวางไข่ในยอดอ่อนของมะพร้าว ปัญหาด้วงก็หมดไป”
เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำให้ซื้อสารฟีโรโมน เป็นตัวล่อ ผูกล่อไว้กับถังน้ำ เมื่อด้วงได้กลิ่นก็บินเข้ามาหาที่ถังน้ำ เมื่อบินลงไปก็ไม่สามารถบินขึ้นมาได้ เป็นการกำจัดด้วงแรด แต่ประสิทธิภาพการกำจัดด้วงแรดด้วยวิธีนี้ก็ไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ ในบางรายใช้ก้อนเหม็นแขวนไว้ตามยอดมะพร้าว ใช้กลิ่นไล่ด้วงแรด แต่ลูกเหม็นก็ไม่สามารถวางกระจายได้ครอบคลุมทั่วทั้งสวน
วิธีหนึ่งที่คุณวิชาญแนะนำ คือ การหมั่นบำรุงรักษาต้นมะพร้าวโดยการให้น้ำ ให้ปุ๋ย อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มะพร้าวแข็งแรง นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตต้นทุกระยะ โดยเฉพาะระยะ 3-4 ปี เป็นช่วงที่แมลงศัตรูพืชชอบมากที่สุด เพราะมะพร้าวกำลังแตกใบอ่อน หากพบให้ทำลายด้วยวิธีชีวภาพหรือกำจัดด้วยมือตามความสามารถที่ทำได้
ทุกวันนี้ เฉลี่ยมะพร้าวแกงที่เก็บจำหน่ายได้ในสวนของคุณวิชาญ อยู่ที่ 1 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ไม่เคยน้อยไปกว่านี้ ซึ่งพื้นที่ปลูกมะพร้าวของคุณวิชาญและครอบครัวรวมกัน กว่า 100 ไร่ ผลมะพร้าวแกงที่เก็บได้ มีพ่อค้าเข้ามาเก็บถึงสวน ราคาขายหน้าสวนลูกละ 17 บาท
ดูเหมือนการป้องกันและกำจัดศัตรูมะพร้าวด้วยวิธีข้างต้นจะเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จดีในระดับหนึ่ง แต่คุณวิชาญก็ยังไม่วางใจ เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกมะพร้าวแบบทิ้งขว้างเพราะมีรายได้จากพืชชนิดอื่นในสวนมากกว่า และหากทำได้ คุณวิชาญจะใช้เวลาว่างเท่าที่มีเข้าไปส่งเสริมการป้องกันและกำจัดศัตรูมะพร้าว เพื่อให้เกษตรกรทำสวนมะพร้าวอย่างไม่กังวล ทั้งยังเป็นการลดต้นทุน ปลอดภัยกับเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ปราชญ์มะพร้าว บางละมุง ท่านนี้พร้อมให้ถ่ายทอดข้อมูล หากเกษตรกรสวนมะพร้าวท่านใดต้องการ สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ (062) 956-3629 ยินดีเป็นอย่างยิ่ง