เผยแพร่ |
---|
จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรของไทย โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งแนวโน้ม ความต้องการของตลาด สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า “ไผ่ซางหม่น” นับเป็นหนึ่งในพืชทางเลือกที่มีโอกาสทางการตลาด และมีศักยภาพการผลิตในพื้นที่
ปี 2564 มีเกษตรกรผู้ปลูกรวม 544 ราย เนื้อที่ปลูกครอบคลุมทั้ง 16 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 2,680 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 70 ของเนื้อที่ปลูกรวมทั้งประเทศ แหล่งผลิตสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน มีเนื้อที่ปลูกรวม 1,641 ไร่ หรือร้อยละ 59 ของเนื้อที่ปลูกรวมของภาคเหนือ และคิดเป็นร้อยละ 47 ของเนื้อที่ปลูกรวมทั้งประเทศ โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกทั้ง 3 จังหวัด รวม 363 ราย
ไผ่ซางหม่น เป็นพันธุ์ไผ่ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ เจริญเติบโตเร็ว มีลำต้นตรงโดยธรรมชาติ และมีขนาดสม่ำเสมอ สามารถใช้ประโยชน์ตลอดทั้งลำในการแปรรูป จึงทำให้เกษตรกรนิยมปลูกและตัดลำเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานแปรรูป รวมถึงลักษณะลำไผ่มีเนื้อหนาเหมาะสมต่อการนำไปผลิตเป็นชีวมวล เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) ในฐานะหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตรระดับพื้นที่ ได้ศึกษาวิจัยด้านการผลิตและการตลาดไผ่ซางหม่นของภาคเหนือ พบว่า ปีแรกของการลงทุนเกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 7,020 บาทต่อไร่ ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าพันธุ์ไผ่ อยู่ที่ 3,500 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 50 ของต้นทุนรวมทั้งหมด ในปีที่ 2-3 มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,520 บาทต่อไร่ต่อปี และต้นทุนในปีที่เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งเป็นปีที่ 4 ขึ้นไป เฉลี่ยอยู่ที่ 7,520 บาทต่อไร่ต่อปี โดยต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 7 เนื่องจากมีค่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและเกษตรกรต้องบำรุงรักษาต้น ซึ่งเกษตรกรจะตัดลำไผ่เพื่อจำหน่ายเมื่อมีอายุตั้งแต่ปี 4 ขึ้นไป ทั้งนี้ ลำไผ่จะมีความสมบูรณ์มากเมื่อมีอายุตั้งแต่ 6-10 ปี และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 20-30 ปี ด้านการให้ผลผลิต ไผ่ซางหม่นจะให้ผลผลิตลำไผ่เฉลี่ย 8,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เกษตรกรจำหน่ายลำไผ่ได้ในราคา 1.50 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ เดือนพฤษภาคม 2565) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12,000 บาทต่อไร่ต่อปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 4,480 บาทต่อไร่ต่อปี
สถานการณ์ตลาดไผ่ซางหม่นของภาคเหนือพบว่า ปริมาณของผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งนี้ ผลผลิตลำไผ่ซางหม่นทั้งหมดจะถูกส่งไปยังโรงตอกไม้เส้นในพื้นที่ เพื่อทำการแปรรูปจากไม้ไผ่ทั้งลำให้กลายเป็นไม้เส้น หลังจากนั้นจะส่งออกไปยังโรงงานแปรรูปเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไม้ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น โดยผลผลิตไม้เส้นร้อยละ 70 ส่งออกไปยังโรงงานแปรรูปต่างจังหวัด ได้แก่ ราชบุรี ร้อยเอ็ด และกรุงเทพฯ ส่วนอีกร้อยละ 30 ส่งออกไปยังโรงงานแปรรูปในพื้นที่ ได้แก่ อุตรดิตถ์ และแพร่
จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าไผ่ซางหม่นจะเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ไผ่ซางหม่นยังเป็นพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในด้านการช่วยปกป้องและฟื้นฟูสภาพดิน น้ำ และป่าไม้ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ เนื่องจากไผ่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และคายออกซิเจนสู่บรรยากาศได้ดี รวมถึงมีน้ำหนักชีวมวลต่อไร่ที่สูงเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ จึงเป็นทางเลือกในการผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจรายละเอียดผลการศึกษาวิจัยด้านการผลิตและการตลาดไผ่ซางหม่นของภาคเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.2 โทร. 055-322-650 และ 055-322-658 หรืออีเมล [email protected]