ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กล้วยหอมทอง พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ด้วยรสชาติที่อร่อย กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้กล้วยหอมไทยครองใจชาวญี่ปุ่นได้ไม่ยาก รวมถึงความต้องการภายในประเทศก็มีไม่แพ้กัน เนื่องจากกล้วยหอมเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายควรได้รับ จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค รวมไปถึงเรื่องศาสนาและความเชื่อ กล้วยหอมก็เป็นอีกหนึ่งผลไม้มงคลที่ต้องใช้ในการไหว้เจ้าที่เช่นกัน โดยมีความหมายถึง ความมั่งคั่ง ร่ำรวย การมีบริวารเยอะแยะ ใครที่จัดของไหว้เจ้าที่ด้วยกล้วยหอมจึงมักจะมีความร่ำรวยเงินทอง มีเงินเข้ามาอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นหากท่านใดสนใจปลูกกล้วยหอมทองสร้างรายได้ก็ยังน่าสนใจ แต่ต้องศึกษาวิธีการปลูกการดูแลให้ดีอีกเช่นกัน เพราะกล้วยหอมทองเป็นพืชที่ได้รับฉายาว่า “ปลูกง่าย แต่ดูแลยาก” นั่นเอง
คุณศศิธร พันธ์มุง หรือ คุณติ๋ว เจ้าของสวน T.N banana อยู่ที่ ตำบลกุดจับ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี อดีตสาวโรงงานในเมืองกรุง ลาออกจากงานมาเป็นเกษตรกร ปลูกกล้วยหอมทองเน้นคุณภาพส่งห้าง หวีใหญ่ ผิวสวย เนื้อแน่นอร่อย กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ฟันรายได้ครึ่งล้านต่อปี
คุณติ๋ว เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำเกษตร ตนเองก็ทำงานประจำเป็นสาวโรงงานทั่วไปในเมืองหลวง เริ่มต้นทำงานตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นการเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย ทำมาเป็น 10 ปี จนกระทั่งในปี 2556 ได้ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับมาดูแลพ่อที่ป่วย และได้กลับมาสานต่องานเกษตรที่พ่อแม่ทำไว้ ทั้งกรีดยาง ปลูกมันสำปะหลัง และปลูกอ้อย เมื่อทำได้สักระยะก็เริ่มมีการคิดต่อยอดอยากหาพืชพรรณผลไม้ชนิดอื่นๆ มาปลูกนอกเหนือจากการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และการทำสวนยาง โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องเป็นพืชที่ในพื้นที่ยังไม่มีคนปลูก หรือคนยังปลูกน้อย พี่ชายจึงแนะนำให้ทดลองปลูกกล้วยหอมทอง ก็เริ่มเกิดความสนใจด้วยหนึ่งกล้วยหอมทองเป็นพืชที่คนในพื้นที่ยังไม่มีคนปลูก สองใช้พื้นที่ปลูกน้อย และสามเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการอยู่ตลอด จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูลการปลูก พร้อมกับการเข้าไปศึกษาดูงานที่อำเภอใกล้เคียง
จากนั้นกลับมาเริ่มปลูกกล้วยหอมทองครั้งแรกในปี 2560 ซึ่งในช่วงปีแรกที่เริ่มต้นปลูกก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะประสบการณ์ยังน้อย พอเจอกับอุปสรรคทั้งโรคแมลงและภัยธรรมชาติ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องแก้อย่างไร ประกอบกับที่ไม่มีการวางแผนจัดการพื้นที่ปลูกว่าควรปลูกในจำนวนเท่าไหร่ การปลูกในปีแรกจึงล้มเหลว
แต่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้ยอมแพ้ ในทางกลับกันความล้มเหลวตรงนี้ยิ่งทำให้อยากแก้ไขปัญหา และจุดบกพร่องที่ผ่านมา “ตอนนั้นเจอโรค เจอแมลงเราไม่รู้จะทำยังไง แต่ตอนนี้เราก็แก้ปัญหาได้ มันก็เริ่มดีขึ้น พอมาปีที่สองก็เริ่มจับทางได้ เริ่มมีการวางแผนจัดสรรพื้นที่ปลูกเป็นครอป แทนการปลูกพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว มีการพัฒนาวิธีการปลูกมาเรื่อยๆ จนเข้าสู่ปีที่ 3 ผลผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ส่งขายห้างได้สำเร็จ”
ปลูกกล้วยหอมทอง ให้หวีใหญ่ ผิวสวย
น้ำอย่าให้ขาด การดูแลบำรุงต้องทั่วถึง
ในส่วนของเทคนิคการปลูกกล้วยหอมทองให้เป็นที่ต้องการของตลาด คุณติ๋ว อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการปลูกกล้วยหอมทองคือน้ำ รองลงมาคือการใส่ใจดูแลบำรุงธาตุอาหารอย่าให้ขาด หากสวนไหนมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอจะไม่แนะนำให้ปลูก เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า “กล้วยหอมเป็นพืชที่ปลูกง่าย แต่ดูแลยาก” ของที่สวนเองก็ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานเป็นปี กว่าจะเริ่มจับทางถูก
“เมื่อก่อนพี่มีพื้นที่ 5 ไร่ พี่ก็ปลูกกล้วยทั้งหมดเลย 5 ไร่ รวมๆ ประมาณ 2,000 ต้น ถือเป็นจำนวนที่เยอะมากสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ปลูกอย่างพี่ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพี่ถึงล้มเหลว แต่มาตอนนี้พี่มีประสบการณ์แล้วทุกอย่างดีขึ้น พยายามเรียนรู้และแก้ไขปัญหา จนสามารถผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพได้ และพี่ไม่อยากให้ใครมาเจ็บเหมือนพี่ จึงอาศัยเวลามีเกษตรกรมือใหม่เข้ามาศึกษาดูงานที่สวน ก็จะแนะนำตลอดว่า ถ้าไม่เคยทำก็อย่าทำเยอะ เริ่มปลูกจาก 1 ไร่ก่อน เพื่อเรียนรู้เทคนิค และการแก้ไขปัญหา จะได้ไม่ต้องเจ็บตัว จากนั้นเมื่อมีประสบการณ์แล้วจึงค่อยขยายพื้นที่ก็ยังไม่สายเกินไป”
ปัจจุบันที่สวนจะปลูกกล้วยแบบหมุนเวียนบนพื้นที่ 12 ไร่ แบ่งปลูกครอปละ 3 ไร่ 2 เดือนปลูกครั้ง หรือในบางครั้งที่เกิดปัญหาเรื่องการสภาพอากาศไม่เป็นใจ หรือมีโรคแมลงรบกวนเยอะก็จะเว้นการปลูกไปก่อน หลักๆ จะเน้นการปลูกตามความสะดวกของเจ้าของสวน ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 2×2 เมตร 1 ไร่ปลูกได้ 400 ต้น
การเตรียมดิน เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่ส่วนค่อนข้างแห้งแล้ง ดินไม่อุดมสมบูรณ์ การเตรียมดินก่อนปลูกจึงต้องเตรียมดินโดยการไถดะตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นไถพรวนครั้งที่ 1 เว้นไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วทำการไถพรวนดินอีกครั้ง เท่ากับว่าต้องไถพรวนดินให้ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง แล้วถ้าจะใส่ปุ๋ยคอกก็สามารถใส่พร้อมขั้นตอนการไถพรวนได้เลย ถือเป็นการปรุงดิน พร้อมกับใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์ แต่ถ้าใครไม่สะดวกใส่ปุ๋ยคอก โรยปูนขาวในขั้นตอนการไถเตรียมดินก็สามารถใส่ปุ๋ยคอก พร้อมกับโรยปูนขาว หรือโดโลไมท์ รองก้นหลุมก่อนปลูกก็ได้เช่นกัน
ระบบน้ำ หลังจากการเตรียมดินเสร็จต้องมีการวางระบบน้ำ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการปลูกกล้วยในพื้นที่แห้งแล้ง หรือในบางพื้นที่ที่มีแหล่งทรัพยากรน้ำจำกัด เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอไปจนถึงวันเก็บเกี่ยว เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีบ่อบาดาลไว้น้ำ หรือถ้าสวนไหนมีแหล่งน้ำชลประทาน หรือลำห้วยที่ใช้ไม่เคยหมดก็ยิ่งดี
โดยการปลูกกล้วยหอมทองของที่สวนจะให้ความสำคัญกับระบบน้ำเป็นอย่างมาก จึงเลือกติดตั้งระบบน้ำทั้ง 3 ระบบ ไว้สำหรับเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง ดังนี้
- ระบบเทปน้ำพุ่ง เป็นระบบน้ำที่ติดตั้งง่าย ประหยัดน้ำ ใช้ได้ดีในหน้าแล้ง ให้น้ำได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าระบบน้ำหยด โดยที่สวนจะเดินระบบวางเทปแบบแถวเว้นแถว และเทป 1 เส้น ควรวางไม่เกิน 50 เมตร เพื่อให้น้ำออกเท่ากันตลอดสาย และป้องกันสายแตก ง่ายต่อการจัดการภายในสวน เนื่องจากที่สวนเราไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าในการกำจัดวัชพืช
- ระบบเทปน้ำหยด เป็นการให้น้ำในปริมาณน้อยเฉพาะจุด โดยในหนึ่งแถวกล้วยจะใช้สองเส้นคู่ เหมาะสำหรับสวนที่ใช้ปั๊มซัมเมอร์สโซลาร์เซลล์ คือสามารถเปิดทิ้งไว้เป็นเวลานานได้ และลักษณะดินระบายน้ำได้ค่อนข้างดี
- ระบบน้ำสปริงเกลอร์ เป็นระบบการบีบอัดฉีด ใช้แล้วได้ผลดี น้ำหมุนได้รอบทิศ ช่วยกระจายน้ำได้เป็นวงกว้าง ประหยัดเวลา โดยการวางระบบท่อเหมือนระบบเทปน้ำหยด แต่จะต้องระวังช่วงที่ตัดหญ้า ที่ในบางครั้งตัดไปโดนท่อจนเกิดความเสียหาย หรือหัวสปริงเกลอร์พังบ้าง ก็ต้องมีค่าบำรุงรักษาเพิ่มเข้ามา
การปลูก หลังจากวางระบบน้ำเสร็จ ขุดหลุมกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร นำหน่อกล้วยลงปลูก กลบดินให้ท่วมเหง้า โดยแนะนำให้เลือกหน่อสดมาปลูก ช่วยการเจริญเติบโตได้ดี
การบำรุงใส่ปุ๋ย ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวที่สวนจะใส่ปุ๋ยประมาณ 7 ครั้ง เนื่องจากสภาพพื้นดินขาดความอุดมสมบูรณ์ถ้าบำรุงธาตุอาหารไม่ถึง จะส่งผลไปถึงการเจริญเติบโต และคุณภาพของผลผลิต หรือยิ่งถ้าหากสวนไหนมีเวลาก็แนะนำให้ใส่ปุ๋ย 15-20 วันใส่ปุ๋ยครั้ง เน้นใส่ปริมาณน้อยๆ แต่ใส่บ่อยๆ เพราะพืชจะได้กินธาตุอาหารอยู่ตลอด แต่ที่สวนมีเวลาไม่มาก หลังจากลงปลูกได้ 1 เดือน เริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรก ใช้สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0 อัตราส่วน 1 กระสอบต่อ 1 ไร่
เดือนที่ 2 ก็ยังคงใส่สูตรเดิม และปริมาณเท่าเดิม หรือถ้าบางสวนต้องการประหยัดต้นทุนสามารถใส่ปุ๋ยคอกก่อนได้ในช่วง 1-2 เดือนแรก
เดือนที่ 3-4 เปลี่ยนสูตรปุ๋ย บำรุงด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราส่วน 1 กระสอบต่อ 1 ไร่
เดือนที่ 5-6 เป็นช่วงเร่งการเจริญเติบโต และเพิ่มความหวานให้ผลไม้ จะบำรุงด้วยปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตราส่วน 1 กระสอบต่อ 1 ไร่
เดือนที่ 7 บำรุงด้วยปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อเพิ่มความหวานในรอบสุดท้าย
การค้ำยัน หากมีการจัดการดูแลดีๆ กล้วยจะเริ่มออกปลีในเดือนที่ 6 ก็ให้เริ่มค้ำยันโดยใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่นๆ ที่มีง่าม เนื่องจากกล้วยหอมมีจำนวนหวีที่มากและผลใหญ่ หากไม่ค้ำไว้ต้นอาจล้มทำให้เครือหัก ผลผลิตเกิดความเสียหายได้
การห่อถุง เนื่องจากที่สวนปลูกกล้วยเน้นคุณภาพส่งห้าง นอกจากต้องทำกล้วยให้ได้หวีใหญ่แล้ว สีผิวเปลือกของกล้วยก็ต้องเนียนสวยด้วย ดังนั้น หลังจากที่ที่ตัดปลีกล้วยแล้วประมาณ 1 อาทิตย์ ให้ใช้ถุงพลาสติกสีฟ้ามาห่อเครือกล้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผลผลิตออกมาได้คุณภาพ ผิวสวยแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อราในกล้วย และป้องกันสารเคมีที่ปลิวมาจากบริเวณใกล้เคียง
การป้องกันกำจัดโรคแมลง เน้นการจัดการสวนกำจัดวัชพืชให้สะอาดอยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง และมีการตัดแต่งใบกล้วยอยู่เรื่อยๆ เลือกตักจากใบล่าง โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละต้นควรไว้ใบไม่เกิน 10-14 ใบ เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ลดการเกิดเชื้อราในกล้วยได้
ปริมาณผลผลิต เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ตันต่อไร่ หรือถ้าหากช่วงไหนสภาพอากาศเป็นใจ ผลผลิตออกมาสมบูรณ์เต็มที่จะได้ประมาณ 8 ตันต่อไร่ กล้วย 1 เครือ มี 5-7 หวี 1 หวี มีประมาณ 16-20 ลูก คิดเป็นรายได้ต่อปีหลังจากหักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรอยู่ที่ 40,000-50,000 บาทต่อไร่
“กล้วยหอมทอง” พืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
ผลิตให้ได้คุณภาพ ตลาดไปได้อีกไกล
คุณติ๋ว บอกว่า การปลูกกล้วยหอมทองเป็นอาชีพที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ด้วยปริมาณความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีอยู่ตลอด ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างพอใจกับการปลูกกล้วยหอมทองเป็นอาชีพ และจะยังคงทำต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าในบางครั้งอาจจะมีช่วงที่ล้นตลาด และมีช่วงที่ขาดตลาดบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่กล้วยหอมทองก็ไม่เคยหายไปไหน
โดยกล้วยของที่สวนได้การรับรองมาตรฐาน GAP สินค้าเกษตรปลอดภัย ด้วยมาตรฐานที่เรามีทำให้กล้วยหอมของที่สวนสามารถทำส่งขายให้ห้างสรรพสินค้าแม็คโครได้เป็นหลักตอนนี้ โดยจะเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ปริมาณครั้งละ 200-300 หวี หรือถ้าหากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากจะเพิ่มการส่งเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 200 หวี ราคาขึ้นอยู่กับกลไกการตลาด
ส่วนผลผลิตที่เหลือจากการคัดส่งห้าง เป็นกล้วยหวีเล็กลงมาหน่อย จะนำมาบ่มขายเอง มีหน้าร้านอยู่ในตัวอำเภอกุดจับ และนำมาแปรรูปทำกล้วยตากขายในช่องทางออนไลน์อีกด้วย แต่ก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะปีแรกไม่มีตลาดรับซื้อ…แต่ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ
“เมื่อพูดถึงการหาตลาดในช่วงปีแรกที่ปลูก อันนี้พี่ขอดราม่าเลย เพราะปีแรกยังไม่มีประสบการณ์ ลงทุนไป 200,000 บาท ขายผลผลิตกลับมาได้ 80,000 บาท เพราะผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ไปขายให้เจ้าไหนเขาก็ไม่รับ แต่พอเข้าสู่ปีที่ 2 เริ่มมีประสบการณ์แก้ไขปัญหาโรคแมลงได้ ผลผลิตออกมาสวย เราก็เริ่มทำส่งโรงแพ็กที่ทำส่งให้เซเว่น แล้วมาปีที่ 3 ผลผลิตเราก็ได้คุณภาพ ทำส่งห้างได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็สอนให้เรารู้ว่าบางครั้งความล้มเหลวก็ไม่เลวร้ายเสมอไป เพราะความล้มเหลวนี่แหละสอนให้เรามีกระบวนการคิดมากขึ้น เมื่อก่อนเราทำงานประจำ เราไม่ได้คิดอะไรมาก คือเราทำงานตามหน้าที่ แต่พอเรามาทำสวนของเราเอง มันต้องขยันมากขึ้น ต้องมีกระบวนการคิดมากขึ้น วางแผนให้รัดกุม และมีแผนสำรองอยู่เสมอ เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาเราจะได้แก้ไขได้ทัน แล้วพอเราคิดแก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็เกิดเป็นความภูมิใจว่าเราทำได้ และทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย”
ทำเกษตรให้มีความสุข
ความหมายของการทำเกษตรให้มีความสุขคืออะไร เป็นคำถามที่ผู้เขียนถามกับคุณติ๋ว และได้คำตอบที่น่าประทับใจจากคุณติ๋วว่า…
“เมื่อก่อนไม่เข้าใจนะว่าการทำเกษตรจะทำให้เรามีความสุขได้ยังไง แล้วเพิ่งจะมาเข้าใจก็เมื่อตอนที่เราปลูกกล้วยแล้ว กล้วยของเราโต เราได้ผลผลิต แล้วรู้สึกว่าทำไมเรามีความสุข เราเดินเข้าสวนเห็นผลผลิตออกมาสวยงามแล้วเรายิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้เข้าใจแล้วว่าทำงานเกษตรให้มีความสุขมันเป็นยังไง เพราะแต่ก่อนเราไม่ได้คิดว่าการทำเกษตรจะมีความสุข จนเรามาทำแล้วได้รู้ว่าความสุขจากการทำเกษตรมันเป็นแบบนี้นี่เอง” คุณติ๋ว กล่าวทิ้งท้าย
สนใจศึกษาดูงานการปลูกกล้วยหอมทองคุณภาพ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไดที่เบอร์โทร. 095-187-0555 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : กล้วยหอมทอง T.N. บานาน่า ฟาร์ม
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567