สวนจันทวิสูตร เมืองจันท์ ปลูกทุเรียนพันธุ์แปลกใหม่ รสชาติดี ขายได้ราคา

เมื่อ 3-4 ปีมานี้ ราคาทุเรียนจูงใจให้เกษตรกรปลูกอย่างมาก ปัจจัยหนุนส่งเป็นเรื่องของการส่งออก โดยเฉพาะไปจีน ด้วยเหตุนี้ จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกกันมาก

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร ดูแต่ยางพารานั่นประไร จุดสูงสุดกว่า 100 บาท ทุกวันนี้ต่ำเตี้ยติดดิน

เกษตรกรส่วนใหญ่ มีรูปแบบการผลิตทุเรียนคล้ายๆ กัน แต่ สวนจันทวิสูตร ดูจะแตกต่างจากสวนอื่น

สวนจันทวิสูตร อยู่เลขที่ 38/11 หมู่ที่ 1 ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

คุณกิตติ จันทวิสูตร เจ้าของสวน เล่าว่า เดิมทีผลิตสินค้าเกษตรคล้ายเกษตรกรรายอื่น โดยปลูกสะละ ลองกอง ตะเคียน รวมทั้งทุเรียน ระยะหลังเริ่มปรับเปลี่ยน คือตัดต้นตะเคียน แล้วปลูกทุเรียนแทน โดยกิจกรรมที่ทำอยู่มีพื้นที่ 300 ไร่

พันธุ์แปลกใหม่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

คุณกิตติ บอกว่า ตนเองปลูกตะเคียนไว้มาก ทุกวันนี้ยังมีอยู่ และทยอยขายให้กับโรงเลื่อย สำหรับทุเรียน มีปลูกแปลงใหญ่พันธุ์หมอนทอง จำนวน 500 ต้น อยู่ที่อำเภอมะขาม

แต่ที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ ปลูกทุเรียนพันธุ์ใหม่ พันธุ์โบราณหายาก รวมแล้วเป็น 100 พันธุ์

คุณกิตติ เป็นคนหมั่นศึกษาหาความรู้ อย่างนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ลงเรื่องทุเรียนจระเข้ ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เขาตามไปซื้อต้นพันธุ์มาปลูก ซื้อผลมาชิม หลังชิมพบว่า เมล็ดโต แต่ก็ไม่ได้ทิ้ง เมื่อปลูกไปจนมีผลผลิต ดูแลรักษาเหมือนพืชสวน มีการแต่งกิ่ง แต่งผล ให้น้ำ ปรากฏว่าเมล็ดเล็กลง ออกดอกติดผลดี ผลสวย มีแนวโน้มที่ดี

เนื้อทุเรียนเม็ดในยายปราง

“ที่เดิมทุเรียนจระเข้ต้นสูง เขาดูแลไม่ดี อายุต้นแม่กว่า 200 ปี ไม่ได้ให้น้ำ มาอยู่ที่นี่แตกต่างกัน…ที่นี่มีปลูกพันธุ์ใหม่พันธุ์โบราณ แต่ไม่ได้ดีทุกตัว ไม่ดีพูดไม่ได้จะไปกระทบเขา ก็ไม่ปลูกจำหน่าย รวมแล้วที่ปลูกไว้เป็น 100 พันธุ์ ผลผลิตออกมาเรื่อยๆ เห็นชัดหลายตัวแล้ว” คุณกิตติ บอก

มีข่าวว่า ทุเรียนที่ไหนดี คุณกิตติจะตามไปซื้อมาปลูก เช่น เม็ดในยายปราง ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ทุเรียนสาลิกา ที่จังหวัดพังงา ทุเรียนมูซังคิง ที่จังหวัดยะลา รวมทั้งของดั้งเดิมจังหวัดนนทบุรี เมื่อปลูกแล้วได้ผลดี ปลูกต่อ เป็นการคัดพันธุ์ดีๆ นี่เอง แต่อีกส่วนหนึ่ง เจ้าของผสมพันธุ์ โดยทั่วไปไขว้กัน ใช้หลงลับแลเป็นพ่อ ใช้มูซังคิงเป็นแม่ บางต้นใช้มูซังคิงเป็นพ่อ หลงลับแลเป็นแม่

“อยากได้ทุเรียนเนื้อเหนียว ละเอียด เนื้อหนา ก็ผสมอยู่ มีหลักการผสมคล้ายๆ กล้วยไม้ ได้ต้นใหม่แล้ว แต่ยังไม่เห็นผล” คุณกิตติ บอก

 

ผลิตและจำหน่ายทุเรียนพันธุ์พิเศษ ขายได้ราคาดี

คุณกิตติ บอกว่า ตนเองพยายามหาพันธุ์ที่ชาวบ้านไม่ค่อยปลูกกัน สายพันธุ์หายาก อร่อย ตอนนี้ที่สวนพบว่า ตระกูลกบ อย่าง กบพิกุล กบสุวรรณ กบทองคำต้นคมบางเนื้อดีมาก กลีบสมุทรก็เนื้อดี

ที่เป็นการค้าได้ดีมี เม็ดในยายปราง หลงลับแล สองพันธุ์นี้เริ่มมีผู้ค้าส่งไปที่จีนแล้ว จริงๆ เขาต้องการมูซังคิง แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ

“ของที่นี่พันธุ์โบราณส่วนหนึ่ง ขายทางออนไลน์ ลูกชายขาย มีบ้างที่ไปส่งเจ้าประจำในเมือง เขานำไปขายที่กรุงเทพฯ ทุเรียนไม่เหมือนที่อื่นดีอย่างหนึ่ง เวลาบรรทุกรถไป มอเตอร์ไซค์ตามสี่แยกมาจะชวนให้ไปขายที่ล้ง มันไม่มองเลย มันไม่รู้จักก็ดีไปอย่าง เราก็ไปส่งเจ้าประจำ ทุเรียนเม็ดในยายปราง ตัดส่งจีน วันที่ 17 เมษายน” คุณกิตติ บอก

หลินลับแล
นกหยิบ

ตัดเองกับมือทุกลูก

คุณกิตติ บอกว่า ที่สวน ส่วนใหญ่ให้ต้นทุเรียนสูง 6 เมตร หากสูงกว่านี้ตัดยอด

“ผมตัดคนเดียว อายุ 65 ปี ยังปีนได้ ทุเรียนกระดุม หมอนทอง ตัดรวมๆ ได้ แต่พันธุ์แปลกใหม่หรือโบราณนี่ทีละลูก ต้องตัดทุเรียนแก่ ดูผิว สี มีพลาดบ้างแต่น้อย ต่อไปลูกชายคงรับช่วงต่อ เราอายุเพิ่มขึ้น …ต้นทุเรียน ตัดยอดให้สูง 6 เมตร ดูแลง่าย ใช้ปัจจัยการผลิตมีประสิทธิภาพ ต้นอายุ 10 ปี ดูแลดีมีลูกได้ 60-70 ลูก…กรณีที่ต้นอายุมากๆ 30 ปี ต้นสูง 20 เมตร ทำงานลำบาก เปลืองค่าใช้จ่าย” เจ้าของบอก

 

“มูซังคิง” มาแรง

ทุเรียนมูซังคิง (ราชาแมวป่า) หรือเหมาซานหวัง มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย เขาปลูกส่งออกจีน เป็นทุเรียนพันธุ์เบา หลังดอกบาน 90-100 วัน เก็บผลผลิตได้ น้ำหนักผล 2-3 กิโลกรัม เปลือกบาง เมล็ดลีบ เนื้อสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่สวนจันทวิสูตร มีปลูกเป็นการค้า

คุณกิตติ บอกว่า จุดเด่นมูซังคิง เป็นทุเรียนครบทุกรส หวาน มัน เนื้อเหนียว การคงรูปของเนื้อสุดยอด ถึงจะสุกงอมเนื้อยังดีอยู่

ทุเรียนมูซังคิง
เนื้อมูซังคิง

“ปลูกทุเรียนราว 100 พันธุ์ อันดับ 1 ตอนนี้มูซังคิง ตัวต่อมาคือ กบทองคำต้นคมบาง…กินทุเรียนเพื่อสุนทรียรส ต้องมูซังคิง กินให้อิ่มหมอนทอง…ต้นพันธุ์ทำไว้เล็กน้อย”

คุณกิตติ บอก พร้อมกล่าวอีกว่า

“มูซังคิง ขายกิโลกรัมละ 450 บาท อนาคตผลผลิตจะมีมากขึ้น โอกาสที่พันธุ์อื่นจะแข่งกับมูซังคิงคงยาก ส่วนราคาจะเหลือเท่าไร คาดเดายาก อีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน เพิ่มขึ้น คนจีนชอบหมอนทอง แต่เขาก็ชอบสิ่งแปลกใหม่ เขามีกำลังซื้อ ยกตัวอย่าง กาแฟ แก้วละ 70 บาท แย่งกันซื้อ กาแฟริมทาง 15 บาท ขายไม่ได้”

เจ้าของสวนเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนอย่าง ทุเรียนมูซังคิง ปีนี้ราคากิโลกรัมละกว่า 400 บาท คนแย่งกันซื้อผลผลิตไม่พอขาย

การลงทุนดูแลรักษา พันธุ์แปลกใหม่ที่รสชาติดี ดูเท่ากับพันธุ์ตลาดอย่างหมอนทอง แต่ราคาที่ขายได้สูงกว่า

สอบถามได้ที่ สวนจันทวิสูตร สุนทรียรสแห่งทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ โทรศัพท์ (081) 410-0596 และ (086) 384-2936  หรือ FB:Torfan Torrung chantawisurt