“บางหว้า เมล่อน ฟาร์ม” เปิดพื้นที่เพิ่ม รับกระแส เกษตรในเมือง

“เมล่อน” พันธุ์ญี่ปุ่น หาชิมได้ที่สวนเมล่อน-บางหว้า ของ คุณศราวุธ จันทะพรหม หรือ คุณโหน่ง เจ้าของ “บางหว้า เมล่อน ฟาร์ม” ซึ่งทำฟาร์มเมล่อนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เรียกว่า ใครก็ตามที่เข้าไปที่บางหว้า เมล่อน ฟาร์ม คุณโหน่งพร้อมถ่ายทอดความรู้การปลูกเมล่อนให้กับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะคนเมืองที่สนใจทำ “เกษตรในเมือง” ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มาก แต่ต้องอาศัยความชอบและใจรักในการปลูกเมล่อนจริงๆ 

คุณโหน่งเป็นอดีตวิศวกรโยธา วัย 56 ปี มีดีกรีจบมาจากมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาใหม่ๆ คุณโหน่งเริ่มงานเป็นพนักงานรับเหมาก่อสร้าง ทำฟาร์มกุ้ง ทำร้านอาหาร และทำสวนเมล่อน จนเป็นกระแสเกษตรคนเมืองจนได้รับการยอมรับจากแวดวงเกษตรกรรม

แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ราว 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ทุกพื้นที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในส่วนของสวน “บางหว้า เมล่อน ฟาร์ม” ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะรูปแบบของสวน “เมล่อน-บางหว้า” เป็นลักษณะให้ลูกค้ามาชิมและซื้อถึงสวน รวมทั้งยังเป็นเชิงท่องเที่ยวเกษตรกรรม ทำให้ผู้เข้าชมชิมและเรียนรู้การทำเมล่อนลดลงไปด้วย

คุณโหน่งจึงปรับตัวด้วยการนำแนวทางพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ จากที่ดำเนินการตามรอยพระราชดำรินี้ตั้งแต่เริ่มต้น และแนวทางพระราชดำริก็ยังทำให้คุณโหน่งสามารถนำพาสวนเมล่อนที่บางหว้ารอดพ้นวิกฤต ด้วยการนำพืชผักสวนครัวมาปลูกในพื้นที่นอกโรงเรือน และในปี 2566 นี้ ยังได้เริ่มปรับโรงเรือนเมล่อนที่บางแคบางส่วนมาปลูกองุ่นและส้มเขียวหวาน เรียกว่าเป็นการใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมที่คิดอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอนมาปรับใช้กับการทำเกษตรกรรมให้ก้าวข้ามวิกฤตเพื่อให้เดินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

“ที่บางหว้าตอนนี้ผมมีโรงเรือนปลูกเมล่อนอยู่ 2 โรง และที่บางแคมีโรงเรือนเมล่อน 1 โรง ส้มเขียวหวาน 1 โรง องุ่น 3 โรง ซึ่งตั้งแต่ผมเริ่มทำสวนเมล่อนมา ก็มีการให้ความรู้แก่คนที่เข้ามาเยี่ยมชม ทั้งนำกลับไปเป็นงานอดิเรกและนำกลับไปทำเป็นอาชีพเสริม รวมทั้งบางคนเมื่อเข้ามาชมสวนเมล่อนแล้ว ก็นำไปทำเป็นอาชีพหลัก” คุณโหน่ง เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

สำหรับคุณโหน่งเริ่มทำสวน “บางหว้า เมล่อน ฟาร์ม” ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้วันนี้เป็นระยะเวลา 9 ปีแล้วที่สวนเมล่อนของเขาเดินทางมาอย่างอดทน และใช้ความวิริยอุตสาหะในสัมมาอาชีพ โดยผลิตคนให้เข้ามาเป็นเกษตรกรและเป็นเจ้าของฟาร์มเมล่อนที่สร้ายได้ให้กับครอบครัวได้จริงถึง 40-50 รายทั่วประเทศ

วันนี้คุณโหน่งยังทำหน้าที่ผลิตคนสู่ภาคเกษตรกรรมด้วยการสร้างแรงบันดาลใจที่จุดเริ่มต้นเล็กๆ คือ “บางหว้า เมล่อน ฟาร์ม” และ “ขยายการทำสวนเมล่อน” เพื่อรับจำนวนคนเข้าชมฟาร์มแบบเกษตรท่องเที่ยวในลักษณะ “ชม ชิม ช้อป” อีกจุดหนึ่งที่บางแค ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทำให้มีผู้ได้รับแรงบันดาลใจ และได้รับกำลังใจจากการเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มเมล่อนจากการแวะชิม แวะช้อป จนติดใจในรสชาติเมล่อน โดยอาจนำมาสู่การเรียนรู้การปลูกเมล่อน จนทำให้เดินบนเส้นทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวตามมา

สำหรับเมล่อนที่คุณโหน่งปลูกนั้น เน้นสายพันธุ์ญี่ปุ่น ได้แก่ สายพันธุ์คิโมจิ อิชิบะ คาซึสะ ซูบาริ และโยกุโบะ โดยคุณโหน่งยินดีที่จะให้คำแนะนำสำหรับผู้สนใจปลูกเมล่อน ทั้งนำไปเป็นงานอดิเรก อาชีพเสริม และอาชีพหลัก

“การปลูกเมล่อนนั้นทำเล่นๆ ไม่ได้ เพราะการทำโรงเรือนเมล่อนนั้นใช้เงินลงทุนในการสร้างโรงเรือน การซื้อสายพันธุ์ การดูแลอย่างใกล้ชิดเหมือนลูก เพราะเมล่อนมักเจอปัญหาใหญ่คือ เพลี้ยไฟ ซึ่งหากเมล่อนเจอปัญหานี้แล้ว จะทำให้ต้นเมล่อนหงิกงอ และส่งผลให้ต้องถอนต้นทิ้งทั้งหมด เพื่อเริ่มปลูกใหม่” คุณโหน่ง ฝากแง่คิดทิ้งท้าย

ส่วนท่านใดที่สนใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้การทำเกษตรในเมือง ที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ไม่ต้องทำเกษตรแปลงใหญ่ สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามคุณโหน่งได้โดยตรงที่เบอร์โทร. 081-209-3226