“ชันโรง” แมลงเศรษฐกิจทำเงิน ดูแลจัดการง่าย ผลกำไรสูง 70 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน “ชันโรง” หรือผึ้งจิ๋ว นับเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง เนื่องจากดูแลจัดการง่าย แถมให้ผลตอบแทนสูง ชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรคล้ายผึ้ง ช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังมีผลพลอยอีกมากมาย เช่น การขายตัวอ่อนนางพญาผึ้งชันโรง การขายน้ำผึ้งชันโรง ยางไม้ (ชัน) หรือ พรอพโพลิส (Propolis) ที่อุดมด้วยคุณค่าโภชนาการ สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามได้หลายชนิด อาทิ สบู่ หรือโลชั่น ฯลฯ

น้ำผึ้งชันโรงไม่ได้เป็นแค่อาหาร แต่มีสรรพคุณทางยา ถือเป็นยาอายุวัฒนะ เพราะชันโรงมีพฤติกรรมเก็บน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรของพืชที่มีคุณสมบัติทางยามาใช้เป็นอาหารเช่นเดียวกับผึ้ง ชันโรงดูดน้ำหวานดอกไม้ 20 เปอร์เซ็นต์ และเก็บเกสรดอกไม้ 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผึ้งทั่วไปมักดูดน้ำหวานจากดอกไม้ 80 เปอร์เซ็นต์ และเก็บเกสรดอกไม้ 20 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน น้ำผึ้งชันโรงขายได้ราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีส่วนประกอบของสารฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันและยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล และช่วยบำรุงสมอง

ถ้วยอาหาร สีน้ำตาลเข้มเก็บน้ำผึ้ง สีน้ำตาลสว่างเก็บเกสร

อยากรู้เรื่อง “ชันโรง”

ต้องมาที่ “Bee Park”

ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร มจธ.ราชบุรี “Bee Park” ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ที่นี่ศึกษาเรื่องการเลี้ยง ผึ้งพื้นเมือง ชันโรง และแมลงผสมเกสรกว่า 16 ปีแล้วโดยเน้นศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากผึ้งพื้นเมืองเอเชีย การประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน อาจารย์แอ๊ว หรือ รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมือง และแมลงผสมเกสร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ราชบุรี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผึ้งและภาษาผึ้งคนแรกของไทย ล่าสุด ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติ “Regional President of Asia” ของสภาบริหารของสมาคมผึ้งโลก

ถ้วยตัวอ่อน สีเข้มอ่อนตามอายุของมัน

อาจารย์แอ๊ว กล่าวว่า สำหรับการเลี้ยงชันโรง ทางศูนย์มุ่งศึกษาวิจัยเรื่องชันโรง ตั้งแต่พฤติกรรมและความหลากหลายของชันโรง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากชันโรงเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างน้ำผึ้งมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจำหน่ายผ่านแบรนด์ “BEESANC” ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตน้ำผึ้งของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากทั่วประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ทางศูนย์ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเลี้ยงชันโรง ตั้งแต่ชนิดของชันโรงในประเทศไทย การคัดเลือกชนิดชันโรง รูปแบบการเลี้ยง การปลูกพืชอาหารชันโรง การออกแบบสวน ขั้นตอนการเก็บ การแยกขยายกล่อง ไปจนถึงกระบวนการผลิตน้ำผึ้งแบบธรรมชาติเพื่อให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพที่ดีที่สุดในเวลาที่ดีที่สุด การวิเคราะห์คุณสมบัติอาหารฟังก์ชั่นของน้ำผึ้ง จนถึงการทำตลาด มีบริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงชันโรงและผึ้งสู่กลุ่มเกษตรกรและประชาชนที่สนใจ เพื่อพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและผึ้งพื้นเมืองอย่างยั่งยืน

อาจารย์แอ๊ว หรือ รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมือง และแมลงผสมเกสร มจธ.ราชบุรี

ที่ผ่านมา ทางศูนย์วิจัยฯ ได้สร้างโมเดลการเลี้ยงผึ้ง BEESANC มีความหมายว่า “สวรรค์ของผึ้ง” สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผึ้ง ทั้งในแง่ความปลอดภัยจากสารเคมี การปลูกพืชอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง และการปลูกพืชสมุนไพรชนิดพิเศษ ที่เพิ่มคุณค่าทางสุขภาพให้กับน้ำผึ้งที่ผลิตได้ และก่อตั้งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในนามบริษัท BEESANC รับซื้อน้ำผึ้งชันโรงในราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท จำหน่ายในแบรนด์ BEESANC เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่น้ำผึ้งไทย เป็นกลไกในการพัฒนาน้ำผึ้งมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เน้นเจาะกลุ่มตลาด Hi-End ที่ต้องการสินค้า น้ำผึ้งออร์กานิกแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านการรับรองจากศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร ของ มจธ.

พรอพอลิส (Propolis) สีเข้ม เป็นยางไม้ที่ชันโรงไปเก็บมาจากต้นไม้

เลี้ยงชันโรงตัวเล็ก

ชันโรงพบการแพร่กระจายในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ทั้งนี้ ทั่วโลกมีชันโรงมากกว่า 400 ชนิด ในประเทศไทยค้นพบชันโรงพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 34-35 ชนิด แต่ละชนิดพบมีการกระจายตัวอยู่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และระดับความสูงของพื้นที่อาศัยจากระดับน้ำทะเล

โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมเลี้ยงชันโรงตัวเล็ก กลุ่ม Tetragonula ในลังและให้ผลผลิตที่ดี ได้แก่ ชันโรงขนเงิน (Tetragonula pegdeni) ชันโรงถ้วยดำ (Tetragonula laeviceps) ชันโรงปากแตรสั้น (Lepidotrigona terminata) และชันโรงปากแตรยาว (Lepidotrigona ventralis) ซึ่งเหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ราบโดยทั่วไป ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ เขตภูเขาสูงที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศามากกว่า 1 เดือนต่อปี ควรเลี้ยง ชันโรงปากแตรใหญ่ Lepidotrigona terminata) ส่วนพื้นที่ภาคใต้ นิยมเลี้ยง ชันโรงอิตาม่า (Heterotrigona itama)

มุมขวาบนของรัง เป็นกลุ่มไข่และตัวอ่อน

พืชอาหารที่ชันโรงชอบ

หากใครอยากเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริม สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ปลูกพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้ที่ปลูกดูแลแบบเกษตรอินทรีย์ หรืออยู่ใกล้ป่าธรรมชาติ ที่มีต้นไม้นานาชนิดให้เป็นแหล่งอาหารของชันโรง ทั้งนี้ จากการศึกษาของศูนย์วิจัยฯ พบว่า พืชอาหารที่ถูกใจชันโรง ถือเป็นอาหารเกรด เอ ที่มีคุณค่าทางยามากที่สุดคือ “ดอกดาวกระจาย” เพราะมีสรรพคุณทางยาสูง โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านการอักเสบสูงถึง 97-98 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ “ดอกเสี้ยวป่า” ซึ่งมีสรรพคุณทางยา ให้สารต้านการอักเสบสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์

ดอกไม้ อาหารของชันโรง

ต้นรักแรกพบ ก็เหมาะสำหรับปลูกเป็นแหล่งอาหารชันโรงและผึ้ง เพราะดอกให้น้ำหวานเยอะ ผลิตน้ำหวานทุกวัน ส่วนดอกฟักทองให้ปริมาณน้ำหวานสูงถึง 43 บริกซ์ นอกจากนี้ ยังมีดอกประดูป่า ดอกพิกุล ดอกมะระ ดอกมะคาเดเมีย ดอกกาแฟ ฯลฯ ที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกเป็นแหล่งอาหารของชันโรง

นอกจากพืชอาหารจะมีความสำคัญต่อคุณภาพน้ำผึ้งชันโรงแล้ว เรื่องการเก็บผลผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก่อนเก็บน้ำผึ้งควรปล่อยให้จุลินทรีย์และเอนไซม์ทำงานเต็มที่ เพราะน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูงจะต้องมีความชื้นเหลืออยู่ที่ 22-21 เปอร์เซ็นต์ หลังชันโรงเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ที่มีคุณสมบัติทางยา เมื่อเป็นน้ำผึ้งจะเข้มข้นขึ้น ตั้งแต่ 10-100 เท่า เมื่อผสานกับนวัตกรรมการบ่มน้ำผึ้งที่ให้จุลินทรีย์และเอนไซม์ของศูนย์วิจัยฯ ยิ่งทำให้น้ำผึ้งมีความเป็นยามากขึ้น

รังชันโรง

“ชันโรง” เลี้ยงได้ทุกเพศทุกวัย

ให้ผลตอบแทนสูง 66-70 เปอร์เซ็นต์   

การเลี้ยงชันโรงและผึ้ง สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้บริโภคและตัวเกษตรกร เพราะพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงชันโรงและผึ้งต้องปราศจากการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนของการปลูกพืช ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ปลอดสารพิษให้กับชุมชน สร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศและผลกระทบเชิงบวกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

ทุกวันนี้ การเลี้ยงชันโรงถือเป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย เพราะชันโรงไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้ง ไม่สามารถต่อยศัตรูได้ ชันโรงจึงมีฟันกรามที่แข็งแรงใช้กัดศัตรูเพื่อต่อสู้ป้องกันรังแทน การเลี้ยงชันโรงใช้ต้นทุนผลิตไม่สูงมาก กล่องหรือลังสำหรับเลี้ยงชันโรงสามารถประกอบได้เอง หรือหาซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไป ราคาประมาณ 200-300 บาทต่อรัง ส่วนชันโรงซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง สามารถหาตามธรรมชาติ

น้ำผึ้งชันโรง BEESANC จากโมเดลการเลี้ยงผึ้งสู่ธุรกิจเพื่อสังคม

อาจารย์แอ๊ว กล่าวว่า ทุกวันนี้ คนที่เลี้ยงชันโรงมีทุกเพศทุกวัย อายุน้อยสุดที่เลี้ยงชันโรงคือ 6 ขวบ อายุมากสุดคือ 90 ปี  มีอาจารย์วัยเกษียณในอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี หันมาเลี้ยงชันโรงเป็นจำนวนมาก เพราะดูแลจัดการง่าย ใช้เวลาดูแลเอาใจใส่ไม่มาก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 นาทีต่อลัง ชันโรงจะบินออกไปหาอาหารทุกวัน จะเก็บน้ำผึ้งได้สูงสุด 1 กิโลกรัมต่อรัง ทางศูนย์วิจัยฯ รับซื้อน้ำผึ้งชันโรงที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท

“การเลี้ยงชันโรงเหมือนการหยอดกระปุกค่อยๆ สะสมไป สามารถทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้อย่างดี ผลการศึกษาพบว่า การเลี้ยงชันโรงให้ผลตอบแทนสูง 66-70 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับขนาดของฟาร์ม หากลงทุน 100 บาทก็จะได้ผลตอบแทนคืนไป 170 บาท เปรียบเทียบรายได้การปลูกมันสำปะหลัง ลงทุน 100 บาท ได้ผลตอบแทน 115 บาท บางครั้งยังขาดทุนอีกด้วย ดังนั้น การเลี้ยงชันโรงจึงเป็นอาชีพที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปเพราะสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืนไม่แพ้อาชีพอื่นๆ” อาจารย์แอ๊ว กล่าวในที่สุด