ข้าวเวียดนาม กำลังแซงไทย

ก่อนอื่นก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่านที่ห่างหายไปนานพอสมควร เนื่องจากมีภารกิจที่จำเป็นต้องทำหลายเรื่องมาก ทั้งเพื่อปากท้องตัวเองและเพื่อประเทศชาติ แต่ก็ได้ส่งเรื่องของคุณพ่อผมที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องของปศุสัตว์การลี้ยงวัวมาแทน

ในยุคข้าวยากหมากแพง และเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวนาต้องปากกัดตีนถีบ “ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง” ทำนายิ่งทำก็ยิ่งจน ไม่ทำก็ไม่มีกิน ภาครัฐก็มีแต่นโยบายที่สร้างความอ่อนแอให้กับเกษตรกร แทนที่จะสอนให้หาปลากินเอง กลับใช้วิธีหาปลาให้กิน แถมบางคนไม่อยากกินก็ยังถูกจับยัดปากให้กิน สร้างนิสัยขี้เกียจให้เกิดกับเกษตรกรทุกสาขาอาชีพ มัวแต่รอของฟรีจากรัฐ ไม่คิดช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้สนใจเพื่อนบ้านรอบๆ บ้านเราว่า เขาพัฒนาก้าวหน้าไปถึงไหนกันแล้ว ไม่แก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของความยากจนของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ชอบที่จะแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของราชการไทยมาแต่โบราณ จนฝังลึกลงใน ดีเอ็นเอ ของคนไทย

ปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวนานับวันจะยิ่งรุนแรงและทับถมทวีคูณมากขึ้น เรายังเข้าใจผิดมาตลอดว่า เรามีอะไรที่เหนือประเทศเพื่อนบ้านเรามาก โดยเฉพาะเวียดนาม เรามโนไปว่าเรามีพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก เราส่งข้าวออกมากที่สุดในโลก แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าผลผลิตของข้าวเฉลี่ยต่อไร่เราต่ำ ต้นทุนการผลิตเราสูงเกือบที่สุดในอาเซียน และในปัจจุบันการพัฒนาพันธุ์ข้าวเรากำลังล้าหลังลงเรื่อยๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าบุคลากรของเราไม่เก่ง แต่เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของผู้บริหารไม่เพียงพอ และอาจจะไม่เข้าใจหรือยังมองไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนาพันธุ์ข้าวและพัฒนาเทคโนโลยีการทำนา

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2559 ที่ประเทศเวียดนาม มีงานเสวนาเปิดตัว “สมาคมธุรกิจเกษตรและดิจิตอล” โดยผู้ที่เป็นผู้นำในการก่อตั้งคือ บริษัท FPT (Food Processing Technology Company) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารมาก่อน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาทำธุรกิจด้านการเงิน ไอที และอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เป็นบริษัทระหว่างประเทศชั้นนำ ที่มีเครือข่ายสาขาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 19 ประเทศ ประกอบธุรกิจ การคมนาคม ซอฟต์แวร์ ธนาคาร เงินทุน การรักษาความปลอดภัย การศึกษา นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ

แปลงขยายพันธุ์ข้าว

หัวข้อของการเสวนา มีความน่าสนใจมาก คือเรื่องของ “การปรับสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจเกษตรในเชิงอุตสาหกรรม” ซึ่งได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ท่านเหวียน ซวน ฟุ๊ก (Nguyen Xuan Phuc) มาเข้าร่วมงานและเป็นประธานในที่ประชุม จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน มาจากทุกภาคธุรกิจต่างๆ เช่น การเกษตร การเงิน การธนาคาร ภาครัฐ นักวิชาการ นักวิจัย บริษัทเงินทุนฯ บริษัทไอที โลจิสติกส์ ฯลฯ

ข้าวสาร

เขายอมรับว่าความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติหลายๆ เรื่องเขาล้าหลังกว่า ต้องตามอีกนาน แต่ถ้าเรื่องการเกษตรเขาได้เปรียบ ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่มีสภาวะแวดล้อม และภูมิอากาศที่เหมาะสมเหมือนกับเวียดนาม แต่เขาต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการปฏิบัติของเกษตรกรให้คิดในเชิงธุรกิจ เป็นนักธุรกิจเกษตร ไม่ใช่เป็นเกษตรกร และสามารถสร้างอำนาจต่อรอง เรียนรู้การแปรรูป และเพิ่มมูลค่าของผลผลิตการเกษตร ซึ่งผลของการเสวนาสรุปประเด็นหลักๆ ที่สำคัญดังนี้

  1. เวียดนามตั้งเป้าจะเป็นอันดับหนึ่งสำหรับประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากการเกษตรไปทั่วโลก ภายในปี 2025 (2568)
  2. สนับสนุนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร
  3. ยกเลิกการปลูกข้าว 4,375,000 ไร่ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำเค็ม ไปปลูกพืชอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า (การปลูกข้าวมีมูลค่าเพิ่มต่ำมาก เฉลี่ยรายได้ชาวนาเวียดนามเพียง 8,000 บาท ต่อไร่/ก็ยังสูงกว่าไทย)
  4. เพิ่มพื้นที่การเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากปัญหาผลกระทบจากน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวได้ (เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส)
  5. ตั้งเป้าส่งออกกุ้ง มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
  6. จะเป็นคู่แข่ง เอกวาดอร์และฟิลิปปินส์ เพื่อปลูกกล้วยหอมส่งออก
  7. รัฐบาลจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ หันมาลงทุนด้านธุรกิจเกษตร (50,000 ล้านด่อง)
  8. สนับสนุนให้เปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรแบบเก่า (เป็นเกษตรกร) ให้หันมาวางตำแหน่ง หรือ Position ใหม่ว่า เกษตรก็คือธุรกิจรูปแบบหนึ่ง สนับสนุนให้ทำ ให้คิดในเชิงธุรกิจ
  9. สนับสนุนให้คนที่เรียนจบทางด้านเกษตรหันกลับไปทำการเกษตร แทนที่จะไปเป็นเซลส์ขายปุ๋ย ขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  10. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคธุรกิจหันมาสนใจด้านการเกษตรและลงทุนทำการเกษตร โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้จากการทำเกษตร
  11. ส่งเสริมการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ที่จังหวัดลามด่ง, เมืองดาลัท ให้มากขึ้น ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์สามารถทำรายได้ เฉลี่ยปีละ 12.30 ล้านบาท ต่อเฮกตาร์ ต่อปี (1.97 ล้านบาท ต่อไร่)
  12. รัฐไม่ได้สนับสนุนเฉพาะรายใหญ่ แต่สนับสนุนทั้งรายย่อย หรือแม้กระทั่งเกษตรกรเอง ขอให้รวมตัวกันมา มีแผนงานที่ดีเป็นรูปธรรม รัฐช่วยเหลือหมด ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะบริษัทใหญ่เท่านั้น
  13. เวียดนามมองประเทศไทยเป็นตลาดหนึ่ง เขานำเข้าผักผลไม้จากไทย ปีละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เวียดนามส่งออกไปขายประเทศไทย เพียง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเมื่อก่อนไม่ได้มองเราเป็นตลาดสำคัญ แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนมุมมองว่าหันไปทำตลาดใกล้บ้าน ซึ่งมาตรฐานการนำเข้าไม่สูง จะง่ายกว่าส่งตลาดยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งใช้เวลานานกว่าต้นทุนสูงกว่า

แสดงให้เห็นว่าเวียดนามกำลังจะก้าวข้ามประเทศไทยแล้ว เพราะเขาทราบว่าอาชีพการทำนานั้นเกษตรกรยากจนที่สุด ประกอบกับเวียดนามได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงกว่าประเทศอื่น การเพิ่มระดับของน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปภายในของพื้นที่การทำนาบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมากขึ้นทุกปี เขาจึงจำเป็นที่จะต้องลดพื้นที่การทำนาลง และเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อชดเชยส่วนที่หายไปด้วยการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมทนดินเค็มที่มีคุณภาพสูงเพื่อขายในตลาดบน ชดเชยรายได้ที่หายไป และพัฒนาเทคโนโลยีการทำนาเพื่อลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

ST22

เมื่อ วันที่ 1-4 กรกฎาคม 2560 ผู้เขียนและคณะได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้เดินทางไปแอบดูการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี และการพัฒนาเทคโนโลยีการทำนาของเวียดนามในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำโขง จากท่านผู้ใหญ่ใจบุญ ที่มีความปรารถนาดีและเป็นห่วงชาวนาไทย ในการนี้ได้ติดต่อประสานงานกับเพื่อนเก่า คุณ Ho Quang Cua ซึ่งเป็นอดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเกษตรและพัฒนาชนบท จังหวัดซ็อกตรัง ปัจจุบันท่านได้เกษียณอายุราชการแล้ว และจัดตั้งบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่าย ชื่อว่า Ho Quang Trade and Service Enterprise โดยมีกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ต่างๆ จำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดซ็อกตรัง และจังหวัดอื่นในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ปีละประมาณ 1,000 ตัน

ท่านเล่าให้ฟังว่า ซ็อกตรัง (Soc Trang) เป็น 1 ใน 13 จังหวัด ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) อันเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม โดยอยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำฮั่ว (Hua River) มีภูมิอากาศที่เหมาะสมและดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก ผลผลิตจากการเพาะปลูกและการประมงเป็นรายได้หลักของจังหวัด มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 1,556,800 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,175,419 ไร่ พืชผัก 251,288 ไร่ ไม้ผล 31,250 ไร่ และอื่นๆ 98,843 ไร่ ในแต่ละปีสามารถผลิตข้าวได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1.6 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งที่สำคัญของประเทศอีกด้วย เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเลยาวถึง 72 กิโลเมตร โดยทิศตะวันตกเฉียเหนือติดกับจังหวัดฮั่วยาง (Hua Giang) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับจังหวัดบักเลียว (Bac Lieu) ทิศเหนือติดกับจังหวัดหวินห์ลอง (Vinh Long) เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำที่กว้างใหญ่ไหลผ่านสองสาย คือแม่น้ำฮั่ว (Hua) และแม่น้ำหมี่ถัน (My Thanh) อยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 231 กิโลเมตร

ST20 เมื่อหุงแล้ว
ภายในแปลงขยายพันธุ์ข้าว

ลักษณะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของ คุณ Ho Quang Cua มี 2 แบบ แบบแรก คือ รับเมล็ดพันธุ์ัข้าวหลัก และพันธุ์ขยายจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชซ็อกตรัง (Soc Trang Plant Breeding Center) มาผลิตขยายเพื่อจำหน่ายต่อให้กับชาวนา แบบที่สอง คือทดลองผสมเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ และคัดเลือกพันธุ์ข้าวจากสายพันธุ์ต่างๆ ที่รวบรวมมา จากหลายประเทศ และเนื่องจากจังหวัดซ็อกตรังเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ปลูกข้าวในช่วงหน้าแล้งมาก ชาวนาส่วนใหญ่จึงนิยมทำนาปีละ 1 ครั้ง และพันธุ์ข้าวที่ปลูกต้องเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะต้านทานและทนทานต่อดินเค็ม ดังนั้น พันธุ์ข้าวที่ผลิตในจังหวัดซ็อกตรังทุกพันธุ์จะทนดินเค็ม และเป็นข้าวเจ้าหอมเมล็ดยาวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์จะใช้พันธุ์บาสมาติของอินเดียเป็นหลัก จึงทำให้พันธุ์ข้าวที่ผลิตที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชซ็อกตรัง และของ คุณ Cua เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเมล็ดค่อนข้างยาว คุณภาพตอนหุงต้มเมล็ดจะขยายยาวกว่าข้าวหอมมะลิของไทย เหนียวนุ่ม แต่มีความหอมค่อนข้างน้อย และให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูงกว่าข้าวหอมมะลิไทย ประมาณ 800-1,200 กิโลกรัม ต่อไร่

ST20

พันธุ์ที่เด่นและเป็นที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดซ็อกตรังและจังหวัดใกล้เคียงคือ ST20 (SocTrang 20) และ ST22 ซึ่งมีความทนทานดินเค็ม และแตกกอได้ดีมาก สามารถปลูกในน้ำกร่อยได้ จากการเดินสำรวจในแปลงทดลอง และสอบถาม คุณ Cua ทราบว่าพันธุ์ข้าวที่ผลิตขยายและเพาะปลูกในจังหวัดซ็อกตรัง เป็นข้าวหอมเมล็ดยาว ถึงร้อยละ 50 นี่เป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่า เวียดนามกำลังหันมาทำข้าวที่เน้นคุณภาพ มากกว่าที่ให้ผลผลิตสูงแล้ว ซึ่งเขาพัฒนาได้เร็วมาก ได้ทดลองชิมข้าวพันธุ์ ST20 เขาแพ้หอมมะลิ และหอมปทุมธานีเพียงแค่กลิ่นหอมเท่านั้น ความเหนียวนุ่มไม่ต่างกัน แต่เมล็ดยาวกว่า

ฉบับหน้า พบกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีการทำนาแบบลดต้นทุนการผลิตแบบง่ายๆ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม

 

ขอบคุณ ข้อมูลประกอบเนื้อหา จาก คุณธีระพงษ์ ฤทธิ์มาก บริษัท ซิตโต้ เวียดนาม จำกัด