“Rabbit Chan” มะปี๊ดแปรรูป จากพืชข้างครัวคนจันท์ สู่พืชเศรษฐกิจ ตั้งเป้าปี 66 ทำรายได้ 15 ล้านบาท

มะปี๊ด หรือ ส้มจี๊ด พืชครัวประจำท้องถิ่นของจันทบุรี มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และมีความเปรี้ยวไม่แพ้มะนาว ชาวจันท์จึงมักนำ “มะปี๊ด” มาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารแทนการใช้มะนาว เนื่องจากหาทานได้ง่าย หลายบ้านปลูกเป็นพืชข้างครัว ปัจจุบันกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้คนเมืองจันท์ไม่น้อย

คุณวรพชร วงษ์เจริญ หรือ คุณนุ่ม อยู่ที่บ้านโป่งแรด ตำบลพลับพลา อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ลูกหลานเกษตรกร ผู้ปั้นแบรนด์ แรบบิท จันท์ (Rabbit Chan) ดัน “มะปี๊ด” พืชประจำถิ่นของคนเมืองจันท์ สู่พืชเศรษฐกิจรองจากมังคุดและทุเรียน โดยปีที่ผ่านมาสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะปี๊ด กว่า 4 ล้านบาท ซึ่งภายในปี 66 นี้ ตั้งเป้าทำรายได้ต้องไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท เตรียมเดินหน้าส่งออกตลาดต่างประเทศ

คุณวรพชร วงษ์เจริญ หรือ คุณนุ่ม

คุณนุ่ม เล่าประวัติของมะปี๊ดให้ฟังว่า มะปี๊ด ถือเป็นพืชคู่ครัวเมืองจันท์มาไม่ต่ำกว่า 150 ปี มีปลูกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ โดยส่วนใหญ่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีจะปลูกมังคุดและทุเรียนเป็นพืชหลัก ส่วนมะปี๊ดมีปลูกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปลูกเอาไว้เป็นพืชข้างครัวสำหรับนำมาทำกับข้าว แทนการใช้มะนาว

มะปี๊ด พืชครัวประจำท้องถิ่นของจันทบุรี

“พี่ก็ได้ถามคุณย่า ที่ตอนนี้ท่านมีอายุกว่า 90 ปีแล้วว่า มะปี๊ดมีมานานแค่ไหน คุณย่าก็บอกว่า ตั้งแต่ตอนที่คุณย่ายังเด็กๆ ยายของเขาก็มีการนำเอามะปี๊ดมาทำกับข้าวแทนการใช้มะนาวแล้ว เช่น เอามาตำพริกเกลือ น้ำพริกกะปิ ต้มยำ แกงส้ม ก็จะใช้มะปี๊ดบีบเพิ่มความเปรี้ยว จึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าตอนนี้ย่าเราอายุ 90 ปี แล้วย้อนกลับไปรุ่นทวดของย่าอีก เลยคิดว่า มะปี๊ดมีมาเกิน 150 ปีแน่นอน”

จุดเริ่มต้นแบรนด์ “Rabbit Chan”
มะปี๊ดพืชข้างครัว สู่พืชเศรษฐกิจเมืองจันท์

คุณนุ่มลูกหลานเกษตรกรเมืองจันท์ อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ หันหลังให้งานประจำกลับมาเป็นเกษตรกรสานต่องานสวนของที่บ้าน โดยที่สวนจะปลูกทุเรียนและมังคุด เป็นพืชสร้างรายได้หลัก มะปี๊ดปลูกเป็นพืชแซมไว้ประมาณ 200 ต้น แต่เธอบอกสภาพแปลงปลูกของที่สวนจะไม่ได้เป็นสวนส้มสวยๆ อย่างที่ใครหลายคนจินตนาการ เพราะที่สวนจะปลูกทั้งพืชหลัก พืชสมุนไพร ไม้ป่า 5 ระดับ ส่วนมะปี๊ดจะปลูกแซมระหว่างทรงพุ่มของมังคุด ทุเรียน และบางส่วนแบ่งมาปลูกตามแนวทางเดิน

เตรียมเข้าสู่กระบวนการแปรรูป

ส่วนจุดเริ่มต้นที่เธอกลายมาเป็นหัวเรือสำคัญในการผลักดันสินค้าเกษตรแปรรูป และผู้ก่อตั้งแบรนด์ “Rabbit Chan” ได้อย่างไรที่นี่มีคำตอบ

โดยคุณนุ่มเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ตนเองลาออกจากงานประจำแล้วกลับมาช่วยที่บ้านทำร้านกาแฟ ซึ่งตอนนั้นน้ำมะปี๊ดยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก จะมีขายเฉพาะในท้องถิ่น ตามร้านก๋วยเตี๋ยว หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวในจันทบุรี ทีนี้พอตนเองได้มีโอกาสมาทำร้านกาแฟของที่บ้าน และจากที่มีความคุ้นเคยกับมะปี๊ดมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่จะมีรสชาติที่เปรี้ยว และตามด้วยความหวานของส้มอันเป็นเอกลักษณ์ จึงอยากพัฒนามะปี๊ดมาเป็นเมนูชูโรงประจำร้าน โดยเริ่มจากเมนูกาแฟมะปี๊ดก่อน จากนั้นตามด้วย ชามะปี๊ด อิตาเลี่ยนโซดามะปี๊ด แดงโซดามะปี๊ด และอีกสารพัดเมนูจากมะปี๊ดพร้อมกับมีการติดป้ายโปรโมตหน้าร้านว่า “เมนูต้องห้ามพลาด เปรี้ยวอมหวานส้ม เอกลักษณ์จันทบุรี” ก็ปรากฏว่าได้ผลตอบรับกลับมาค่อนข้างดี ประกอบกับสถานที่ตั้งของร้านอยู่ในทำเลที่ดี ตั้งอยู่กลางตลาดเจริญสุข ซึ่งเป็นตลาดต้องชมของจังหวัดอยู่แล้ว ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์น้ำมะปี๊ดผสมน้ำผึ้งพร้อมดื่ม “Rabbit Chan”

“มีลูกค้าหลายคนที่เคยมาซื้อแล้วติดใจ รวมถึงนักท่องเที่ยวหลายคนก็ถามหาซื้อเป็นของฝาก เลยเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียในการพัฒนามาเป็นน้ำมะปี๊ดบรรจุขวด มีตั้งแต่น้ำมะปี๊ดพาสเจอไรซ์มีอายุการเก็บรักษาได้ 2 อาทิตย์ จนไปถึงมะปี๊ดสเตอริไลซ์ที่มีอายุการเก็บรักษาได้นานเป็นปี โดยยังคงรสชาติเปรี้ยวอมหวานเป็นเอกลักษณ์ นักท่องเที่ยวหรือคนไกลสามารถซื้อกลับไปเป็นของฝากได้ ตรงนี้เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมมะปี๊ดจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตาของพี่และคนเมืองจันท์” คุณนุ่มเล่าถึงที่มาของผลิตภัณฑ์น้ำมะปี๊ด

จากนั้นเมื่อเริ่มมองเห็นโอกาสก็เริ่มมีการต่อยอด ใช้วิชาความรู้ทางด้านที่จบปริญญาโทวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ในการผลิตคอนเทนต์ต่างๆ จากมะปี๊ดอย่างสม่ำเสมอ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและทันสมัยอยู่ตลอด จนได้รับรางวัลการันตีมากมาย ถือเป็นสะพานต่อยอดทำให้แบรนด์ร้านกาแฟเจ้าดังอย่างกาแฟพันธุ์ไทยได้รู้จักสินค้าเรา พร้อมกับได้มีการนำเสนอกับทางกาแฟพันธุ์ไทยว่า มะปี๊ดสามารถนำไปชงเป็นเมนูเครื่องดื่มอะไรได้บ้าง นอกจากเป็นกาแฟมะปี๊ด ตรงนี้ทำให้ตลาดเราโตอย่างเห็นได้ชัด นำไปสู่การขยายพื้นที่ปลูก มีการรวบรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่เพียงพอสำหรับส่งให้กับร้านกาแฟพันธุ์ไทยที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟรายย่อย ที่ใช้ผลิตภัณฑ์มะปี๊ด แบรนด์ “Rabbit Chan” ของเรา จึงยิ่งตอกย้ำให้เรามั่นใจว่าต่อไป มะปี๊ดจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของเมืองจันท์ ที่เป็นพืชรองต่อจากมังคุดและทุเรียน

รวมกลุ่มสร้างตลาดเข้มแข็ง
สร้างรายได้สู่ชุมชน

เมื่อความต้องการของตลาดเริ่มมากขึ้น คุณนุ่ม บอกว่า ก็ต้องมีการรวบรวมสมาชิกเครือข่าย โดยปีนี้ตั้งเป้าผลผลิตจะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 50 ตัน ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกผู้ปลูกมะปี๊ดมากกว่า 100 คน  โดยมีทั้งเกษตรกรที่ปลูกเป็นระดับ 100-200 ต้น เกษตรกรที่ปลูกแซมในสวนไม้ผล รวมไปถึงพื้นที่ปลูกใหม่เนื่องจากหลายคนมองเห็นแล้วว่า การทำสวนมังคุดหรือทุเรียนจะเก็บผลผลิตได้เพียงปีละครั้ง แต่ว่าการปลูกมะปี๊ดสามารถเก็บผลผลิตขายสร้างรายได้ตลอดทั้งปี เพราะแบรนด์ Rabbit Chan ที่มีสัญลักษณ์กระต่ายหมายจันท์ ก็เป็นสิ่งพิสูจน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรได้ว่า เมื่อเขาปลูกแล้ว เขาจะมีตลาดรองรับแน่นอน

อบรมความรู้ให้กับเครือข่ายสมาชิกประจำเดือน

“สมาชิกเครือข่ายของเราเริ่มต้นหามาจากลูกศิษย์ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด ที่คุณพ่อของพี่เป็นผู้ก่อตั้งมาประมาณกว่า 20 ปีแล้ว นอกจากนี้ ก็มีการรวบรวมผลผลิตจากญาติ จากคนรู้จัก จนมาถึงปีนี้เราเปิดรับบุคคลทั่วไปที่สนใจจะเอามะปี๊ดมารวมเครือข่ายกัน แล้วสิ่งที่เราคุยกันคือเราจะไปด้วยกันอย่างยั่งยืน คนปลูกไม่ต้องกลัวว่าปลูกแล้วไม่มีที่ขาย แต่เราก็ต้องหันกลับมาบอกกับคนปลูกว่าถ้าเราขยายตลาดเพื่อรองรับการปลูกแล้ว ทางผู้ปลูกเองก็ต้องรักษาคุณภาพให้เราด้วย ตรงนี้เราก็จะมีการประชุมกันทุกเดือน เพื่อพูดคุยถึงเรื่องของผลผลิต เราจะผลิตได้ที่ปริมาณเท่าไหร่ แล้วสวนใครติดขัดปัญหาตรงไหน การรวมกลุ่มของเราจะไม่ใช่การรวมกลุ่มเพื่อซื้อขายอย่างเดียว แต่เรารวมกลุ่มเพื่อให้ทุกคนเดินไปด้วยกันได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพียงแต่นุ่มเป็นผู้นำที่จะพา มะปี๊ดที่เป็นพืชที่คนจันท์มองเห็นว่าธรรมดามาก ไปขายใครไม่ได้ เราปรับไปให้คนต่างจังหวัดที่มาเที่ยว แล้วเขาโหยหารสชาตินี้ของเราได้ทานน้ำมะปี๊ดได้ มันก็เลยเป็นพืชเศรษฐกิจขึ้นมา”

กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายนำผลผลิตมาส่ง

โดยจะมีการประกันราคารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเครือข่าย ราคาอยู่ในระหว่าง 30-40 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับสมัยก่อนแล้วมะปี๊ดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท และเคยถูกสุดไปถึงกิโลกรัมละ 3 บาท แต่พอรวมกลุ่มราคาอยู่ในมาตรฐานที่เกษตรกรรับได้ สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี และผลผลิตจะออกเยอะที่สุดในช่วงฤดูฝน คล้ายกับมะนาว คือถ้าหากเป็นช่วงหน้าแล้งผลผลิตจะออกน้อย ตรงนี้ก็จะมีการแนะเทคนิคให้เกษตรกรจัดการระบบน้ำ เพื่อให้ผลผลิตออกนอกฤดูกาลได้ด้วย

ผลิตภัณฑ์มะปี๊ดแปรรูป
ภายใต้แบรนด์
Rabbit Chan

สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะปี๊ด Rabbit Chan คุณนุ่ม บอกว่า Rabbit Chan มีผลิตภัณฑ์เด่นอยู่หลายตัวด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1. น้ำมะปี๊ดเข้มข้น สำหรับการนำไปมิกซ์กับกาแฟหรือชา โดยที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเพิ่ม ในสัดส่วนการชง 1 : 4 คือสัดส่วนน้ำมะปี๊ดเข้มข้น 30 มิลลิลิตรต่อกาแฟอเมริกาโน่ 120 มิลลิลิตร ก็จะได้ออกมาเป็นเมนูอเมริกาโน่มะปี๊ด 2. น้ำมะปี๊ดพร้อมดื่ม จะเลือกใช้เฉพาะส้มมะปี๊ดระยะพองเต็มที่ เปลือกมีสีเขียวใสแต้มเหลือง นำมาคั้นสดด้วยเครื่องที่สั่งทำพิเศษ เพื่อให้ได้รสชาติที่ไม่ขมเปลือก แล้วนำไปผ่านกระบวนการสเตอริไลซ์ ได้ออกมาเป็นน้ำมะปี๊ดบรรจุขวด ที่มีอายุการเก็บรักษาได้ยาวนานถึง 1 ปี  3. เครื่องสำอางจากสารสกัดส้มมะปี๊ด ซึ่ง Rabbit Chan เป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่เริ่มเอามะปี๊ดไปทำสารสกัด เพื่อนำมาทำเป็นเครื่องสำอาง สบู่ เซรั่ม สลีปปิ้งมาร์ก สเปรย์แอนตี้แบคทีเรีย เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์น้ำมะปี๊ดชนิดเข้มข้น “Rabbit Chan”

ทางด้านของการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยจุดเด่นของมะปี๊ดเมืองจันท์ โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ตีพิมพ์ในปี 58 มีงานวิจัยว่า ส้มมะปี๊ดมีวิตามินซีมากกว่ามะนาว 10 เปอร์เซ็นต์ และนอกจากนี้ หากเป็นมะปี๊ดเมืองจันท์จะมีลักษณะเด่นเปลือกบาง น้ำเยอะ น้ำออกเป็นสีเหลือง รสชาติเปรี้ยวอมหวานส้ม และส่งผลดีต่อการนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 3-5 เท่า โดยราคาของผลิตภัณฑ์มะปี๊ดเข้มข้นขนาด 750 มิลลิลิตร ราคาขายปลีก ขวดละ 930 บาท ราคาขายส่ง ขวดละ 300 บาท และในส่วนของน้ำมะปี๊ดแปรรูปพร้อมดื่ม ขนาด 260 มิลลิตร ราคา 60 บาท และขนาด 750 มิลลิลิตร 125 บาท

เครื่องดื่มหลากหลายเมนูจาก “มะปี๊ด”

ตลาดในประเทศเติบโตทุกปี
ปี 66 ตั้งเป้าส่งออก 10 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มะปี๊ดแปรรูป Rabbit Chan มีตลาดในประเทศรองรับที่สำคัญหลายที่หลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ 1. ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 2. ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัล 3. ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โรบินสัน 4. เลมอนฟาร์ม 5. โกลเด้น เพลซ 6. เบลลินี่ เบค แอนด์ บรู 7. คิง เพาเวอร์ และ 8. ร้านขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงคาเฟ่ ร้านอาหาร อีกหลายร้าน

ซึ่งเมื่อถามว่าคุณนุ่มมีเทคนิคการหาตลาดยังไง ถึงทำให้ผลิตภัณฑ์มะปี๊ดแปรรูป เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากมายขนาดนี้ คุณนุ่ม อธิบายเพิ่มเติมว่า เทคนิคคือการวางกลยุทธ์การทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง แล้วปั้น SEO ช่วยเพิ่ม Traffic เป็นการนำความรู้ที่เรียนจบปริญญาโทมาต่อยอด

“เพราะเรารู้ว่าคนสมัยนี้มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป คือเขาไม่ได้เปิดหนังสือท่องเที่ยวแล้วนะ แต่เขาค้นหาข้อมูลจากกูเกิล เราก็ใช้ข้อมูลตรงนี้มาสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ถ้าหากใครค้นหาคำว่ามะปี๊ด ก็จะเจอของเราอยู่ในหน้าแรกของกูเกิล แต่เรื่องราวทุกอย่างที่เรานำมาทำคอนเทนต์ มันคือข้อมูลจริงของเรา เพราะว่านุ่มเริ่มจากที่บ้านคุณพ่อเปิดศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เราเป็นลูกหลานเกษตรกร เรามีสวน เรามีเครือข่ายเกษตรกร เรามีโรงงาน แล้วเราก็ผ่านการแปรรูป รวมถึงการออกอีเวนต์ หรือการได้รับรางวัลอะไรมา เราก็จะเอาเรื่องจริงของเรามาเขียนเป็นคอนเทนต์ พร้อมกับมีการวางแผนว่าในแต่ละสัปดาห์เราจะลงคอนเทนต์อะไรบ้าง ซึ่งในช่วงแรก ต้องมีวินัยมากเพื่อให้คนเชื่อมั่นว่าเราคือตัวจริงในเรื่องของมะปี๊ด อย่างปีนี้ที่เราทำงานต่อ คือเราพัฒนาต่อไปในเรื่องของตลาดต่างประเทศ เราก็มีไปงาน THAIFEX เป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านอาหารแห่งปีเราก็จัดตั้งทีมเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา ก็จะมีน้องในทีมที่เป็นลูกครึ่ง สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ สำหรับทำตลาดต่างประเทศ แล้วก็มีน้องอีกคนที่สามารถพูดภาษาจีน คุยกับลูกค้าจีนได้ มาประกอบร่าง เพื่อที่จะได้ต่อยอดการส่งออกนั่นเอง”

ออกงาน Thaifex 2023

โดยที่แล้วทางกลุ่มสามารถสร้างรายได้จากการแปรรูปมะปี๊ดเป็นเงิน 4 ล้านกว่าบาท นับเป็นรายได้ที่พึงพอใจ เพราะหากย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มทำเรามีรายได้หลักแสน จากนั้นมีการไต่ระดับรายได้ขึ้นมาเป็น 1.5 ล้าน จนมาถึงปัจจุบันกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้เกษตรกรเรามีมากขึ้น จึงตั้งเป้าหมายรายได้ไว้อย่างต่ำต้องให้ได้ 15 ล้านบาท ภายในปี 66 แบ่งเป็นส่วนรายได้ของเกษตรกรอย่างต่ำ 25 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของวัตถุดิบ และตั้งเป้าการส่งออกไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับทดลองตลาดและในอนาคตเดินหน้าส่งออกทั่วโลกเพราะมองเห็นแล้วว่ามะปี๊ดของเราสามารถไปต่อในระดับโลกได้

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
ทะยานสู่รายได้หลักล้าน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มะปี๊ดถือเป็นพืชคู่ครัวคนจันท์มาช้านาน จนหลายคนมองข้ามประโยชน์และการสร้างรายได้จากตรงนี้ จนวันนี้มีคนมองเห็นโอกาสจับเอาพืชท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างมูลค่าได้หลักล้าน คุณนุ่ม บอกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มะปี๊ดแปรรูปมาไกลขนาดนี้เกิดขึ้นจาก 4 เหตุผลหลักๆ ดังนี้

  1. ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมะปี๊ด ทางด้านรสชาติ เปรี้ยว สดชื่น แปลกใหม่
  2. ความมุ่งมั่นในเรื่องของคุณภาพและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า
  3. มีการตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ทุกปี และในทุกๆ เดือน จะมีการทบทวนเป้าหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนหาวิธีการทำเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
  4. ตั้งปณิธานไว้เสมอว่า “เราไม่ใช่แค่คนเดียวที่ปลูก แล้วก็ไม่ใช่ธุรกิจเดียวที่ขาย แต่เรามีเครือข่ายเกษตรกรที่เข้มแข็งแล้วพร้อมที่จะเติบโตไปด้วยกัน เรามองว่าธุรกิจ Rabbit Chan ของเราคือธุรกิจเกื้อกูลสังคม และชุมชน ไม่ใช่ว่าเราจะไปคนเดียว” คุณนุ่ม กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 089-092-7999 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : Rabbit Chan : แรบบิทจันท์ ส้มมะปี๊ด Organic Farm Mapeed, Calammansi

สบู่มะปี๊ด อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่ภาคภูมิใจ
ทรงผลกลมคล้ายมะนาว เปลือกเขียวแต้มเหลือง
น้ำมะปี๊ดผสมน้ำผึ้งชนิดเข้มข้น “Rabbit Chan”