อาชีพพระราชทาน เกษตรบนดอย ปลูกมะเขือเทศ ส่งโครงการหลวง รับเดือนละ 10,000 บาท

การพัฒนางานชนบท เป็นงานสำคัญและเป็นงานยากที่ต้องทำโดยอาศัยเวลาเป็นเครื่องช่วยในการพัฒนา ภูมิสังคมประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งสภาพอากาศ พื้นที่ สภาพดิน น้ำและคน ทำให้การทำเกษตรของเมืองไทยมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละพื้นที่ การทำการเกษตรในแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีการศึกษาให้เกิดเข้าใจ และทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับเกษตรกรที่เป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย

p1080722-768x513

อย่างในพื้นที่หมู่บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ก็เช่นกัน ด้วยเป็นพื้นที่สูง อยู่บนดอย การเดินทางเข้าถึงค่อนข้างยาก หมู่บ้านตั้งอยู่ในภูเขาสลับซับซ้อน สภาพอากาศเย็น เมื่อครั้งอดีตการเดินทางเข้ามาที่นี่ลำบาก และทุรกันดารมาก ชาวเขาชุมชนชาวกะเหรี่ยง หรือชาวปกากะญอ ชนพื้นเมืองที่นี่ก็ทำการเกษตรแบบเลื่อนลอย ปลูกฝิ่นบ้าง ทำนาบ้าง ความเป็นอยู่ยากจน แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาถึงที่นี่ ความเป็นอยู่ก็เปลี่ยน

p1080695-768x513

คุณบุญทา พฤกษาฉิมพลี หมอดินดอยอาสาของชุมชนชาวกะเหรี่ยง หรือชาวปกากะญอ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หมอดินโครงการหลวง วัย 53 ปี เล่าให้ฟังว่า “ยุคแรกๆ สมัยก่อนบรรพบุรุษ บนดอยที่นี่ เขาทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย ทำนา ทำไร่ เกษตรกรทำการเกษตรไม่ครบถ้วน ไม่มีความรู้ ไร้ความเข้าใจ พอในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมที่บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ ในตอนนั้นถนนหนทางยังทุรกันดารมาก ลำบากทั้งคนที่อยู่และคนที่มา แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ก็ยังเสด็จพระราชดำเนินมาที่หมู่บ้านแห่งนี้ถึง 6 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมา ก็มักจะถือแผนที่ติดตัวเสมอ ชาวบ้านอย่างเราๆ ต่างก็พูดเล่นกันว่า ท่านถือแผนที่มาก็เพราะกลัวหลงทาง แต่พอมาดูแผนที่จริงๆ ทุกคนกลับเห็นว่า แผนที่ในมือนั้นเป็นแผนที่ที่เอาไว้ใช้ในการเก็บข้อมูลต่างๆ และการเสด็จพระราชดำเนินมาแต่ละครั้ง ท่านจะเก็บข้อมูลไป และเอาไปวิเคราะห์ เมื่อกลับมาอีกครั้งพระองค์จะมาพร้อมกับแนวคิดและการให้ชาวบ้านทดลองปลูกพืช ทำเกษตรต่างๆ เป็นการทดลองและทำงานวิจัย กลายเป็นแนวทางให้ชาวบ้านได้เอาไปปรับใช้ การปลูกพืชที่นี่ เนื่องจากเป็นดอย และเป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น จึงเหมาะกับการปลูกพืชเมืองหนาว และพืชอีกหลายชนิดที่ในพื้นที่อื่นปลูกไม่ได้”

p1080700-768x513

โดยคุณบุญทา เล่าต่อว่า ที่อาสามาเรียนรู้เรื่องดิน และได้มาเป็นหมอดินโครงการหลวงนี้ด้วยก็เพราะเห็นว่า “ดิน” เป็นสิ่งสำคัญมาก ในการเพาะปลูกพืชผักทำการเกษตรต่างๆ ซึ่งการจะปลูกพืชผักให้ดีได้นั้น ดินต้องได้คุณภาพ ต้องมีการปรับปรุงดินเพื่อใช้ในการปลูก ทั้งต้องใช้เวลาในการดูแลดินด้วย จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเกษตร

การวัดค่าดิน ต้องดูค่า pH ความเป็นกรด-ด่าง ดินบนดอยแห่งนี้บางพื้นที่ก็เป็นกรด บางพื้นที่ก็เป็นด่าง ทำให้ต้องมีการปรับค่าดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชในแต่ละชนิด แต่ข้อดีของดินแถบนี้คือสามารถปรับดินเพียงแค่ 1 ครั้งก็สามารถปลูกพืชได้แล้ว ถือเป็นข้อโชคดีของที่นี่ โดยพืชที่นี่สามารถปลูกได้หลากหลายชนิดมากๆ ทั้งกาแฟ ทำนา มะเขือเทศ แตงกวาญี่ปุ่น ดอกไม้นานาชนิด อาทิ ดอกกุหลาบฮอลแลนด์ ดอกลิลลี่อย่าง พันธุ์แฮปปี้เดย์ ไททานิค คูลวอเตอร์ เป็นต้น โดยผลผลิตต่างๆ ที่เกษตรกรในหมู่บ้านผาหมอนทำได้ ส่งขายให้กับโครงการหลวง

viewcrop3to2_newsimage

คุณบุญทา ยังบอกอีกว่า “นอกจากจะเป็นหมอดินแล้ว ตนยังเป็นเกษตรกรด้วย โดยเล่าว่า เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ได้ทดลองปลูกกุหลาบ โดยปลูกแบบระบบซับสเตรต เทคโนโลยีใหม่ โดยโครงการหลวงมาช่วยให้ความรู้ ซึ่งเป็นระบบควบคุมการทำงานแบบคำนวณอัตโนมัติ ทั้งการให้น้ำ การดูแล ก่อนจะเลิกปลูกไป เพราะพื้นที่ที่ทำการปลูกกุหลาบมานานจะทำให้เกิดรากเน่า โคลนเน่า ตอนนั้นปลูกกุหลาบในพื้นที่ 2 ไร่ ลงทุน 1 ล้านบาท 3 ปีจึงใช้ทุนคืนได้หมด แถมยังได้กำไรด้วย ทั้งผมภูมิใจมากตรงที่คนอื่นปลูกกุหลาบไม่ได้ แต่ผมปลูกได้ แค่คนจากโครงการหลวงมาให้ความรู้ ผมก็ปลูกได้เลยอย่างรวดเร็ว”

คุณบุญทา เป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่ทำการทดลองปลูกกุหลาบ กล้าทำ จนประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรต่อไป โดยใช้หลักการปฏิบัติงานแบบอย่างตามแนวในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เป็นในหลวงนักวิจัย ที่พระองค์ทรงสอนชาวบ้านโดยการทำเป็นแบบอย่างให้ดูว่า จะทำเกษตร หรือปลูกอะไร ก็ต้องทำการศึกษาพื้นที่ของตนก่อน แล้วทดลอง ลงมือทำ

ปัจจุบัน คุณบุญทา บอกว่า ตนได้หันมาปลูกมะเขือเทศ 2 พันธุ์คือ เชอร์รี่ และโทมัส เนื่องจากต้องเลิกปลูกกุหลาบบนพื้นที่ของตนเองชั่วคราว ส่วนพื้นที่ของเกษตรกรคนอื่นๆ เขาก็ปลูกกันไป หมุนเวียนไปในแต่ละพื้นที่ โดยผลผลิตมะเขือเทศในพื้นที่ของตนที่ทำได้ ก็จัดส่งในกับโครงการหลวง รายได้รวมเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท แม้ไม่ใช่รายได้ที่มากมายนัก แต่ถือว่าอยู่ได้ดี มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างสบาย ไม่เดือดร้อน การใช้เงินและการดำเนินชีวิตใช้การยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้พอเหมาะ พอดี เหมาะสมกับตัวเรา โดยต้องดูกำลังการทำงานของตนเอง

p1080735-768x513

ส่วนการเก็บเกี่ยวมะเขือเทศนั้น ทำการเก็บเกี่ยวสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ผ่านการตรวจ GAP ให้ได้มาตรฐาน โดยการปลูกสามารถใช้สารเคมีได้ แต่ก็ต้องใช้ไม่เยอะ ต้องทำให้ได้มาตรฐาน และการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งความสุกของมะเขือเทศต้องได้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จึงจะเก็บเกี่ยวได้ ถ้าหากทำไม่ผ่านมาตรฐานของโครงการหลวง ก็ส่งผลผลิตไม่ได้

ด้านการดูแลก็ไม่ยุ่งยาก คุณบุญทา บอกว่า ดูแลเรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ย และการดูแลเรื่องโรคใหม่ๆ เท่านั้น โดยการปลูกพืชบนที่สูงแบบนี้ เกษตรกรต้องรู้จักการปลูกพืชแบบหมุนเวียนและการจัดสรรพื้นที่ของตนเองให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ครั้ง ต้องตรวจดูดิน และการมีความรู้เรื่องดินในการปรับปรุง โดยการปรับดินก็ทำได้ง่ายๆ คือการฝังกลบด้วยพืชต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่เพื่อในเกิดการย่อยสลายหรือการใส่ปุ๋ยหมัก พักดินทิ้งไว้สัก 20 วัน ก็สามารถปลูกพืชได้แล้ว หรือจะทำการปลูกถั่วบางชนิดก็ได้ และหากมีความรู้เรื่องดิน ก็จะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการทำเกษตร คุณบุญทา บอกทิ้งท้าย