“บ้านสวนเบญจมงคล มินิฟาร์ม-รถบ้าขบวนสุดท้าย (ตอนจบ)

“หากให้เล็กบอกเล่าถึงความภาคภูมิใจในชีวิต พอบอกได้ไหมมีอะไรบ้าง”

“เยอะนะพี่ ได้เงินเดือนจากการทำงานในเดือนแรกก็ภูมิใจนะ แต่เป็นความภูมิใจที่มีมาให้ได้พบทุกเดือน จนหลังๆ ก็เป็นความเคยชิน แต่ที่ภูมิใจมากๆ คือได้ยินได้เห็นคนที่เรารักยอมรับและทำไปพร้อมกับเรานี่แหละพี่ ภูมิใจมากๆ ความฝันเล็กๆ ของเราสองคนได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว จากคนในชุมชน และปัจจุบันได้ทำงานใหญ่ในระดับจังหวัด”

“แสดงว่ามีหลายตำแหน่ง”

“เป็นปราชญ์เกษตร ด้านเกษตรผสมผสานของหมู่บ้าน ประธานสภายุวเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน และประธาน Young Smart Farmer จังหวัดขอนแก่น ปี 2560”

“อะโห! มีเวลาดูแลสวนตัวเองหรือเนี่ย ไม่เดินสายประชุมไปทั้งจังหวัดเลยรึ”

“เราต้องแบ่งเวลาค่ะพี่ เมื่อก่อนเราตั้งเป้าให้พอกิน พอใช้ พอใจ พอเพียง เมื่อเราได้ตามเป้าหมายแล้ว จากนี้ไปก็จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวตามศาสตร์พระราชา ที่เราน้อมนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตต่อไป ตอนนี้ทำอีกหน้าที่คือเป็นครูอาสา สอนหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ตามโรงเรียนต่างๆ ค่ะ”

ออกแบ่งปันความรู้
ความรู้แพร่ขยาย

“เรียกว่าทำจนสำเร็จ เมื่อถึงเวลาก็ต่อยอดด้วยการรวมกลุ่ม และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจขยายวงกว้างต่อไป”

“ใช่เลยค่ะ เล็กฝันเอาไว้ ตอนนี้เรากำลังก้าวเดินไปตามความฝันของเรา การรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องเข้มแข็งจากกลุ่มเล็กๆ ขยายวงออกไปเรื่อยๆ ต่อยอดความรู้ ความเข้าใจ มีพี่เลี้ยงในแต่ละกิจกรรม ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องมีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อมีการรวมกลุ่ม เราจะเข้มแข็งจากผู้มีประสบการณ์ในกลุ่มคอยช่วยเหลือ”

มาดูงานกัน

“เรียกว่าไม่ทิ้งคนเฒ่าคนแก่”

“ทิ้งไม่ได้เลยพี่ นี่คือตำราอีกหนึ่งเล่มที่ยังมีชีวิต เรื่องราวแต่ละอย่างที่ท่านผ่านมา จะเป็นบทเรียนทั้งในแง่ของความสำเร็จและไม่สำเร็จ”

“เล็กเลี่ยงคำว่าล้มเหลว”

“ใช่พี่ ทุกอย่างที่ผ่านการกระทำมา ไม่มีสิ่งใดล้มเหลว เพียงแต่เป็นตัวอย่างให้รู้ว่าทำแบบนั้นไม่ประสบผลสำเร็จนะ ลองมาแล้วไม่ต้องไปทำ ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาเดินในรอยเดิมนั้นอีก”

“แล้วที่เห็นนั่งปรึกษากัน”

“เรากำลังเตรียมทำลานข้าวตามแบบโบราณค่ะพี่ ต้องจัดเตรียมขี้ควาย ดินเหนียว และถากหญ้าทำลานกัน เรื่องนี้ต้องพึ่งประสบการณ์ของผู้รู้มาคอยช่วย เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย”

“เอ่อ! เด็กๆ จะกล้าเล่นกับขี้ควายไหมเนี่ย”

“หารู้ไม่ ที่นี่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยหายไปนะพี่ เด็กๆ มาพูดคุยเรียนรู้กับผู้เฒ่า มีการลงมือทำ หยอกล้อ โต้แย้งกันตามประสา หนูมองทีไรก็อุ่นในหัวใจทุกครั้ง คิดไม่ผิดจริงๆ ไม่มีอาชีพไหนที่คนในครอบครัวจะมีกิจกรรมร่วมกันได้พร้อมหน้าเท่าอาชีพเกษตร หิวก็กิน ง่วงก็นอน สุขสบายตามอัตภาพ”
ผมยืนมองแปลงนาที่มีระลอกคลื่นพลิ้ว แกว่งรวงข้าวสีทองไหวโยกเอนไปตามลม เล็กพาเดินไปตามคันนา ชี้ให้ดูความมีอยู่มีกินตามที่เธอเล่าให้ฟัง น้ำในนาเริ่มงวด ปลาตัวเล็กตัวน้อยต้องหาแหล่งน้ำอยู่ใหม่ บ้างว่ายบ้างแถกโคลนไปข้างหน้า ไม่ไกลก็จะมีสระที่ขุดไว้เก็บน้ำ และเป็นแหล่งรวมปลาจากทุกจุดในนาให้มารวมกัน ความเขียวของผักน้ำที่เล็กทั้งสองปลูกอวดต้นอวดก้านสวยงาม ผักพาย ผักก้านจอง ผักตบ ผักขะแยง (แขยง) ใบบัวบก ผักแว่น ผักบุ้งนา เรียกว่าหากแค่เก็บกินอย่างไรก็ไม่หมดแน่ๆ

ผักพื้นบ้าน
พันธุ์ไม้

“มีข้าว มีปลา มีผัก แค่นี้ก็สบายแล้วเนอะ”

“ใช่พี่ เป็ดไก่เรามีไข่ให้กินเสมอ ไหนจะปู ปลา กุ้ง หอย กบ ใครมาที่นาแปลงนี้รับรองไม่มีอดแน่นอน”

“ถามทีละอย่างนะ ปูนาเลี้ยงด้วยหรือ ยากไหม”

“ไม่ยากพี่ ปล่อยให้เขามีพื้นที่ หากสะดวกในการจัดการ จะทำบ่อปูนก็ได้ จับปูนามาปล่อย ทำบรรยากาศให้เหมือนธรรมชาติ อาหารก็ไม่ยาก ให้ข้าวสุกก็กิน ให้ผลไม้ก็กิน ถึงเวลาก็ออกลูกหลานขยายไม่สิ้นสุด”

“แล้วหอยขม”

“นี่ยิ่งง่ายพี่ ดูบ่อปลาที่เห็นนี่นะ เอาหอยมาปล่อยแค่กิโลเดียว เอาทางมะพร้าวมาลงให้เขาเกาะบ้าง ผ่านไปปีเดียวได้กินได้ขายไม่หมดเลย นี่ไม่ได้เลี้ยงอะไร ให้เขาหากินเองในบ่อปลานี่แหละ”

“ง่ายขนาดนั้นเลย”

“ใช่พี่ พี่โจนเคยบอกไว้ อะไรยากคือผิด ต้องหาอะไรง่ายๆ มาทำ ปลาสารพัดชนิด ส่วนมากตอนนี้ไม่ได้ซื้อมาปล่อยแล้ว เขาออกลูกออกหลานมาเอง แล้วยังมีปลาจากธรรมชาติอีก แค่เราดูแลพื้นที่ของเราให้ดี ให้ปลอดภัยจากสารเคมี ที่เหลือธรรมชาติจะหันมาดูแลเราเอง”

 

“อาหารปลา ต้องซื้อมาไหม”

“ไม่เลยพี่ ผลไม้สุกที่กินไม่ทันก็แบ่งปลากิน มะละกอ กล้วย คนกิน ปลากิน สัตว์น้ำต่างๆ ก็ได้กิน ปลากินพืชก็ตัดหญ้าให้เขาบ้าง ฟางข้าวบ้าง เรียกว่าอาหารในสวนในฟาร์มเราเอง หมุนเวียนเป็นห่วงโซ่ได้ไม่รู้จบ”

จากทุ่งนาเรามาเดินในสวน พืชผักที่มีการดูแลอย่างดีสวยงามสะพรั่ง ไผ่แทงหน่อออกมารอบกอ เพกาก็ออกฝักดกเป็นพวง ดอกสลิดบานเกาะค้างเต็มไปหมด กลิ่นหอมอ่อนๆ คละเคล้ากันไป เป็นบรรยากาศที่ดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่งเหมือนสังคมในปัจจุบันนัก เสียงเป็ด ไก่ เสียงหมาเห่า กระดึงเบาๆ จากคอควาย เหล่านี้คือภาพที่บางคนไม่เคยพบเจอในยุคนี้แล้ว แต่ที่นี่กลับมาอยู่พร้อม

“ตรงนี้จะเป็นแปลงเพาะชำของฟาร์มเราค่ะพี่ มีไผ่ เพกา สลิดเป็นหลัก แจก แลก ขาย ยังเป็นกิจกรรมหลักที่เราทำอยู่เสมอ เป็นรายได้ส่วนหนึ่ง และเป็นสะพานทอดให้เราได้มีเพื่อนมากขึ้น”

“ยังไงหนอ ช่วยขยายความ”

“ต้นกล้าในแปลงนี้ เมื่อมีคนมาแบ่งซื้อ ก็จะถามวิธีปลูก ดูแล บำรุงอย่างไร เราก็ได้พูดคุยได้เสวนากัน บางครั้งตามไปดูให้ถึงแปลงปลูก ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมากมายเลยพี่”

ทำนา

“เห็นว่าขายดาวเรืองด้วย”

“ผลพลอยได้ค่ะพี่ จากที่ตั้งใจปลูกดาวเรืองถวายในหลวง พอสั่งเมล็ดมาเยอะก็เพาะแบ่งขายด้วย เราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ไม่แน่ จากนี้ไปเราอาจปลูกดาวเรืองตัดดอกเป็นรายได้เสริมอีกทางก็ได้”

“อยากฝากอะไรถึงท่านผู้อ่านสักหน่อยไหมครับ”

“เราขอขอบคุณท่านผู้อ่าน ผู้ติดตามทุกท่านค่ะ เรื่องราวของครอบครัวเราบางครั้งก็ดูเหมือนนวนิยาย แต่กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ก็ผ่านทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตา แรงต้านจากคนใกล้ชิดคือแรงผลักที่สำคัญ ทำให้เรามุ่งเดินตามรอยฝัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีแบบอย่างที่ดีจากในหลวง พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางชีวิตที่พร้อมสุขให้เรา พระองค์ทรงคิดและทดลอง เราเพียงปฏิบัติตามก็จะพบกับความสำเร็จได้ไม่ยาก ขอเพียงเรากล้าฝัน ขอเพียงเรากล้าลงมือทำ เชื่อว่าสักวันจะประสบผลสำเร็จแน่นอน”

รอยยิ้มของความสำเร็จ

“ถามย้ำ หากมีคนสนใจอยากมาขอความรู้จะติดต่ออย่างไร”
“เรายินดีค่ะ โทร.มาได้ที่เลขหมาย (099) 401-6487 และ (061) 969-5187 หากบอกว่าอ่านจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เรามีของฝากติดมือให้ไปปลูกด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ”
ผมกล่าวอำลาครอบครัวคนบ้าฝัน (ตามนิยามที่เธอบอก) พร้อมกับเอ่ยเบาๆ ในใจ

“ผมจะฝันบ้าง เดี๋ยวจะเอามาอวดนะ บ้านสวนเบญจมงคล เชอะ เชอะ เชอะ อิจฉาว้อย”