วิกฤตน้ำท่วมทุบซ้ำเศรษฐกิจใต้ “เกษตร-ท่องเที่ยว-สวนยาง” ฟุบ

เมืองคอนเจอวิกฤตหนัก จมบาดาลทั้งเมือง ภาคใต้น้ำท่วมใหญ่ การสัญจรถูกตัดขาด ปิดสนามบิน 2 วัน นราธิวาสค้าชายแดน 3 ด่านชะงัก กระทบส่งออกอาหารทะเล ด้านหอการค้าภาคใต้ระบุยังประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้ เหตุฝนตกไม่หยุด ชี้ท่วมหนักกว่าปี”54 ทุบเกษตร-ท่องเที่ยวพังยับ คาดเศรษฐกิจซึมต่อเนื่อง ชาวสวนยางฟุบหนัก เสียโอกาสปั๊มรายได้ยางขาขึ้น ธุรกิจจับตาสถานการณ์ใกล้ชิดท่องเที่ยว-เกษตรเสียหายหนัก

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างมาก เป็นการสะสมน้ำฝนรวมกัน 2-3 สัปดาห์ จนภูเขารับน้ำไม่อยู่ ไหลลงมาท่วมเมืองซึ่งมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก ถนนสาย 41 (ถนนเพชรเกษมสายสี่แยกปฐมพร-สุราษฎร์ธานี-พัทลุง) ถูกตัดขาดหลายจุด ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ ถือว่ารุนแรงกว่าปี 2554 โดยนครศรีธรรมราชเสียหายทั้งจังหวัด ทั้งการประมง ท่องเที่ยว และเกษตร โดยเฉพาะส้มโอทับทิมสยาม คาดว่าแหล่งปลูกที่ อ.ปากพนังเป็นร้อยไร่ต้องโค่นทิ้งหมด ส่วนจังหวัดพัทลุง การเกษตรเสียหายหนัก โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าว

ขณะที่สุราษฎร์ธานีเสียหายด้านการท่องเที่ยว เกษตร (ยาง ปาล์ม และประมง) ส่วนชุมพร เสียหายด้านเกษตร พืชผัก/ผลไม้

ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 9 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร รวม 68 อำเภอ 381 ตำบล 2,507 หมู่บ้าน (ประมาณ 1.5 แสนครัวเรือน) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ส่วนศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระบุว่า มีพื้นที่ภัยน้ำท่วม 12 จังหวัด

ด้านนายธีระชัย ศรีโพธิ์ชัย ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมมา 2 ระลอกแล้ว ขณะนี้ (6 ม.ค. 60) ฝนยังคงตกหนักต่อเนื่องและสภาวะอากาศยังไม่นิ่ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน เนื่องจากสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ปลูกยางพารามากถึง 71% ของพื้นที่การเกษตรทั้งจังหวัด เกษตรกรไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ เสียโอกาสและขาดรายได้จำนวนมาก เพราะตอนนี้ราคายางอยู่ในระดับที่สูง กิโลกรัมละ 71-72 บาท

“คาดว่าจะต้องหยุดกรีดยางอย่างน้อยไปอีกครึ่งเดือน ส่วนบ่อกุ้งยังต้องรอสำรวจข้อมูลหลังน้ำลด แต่สุราษฎร์ฯโชคดีที่มีแม่น้ำลำคลองหลายสาย สามารถระบายน้ำลงทะเลอ่าวไทยได้เร็ว ไม่ท่วมขังนาน แต่ยังต้องติดตามมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะรับน้ำมาจากนครศรีธรรมราชด้วย”

นอกจากนั้นจังหวัดสุราษฎร์ธานียังสูญเสียโอกาส ไม่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะหลังจากที่ทางการประกาศเตือนว่าจะมีมรสุมเข้ามา ทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศยกเลิกการเดินทางไม่น้อยกว่า 50-60%

“อ.เมือง-ทุ่งสง-ชะอวด” สาหัส 

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 23 อำเภอ 98 ตำบล 626 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 215,000 คน 70,000 ครัวเรือน สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือเรื่องอาหารการกิน โดยได้บูรณาการทุกภาคส่วนนำอาหารกล่องและถุงยังชีพเข้าไปแจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมทั้งมีการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวด้วย

ด้านนางสาววาริน ชิณวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า น้ำท่วมครั้งที่ 2 นี้ถือว่าหนักและกระจายพื้นที่เป็นวงกว้างมาก ทำให้ประชาชนเตรียมรับมือไม่ทัน ซึ่งจุดที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะใน อ.เมือง ทุ่งสง และเขตเทศบาลเมือง แม้บางส่วนจะขนย้ายทรัพย์สินไว้แล้ว แต่ปริมาณน้ำมากเกินกว่าที่ประเมินไว้ เช่น ห้างลัคกี้มีน้ำเข้าห้างไปแล้วจากที่ไม่เคยท่วมมาก่อน

สำหรับพื้นที่การเกษตรนั้น หากเป็นพื้นที่โซนภูเขา เช่น อ.ลานสกาและทุ่งสง ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นทั้งยางพารา ปาล์ม หากดินไม่ถล่มหรือสไลด์จะเสียหายไม่มาก ส่วนพื้นที่เกษตรในโซนลุ่มน้ำ เช่น อ.หัวไทร ชะอวด ปากพนัง เป็นแหล่งปลูกผลไม้จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งสวนส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งก่อนหน้านี้เสียหายจากการจมน้ำและโรค กำลังจะฟื้นฟูก็ถูกน้ำมาท่วมซ้ำอีก

ขณะที่พื้นที่ อ.ชะอวดถูกตัดขาดนั้น ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ จึงควรต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก

“เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ แต่คาดว่าจะมากกว่าปี”54 อย่างไรก็ตาม ความเสียหายทางเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชในปีนี้จะหนักมาก เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนมีรายได้ต่ำจากราคายาง ซึ่งหลังจากที่ราคายางขยับขึ้นก็หวังว่าอารมณ์การจับจ่ายจะดีขึ้น แต่มาเจอน้ำท่วมรุนแรงก็ทำให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการต้องนำเงินมาใช้ในการซ่อมแซมฟื้นฟูความเสียหายก่อน เศรษฐกิจในพื้นที่อาจจะซึมต่อไปอีกสักพัก” นางสาววารินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตในวันที่ 6 มกราคม โดยเขตเทศบาลนครศรีฯและอำเภอเมืองมีน้ำไหลทะลักเข้าท่วม โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจการค้าบนถนนสายหลักแทบทุกสายไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลมหาราชระดับน้ำสูงเกือบเมตร การสัญจรต้องใช้รถยกสูงและเรือเท่านั้น

นราธิวาสค้าชายแดนชะงัก

นายศรัณย์ วังสัตตบงกช ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาสยังไม่คลี่คลาย แต่ถ้าฝนไม่ตกลงมาเพิ่มอีกคาดว่าน้ำจะเริ่มลดระดับภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งยังไม่กระทบโซนเศรษฐกิจในอำเภอเมือง แต่ส่วนใหญ่จะกระทบบ้านเรือนราษฎร พื้นที่เกษตรกรรม และการค้าขายบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย เพราะการสัญจรไปมาลำบาก ถนนหลายสายถูกตัดขาดทำให้ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงไปชายแดนหยุดชะงัก สูญเสียโอกาสทางธุรกิจมหาศาล

นายศิริพงษ์ วุฑฒินันท์ นายด่านศุลกากรตากใบ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า น้ำท่วมกระทบการค้าชายแดนทั้ง 3 ด่านในจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ ด่านศุลกากรตากใบ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และด่านศุลกากรบูเก๊ะตา รถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ การค้าขายชายแดนเงียบเหงา ธุรกิจส่งออกปลาทะเล และสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับผลกระทบมากที่สุด

สยยท.รับบริจาคเงินช่วยชาวสวนยาง

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในฐานะประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ขณะนี้ชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรง บางพื้นที่น้ำท่วมหนักไม่เคยปรากฏมาก่อน และท่วมทุกจังหวัดต่อเนื่องมา 10 กว่าวันแล้ว สร้างความเสียหายให้แก่ชาวสวนยางเป็นจำนวนมาก จึงขอวิงวอนคนไทยร่วมกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางด้วย

ธุรกิจจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด

นายภีม ลิ่วลม ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภค บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยเกิดขึ้นทุกปี บริษัทมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ และทางฝั่งที่ดูแลด้านโลจิสติกส์มีแผนสำรองในกรณีนี้เอาไว้อยู่แล้ว เพื่อให้การจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นางสาววรวิมล กรรมารางกูร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สก๊อต อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพและความงาม สก๊อต กล่าวว่า บริษัทได้จับตาสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งภายในสัปดาห์นี้หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายก็จะมีการหารือร่วมกับคู่ค้าเพื่อหาแนวทางรับมือ ซึ่งบริษัทยังไม่กังวลมากนัก เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้ทางร้านค้าได้สั่งสินค้าเพื่อสต๊อกสำหรับหน้าขายช่วงปีใหม่จำนวนมาก จึงคาดว่ายังมีสินค้าที่เพียงพอสำหรับการขายในช่วงนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม

ด้านศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครศรีธรรมราช ได้ประกาศปิดทำการ 1 วัน (6 มกราคม 2560) เนื่องจากสถานการณ์น้ำที่ท่วมรอบนอกศูนย์การค้าจึงเป็นปัญหาสำหรับการเดินทางของร้านค้าและลูกค้าเป็นอย่างมากแต่ในส่วนของ Tops Supermarket และ Food Park ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ และยังบริการที่จอดรถแก่ผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 500 คัน