ผู้เขียน | ทีมข่าวเทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
เผยแพร่ |
“มะพร้าว” เป็นพืชที่ปลูกกันทั่วไปทุกภาคของไทย มีผลผลิตตลอดทั้งปี นำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของมะพร้าว เช่น เนื้อมะพร้าว ใช้ทำอาหารทั้งคาวและหวาน น้ำมะพร้าวอ่อนใช้ดื่มแก้กระหาย ใบมะพร้าวใช้ห่อขนม จักสาน หลังคา ต้นมะพร้าวใช้แทนไม้ในการก่อสร้าง กะลาใช้ทำเครื่องดนตรีและถ่านที่มีคุณภาพ รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ หรืออมบ้วนแก้เจ็บคอ น้ำมันมะพร้าวใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ใช้ทาบำรุงผม น้ำมะพร้าวใช้เป็นยาระบาย แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้อาเจียนเป็นโลหิตและบวมน้ำ ทำเป็นน้ำส้มสายชู
อีกหนึ่งแนวทางเพิ่มมูลค่ามะพร้าวที่น่าสนใจคือ การทำไวน์มะพร้าว โดยทั่วไป ผลไม้ที่นำมาผลิตเป็นไวน์ส่วนใหญ่ นิยมใช้ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น กระเจี๊ยบ หม่อน สตรอเบอร์รี องุ่น ฯลฯ เพราะทำได้ง่าย แต่การทำไวน์จากมะพร้าว ซึ่งมีความหวานและกลิ่นหอม จึงทำได้ยากกว่าผลไม้อื่น เพราะต้องใช้เทคนิคพิเศษ เพื่อให้ได้ไวน์ที่มีคุณภาพและมีรสชาติอร่อย จึงขอนำเสนอเทคนิคการทำไวน์มะพร้าวใน 2 รูปแบบ จากภูมิปัญญาชาวบ้านและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การผลิตไวน์มะพร้าวน้ำหอมบนต้น
จากภูมิปัญญาชาวบ้าน จ.ขอนแก่น
นายสมร ไชโยธา อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ที่ 3 บ้านท่าเรือ ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ได้ค้นพบวิธีการ “ผลิตไวน์มะพร้าวน้ำหอมติดอยู่บนต้น” ได้อย่างน่าทึ่ง และเพิ่มมูลค่าของมะพร้าวน้ำหอม เมื่อทำเป็นไวน์แล้วสามารถขายได้ราคาสูง
ย้อนกลับเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน คุณพ่อของคุณสมรเคยทำไวน์มะกอกบนต้น เพราะมีความเชื่อว่า เป็นยาอายุวัฒนะ โดยใช้ต้นมะกอกป่า (ใช้ผลทำส้มตำ) ขนาดโต ใช้สิ่วเจาะเข้าไปในลำต้นให้เป็นแอ่งหลังจากเจาะแล้วจะมีน้ำหยดลงมาขังอยู่ที่แอ่ง จากนั้นใส่แป้งเหล้าเข้าไปหนึ่งก้อน แล้วใช้กิ่งมะกอกทำเป็นลิ่มตอกปิดไว้ จะทำในช่วงเข้าพรรษาเมื่อออกพรรษาก็นำมาดื่มกิน
คุณสมรจึงเกิดแรงบันดาลใจนำความรู้ที่ได้จากคุณพ่อ นำมาผลิตไวน์มะพร้าวน้ำหอมติดอยู่บนต้น ปรากฏว่าได้ไวน์มะพร้าวที่มีรสชาติดีเช่นกัน คุณสมรจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำคัญคือ แป้งข้าวหมาก (ยีสต์) เหล้าขาวหรือเหล้าฝรั่ง เข็มฉีดยาขนาดใหญ่พร้อมไซริงจ์ ตะปูห้า เทปกาว บันได ต้นมะพร้าวและผลอ่อน
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากใช้ยีสต์ ก้อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วครึ่ง ใช้ครึ่งก้อนบดให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวขวดกั๊กคือ ประมาณ 150 ซีซี คนให้เข้ากัน จากนั้นใช้ตะปูตอกเข้าที่บริเวณด้านบนของผลมะพร้าวอ่อนจำนวน 2 รู และใช้ไซริงจ์ดูดส่วนผสมและฉีดเข้าไปที่ผลมะพร้าวอ่อนที่ยังติดอยู่บนต้น ผ่านทางรอยตอกของตะปู โดยฉีดเข้าไปปริมาณ 1.5 ซีซีต่อผล จากนั้นใช้เทปกาวปิดรูทั้งสองรู ปล่อยทิ้งไว้ 10-15 วัน
จากนั้นตัดลงมาใช้มีดเฉือนที่ส่วนหัวของผล ใส่หลอดดูด ดูดเอาของเหลวภายในผลมะพร้าว ซึ่งก็คือไวน์นั่นเอง จะได้ไวน์มะพร้าวน้ำหอมที่รสชาติอร่อย ซึ่งเหล้าขาวขนาด 150 ซีซี (ขวดกั๊ก) สามารถผลิตไวน์มะพร้าวน้ำหอมได้ประมาณ 100 ผล
ไวน์มะพร้าวน้ำหอม…สูตร ม.แม่โจ้
ทีมนักวิจัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประกอบด้วย รศ.ศิรินทร์ญา ภักดี นายประพันธ์ ปันพันธุ์ นางสมใจ ประทุมเทพ ประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและทดลองทำ “ไวน์จากมะพร้าวน้ำหอม” ที่มีรสชาติยอดเยี่ยมและมีกลิ่นหอม
การผลิตไวน์มะพร้าวของ ม.แม่โจ้ เริ่มจากจัดเตรียมอุปกรณ์สำคัญ ได้แก่ 1. ขวดแก้วสำหรับหมัก ขนาด 10 ลิตร เกษตรกรที่มีประสบการณ์แล้วอาจจะเพิ่มปริมาณการผลิต โดยการหมักในถังบรรจุน้ำดื่มที่มีขายทั่วไป หาจุกปิดที่ช่วยระบายก๊าซที่เกิดจากการหมัก แต่อากาศจากภายนอกจะเข้าไปไม่ได้ 2. หัวเชื้อสำหรับหมักไวน์ 3. เนื้อมะพร้าวและน้ำมะพร้าว
ขั้นตอนการเตรียมหัวเชื้อ เริ่มปอกมะพร้าวเพื่อนำน้ำมะพร้าวเทลงในภาชนะโดยผ่านการกรองจากผ้าขาวบาง เติมเชื้อลงไปเพื่อปรับให้มีความเป็นกรด จากนั้นตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 24 ชั่วโมง
ขั้นตอนการหมัก เติมหัวเชื้อในน้ำมะพร้าว ปริมาตร 8 ลิตร ปรับความหวานให้ได้ 20 บริกซ์ (หน่วยวัดความหวาน) เติมเนื้อมะพร้าวที่ขูดกว้าง ประมาณ 1 นิ้ว ยาว 2 นิ้ว หนา 0.25 นิ้ว ในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อจะได้มีกลิ่นหอม หากใส่เนื้อมะพร้าวมากจะเหลือพื้นที่สำหรับน้ำมะพร้าวน้อย จากนั้นจึงปิดฝาด้วยจุกที่อากาศผ่านออกได้แต่อากาศภายนอกเข้าไม่ได้ หมักไว้นาน 10-15 วัน จึงดูดออกมาพักให้ตกตะกอน จากนั้นจึงนำไปพาสเจอไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อ เป็นอันเสร็จขั้นตอนแรก จากนั้นจึงถึงขั้นตอนการบ่ม การบ่มจะนานเท่าไรก็ได้ ยิ่งบ่มนานก็จะได้รสชาติที่ดี กลมกล่อม หอมหวาน
การหมักจะต้องใช้ภาชนะที่ทึบแสง หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ เนื่องจากการหมักนานๆ กรดที่เกิดอยู่ภายใน อาจจะกัดกร่อนโลหะ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ในอนาคต ต่างประเทศนิยมบ่มในถังไม้โอ๊ก แต่เมืองไทยสามารถประยุกต์ใช้โอ่งมังกรและใช้ฝาถังน้ำพลาสติกได้ ซึ่งการคาดฝาโอ่งปิดปากจะต้องปิดให้แน่นหนา มีช่องหรือรูระบายให้ก๊าซออก แต่อากาศภายนอกเข้าไม่ได้เท่านั้น
ไวน์ทั่วไปจะมีความหวาน ประมาณ 9 บริกซ์ มีแอลกอฮอล์ 13% ทั้งนี้ การทำไวน์สามารถเพิ่มความหวานได้ สำหรับการทำไวน์เพื่อสุขภาพ ควรมีความหวาน ประมาณ 13 บริกซ์ มีแอลกอฮอล์ ประมาณ 9% เหมาะสำหรับสุภาพสตรี ผู้สูงอายุ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290 โทรศัพท์ 053-878-223, 053-498-179 โทรสาร 053-878-225 ทุกวันเวลาราชการ
เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560