คูโบต้า แนะ ปลูกอ้อย-ข้าว ต้นทุนต่ำ ให้ผลผลิตสูง

“น้ำ อุณหภูมิ และแสงแดด” นับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อผลผลิต คุณภาพ และการเก็บเกี่ยวของอ้อย ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก หากเจอภัยแล้งอาจสร้างความเสียหายต่อตออ้อยและอ้อยปลูกได้ ดังนั้น การวางแผนปลูกอย่างถูกต้อง และปลูกในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม จะช่วยให้ต้นอ้อยได้รับน้ำอย่างเพียงพอตลอดช่วงการเจริญเติบโต ผลผลิตอ้อยจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น

กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลออร์แกนิก และบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้ร่วมมือกันจัดทำ โครงการ วังขนาย-คูโบต้า พลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อยกระดับศักยภาพเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ ให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดปัญหาด้านแรงงานไปพร้อมๆ กัน

ทีมผู้บริหาร คูโบต้า-วังขนาย และตัวแทนเกษตรกร

ปลูกอ้อยอินทรีย์ ที่มหาสารคาม

คุณนธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย เปิดเผยว่า กลุ่มวังขนาย ร่วมมือกับสยามคูโบต้า จัดโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยอินทรีย์ที่มีต้นทุนต่ำ และให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์แล้วกว่า 30,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา และลพบุรี
กลุ่มวังขนายสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้า ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเพาะปลูก การฝังปุ๋ย การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว ภายใต้แนวคิด KUBOTA (Agri) Solutions โดยใช้แทรกเตอร์ติดอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับงานไร่อ้อย เช่น ผาลระเบิดดินดานในการเตรียมดิน สำหรับปลูกอ้อยข้ามแล้ง เพื่อเก็บความชื้นไว้ในดินช่วงหน้าแล้ง และช่วยเพิ่มสารอินทรีย์ในดิน

ปัจจุบัน อุปกรณ์เครื่องปลูกอ้อย ใช้แรงงานเพียงแค่ 1-2 คน สามารถทำงานได้สูงสุด 20 ไร่/วัน ช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน นอกจากนี้ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เครื่องฝังปุ๋ย เครื่องคีบอ้อย และแทรกเตอร์ขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวในร่องอ้อยสูงสำหรับกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก ช่วยลดการใช้สารเคมีและสารปนเปื้อน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อได้อ้อยอินทรีย์ป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเหมาะสำหรับการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี

 

คุณแอ๊ด-กริชอารักษ์ รักษาพล อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม หนึ่งในเกษตรกรเจ้าของไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์ โดยปลูกอ้อยตามหลักการ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกทำการเกษตรในทุกขั้นตอน และบริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด ให้คำปรึกษาสนับสนุนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างน่าพอใจ

คุณแอ๊ด เล่าว่า ครอบครัวทำนาและปลูกอ้อยโดยใช้สารเคมีมาก่อน ต่อมาผมสนใจปลูกอ้อยอินทรีย์ จึงขอแบ่งที่ดินจากพ่อ จำนวน 1 ไร่ มาทดลองปลูกอ้อยอินทรีย์ โดยปลูกยูคาลิปตัส กระถินเทพา มะม่วง ขนุน เป็นพืชแนวกันชนรอบแปลงปลูกอ้อยก่อน

หลังจากนั้น ใช้เวลา 1 เดือน ปรับปรุงบำรุงดิน ไม่ให้มีสารเคมีตกค้างในดินก่อน จึงค่อยลงมือปลูกอ้อยด้วยนวัตกรรม KUBOTA (Agri) Solutions ปรากฏว่า สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยอินทรีย์รุ่นแรก ได้ผลผลิตถึง 18 ตัน/ไร่ แตกต่างจากการปลูกอ้อยโดยปกติ ที่มักได้ผลผลิตเฉลี่ย 10-12 ตัน/ไร่ ผมมุ่งมั่นที่จะปลูกอ้อยอินทรีย์อย่างต่อเนื่องเพราะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แถมมีสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลสารเคมีตกค้างอีกด้วย

คุณสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับกลุ่มวังขนาย ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิก ในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กสำหรับใช้ในไร่อ้อย

นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดการทำเกษตรครบวงจรให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้า ผ่านโครงการ AD Solutions Provider เพื่อให้ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายมีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำเกษตรด้วยวิธี KAS และการทำเกษตรแบบประณีต เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ดังกล่าวต่อไปยังเกษตรกรในพื้นที่ของตนเอง โครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการทำเกษตรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

“การปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังส่งผลให้กลุ่มวังขนายได้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกได้มาตรฐานอีกด้วย” คุณสมศักดิ์ กล่าว

คุณสุนิษา พรรักษมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้นำพนักงานเข้าร่วมอบรมโครงการ AD Solutions Provider แล้วนำองค์ความรู้ KAS ไปใช้พัฒนาการปลูกอ้อย ร่วมกับโรงงานน้ำตาลวังขนาย ในปี 2558-2559 ณ บ้านโคกล่าม อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 8 ไร่ ปรากฏว่า ได้ผลผลิต จำนวน 26.64 ตัน/ไร่ ใช้ต้นทุนประมาณ 8,400 บาท/ไร่ และได้กำไรอยู่ที่ 24,000 บาท/ไร่ (ไม่รวมค่าตัดอ้อยและค่าขนส่ง เนื่องจากขายเป็นอ้อยพันธุ์)

ปฏิทินการปลูกอ้อยข้ามแล้ง

ในอนาคต สยามคูโบต้ายังคงเดินหน้าถ่ายทอดการทำการเกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรให้มีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการวิจัยการทำเกษตรด้วยวิธี KAS กับพืชอีกหลากหลายชนิด และมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ KAS ให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับเกษตรกรต่อไป

เปิดตัว “ปฏิทินเพาะปลูกข้าว”
พัฒนาข้าวไทย เข้าสู่ “ทำเกษตรแบบประณีต”

เนื่องจาก สยามคูโบต้า ต้องการส่งเสริมให้ชาวนาไทยหันมาทำเกษตรแบบประณีตและเกษตรแม่นยำสูงกันมากขึ้น จึงได้เปิดตัว ปฏิทินเพาะปลูกข้าว ลิขสิทธิ์เฉพาะของสยามคูโบต้า ที่ผ่านการคิดค้น วิจัย และพัฒนาร่วมกับอาจารย์ซึโทมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ ด้านเทคนิคการปลูกข้าว จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวนาไทยทำนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

ปฏิทินการปลูกข้าวด้วยวิธีการดำนา ในเขตพื้นที่ชลประทาน

สำหรับขั้นตอน การจัดทำปฏิทินเพาะปลูกข้าวสำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มต้นจากศึกษาข้อมูล วิเคราะห์พื้นที่ที่จะทดสอบปฏิทิน ปลูกข้าวจริงและเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงทุกขั้นตอน นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ผล และสุดท้ายนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดทำเป็น ปฏิทินเพาะปลูกข้าว โดยจะพิจารณาจากองค์ประกอบและศักยภาพผลผลิตของข้าวแต่ละพันธุ์

ยกตัวอย่าง เช่น หากต้องการผลผลิตข้าว 1 ตัน จะต้องวางแผนย้อนกลับไปว่าจะต้องมีองค์ประกอบผลผลิตที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง แล้วสามารถทำได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะย้อนกลับไปดูว่ามีการผิดพลาดตรงจุดไหน เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงแปลงในฤดูถัดไป

ผู้บริหารคูโบต้าโชว์ปฏิทินการปลูกข้าวด้วยวิธีการดำนา

ปฏิทินการเพาะปลูกที่สยามคูโบต้าจัดทำขึ้น ประกอบด้วย ข้อมูล 2 หน้า หน้าแรกเป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาหยอดแห้งสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำฝน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และหน้าที่สอง เป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาดำสำหรับพื้นที่ชลประทาน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงอายุ 120 วัน

แต่ละหน้าของปฏิทินจะมีองค์ประกอบ 6 ส่วน คือ
1. พื้นที่แนะนำสำหรับปฏิทินเพาะปลูกชุดนี้
2. พันธุ์ข้าว
3. ช่วงเวลาการเพาะปลูก
4. ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ
5. ระยะการเจริญเติบโตของข้าว และ
6. การปฏิบัติในแปลงและจุดควบคุม โดยรายละเอียดในปฏิทินเพาะปลูกข้าวจะมีการอธิบายถึงวิธีการทำนาในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดวันเพาะปลูก การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย การจัดการน้ำ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการประเมินผลในแต่ละขั้นตอน และตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมของข้าวในแต่ละระยะ

ปฏิทินเพาะปลูกข้าวฉบับนี้ เป็นฉบับแรกที่สยามคูโบต้าได้จัดทำขึ้น มีความโดดเด่นคือ ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถวัดผลการเจริญเติบโตของต้นข้าว เพื่อปรับการดูแลรักษาต้นข้าวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ รวมถึงมีคำแนะนำเพิ่มเติมในแต่ละช่วงเวลาสำคัญของการเจริญเติบโต เช่น การงอก ออกรวง เก็บเกี่ยว โดยในอนาคตบริษัทจะทำการวิจัยและพัฒนาปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวที่แนะนำในแต่ละพื้นที่

“สยามคูโบต้า ยังคงพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลปฏิทินเพาะปลูกข้าวตัวปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น อย่างน้อย 2-3 ปี และยังมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังพื้นที่หรือพันธุ์ใหม่ๆ คู่ขนานกันไป สำหรับในด้านการส่งเสริม สยามคูโบต้ามีเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในหลายภูมิภาค โดยจะนำไปทดลองใช้และพัฒนาต่อในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ได้ปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป” คุณสมศักดิ์ กล่าวในที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kubotasolutions.com