สมเกียรติ แซ่เต็ง ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นปี 2562 ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร อำเภอเมืองตราด

นายสมเกียรติ แซ่เต็ง

นายสมเกียรติ แซ่เต็ง อายุ 38 ปี การศึกษา จบปริญญาโท (วิจัยการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยู่ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ 488/2 หมู่ที่ 1 อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด โทรศัพท์ 086-511-3317 อาชีพรับราชการ

ผลงานดีเด่น

อาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง เป็นนิสิตทุนในโครงการเร่งรัดผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาตรีสาขาวิชาคณิตศาสตร์ของประเทศ ภายหลังจากจบการศึกษาจึงได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้มาเป็นครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม ปี 2546 และด้วยความสนใจในธรรมชาติ รักการปลูกต้นไม้และงานเกษตร ประกอบกับได้มีโอกาสในการจัดตั้งชุมนุมอิสระขึ้นภายในโรงเรียน จึงได้ริเริ่มจัดตั้งชุมนุมกล้วยไม้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งที่รวมของนักเรียนที่สนใจในเรื่องของการปลูกกล้วยไม้ เพื่อให้ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ภายหลังได้พัฒนารูปแบบและศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยมุ่งหวังให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องของการบริหารและจัดการจึงได้จัดตั้งเป็นกลุ่มยุวเกษตรกร ในปี 2555

สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรคือ ความมุ่งมั่นในเรื่องของการสร้างอาชีพ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และการปลูกจิตสำนึกในวิถีเกษตรให้แก่นักเรียน มีแนวคิดที่จะให้นักเรียนเป็นผู้เริ่มต้นคิด มีส่วนร่วมกับกิจกรรม และสร้างความตระหนักด้วยตนเองว่า กิจกรรมที่เขาได้มีส่วนร่วมนั้น มีคุณค่าและเกิดประโยชน์แก่ชีวิต การได้มาซึ่งรายได้มีความสอดคล้องกับความรู้ที่ถูกใช้มากน้อยเพียงใด การพัฒนางานจำเป็นต้องเกิดจากการศึกษาค้นคว้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรต้องมีส่วนร่วมกัน ซึ่งผลสุดท้ายของการดำเนินกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกรคือ การเป็นเกษตรกรที่มุ่งมั่นในการพัฒนาสายงานของตนเองอย่าง มีระบบ ระเบียบ ขั้นตอน รู้จักแสวงหาองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รอบตัว อีกทั้งยังมีจิตสำนึกที่ดีแก่ตนเองและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนต่อไป

ออกนอกสถานที่

แนวคิดในการทำงาน และการพัฒนางานในรูปแบบของอาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง

  1. ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาในการทำงาน ตลอดช่วงระยะเวลาการเป็นที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร รูปแบบของการบริหารงานของกลุ่มและสภายุวเกษตรกรได้วางแผนและร่วมกันทำงานที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ พัฒนาอาชีพของตนเองโดยยึดหลักการทำงานและการพัฒนางาน คือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  2. บูรณาการการเรียนการสอนของกลุ่มยุวเกษตรกรโดยเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและเชื่อมโยงกับโครงงานวิทยาศาตร์ และโครงงานอาชีพ
  3. ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรมีความคิดริเริ่มในการทำงานร่วมกัน
  4. จัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกับสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และสภายุวเกษตรกร อย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกกระบวนการประชาธิปไตยและภาวะผู้นำผู้ตามในการประชุมสภายุวเกษตรกร
  5. ให้คำแนะนำสมาชิกในการปฏิบัติงานรวม งานกลุ่มย่อยและแนะนำให้ไปปฏิบัติที่บ้านของตนเอง
  6. ศึกษา ค้นคว้านำเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
  7. ประสานงานขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้และสนับสนุนการปฏิบัติงานเสมอ
  8. ประชาสัมพันธ์ผลงานกลุ่มให้ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานทราบเสมอ

ความสำเร็จ

จากความเพียรพยายามของการดำเนินการในกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรมาโดยตลอดจนทำให้กิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด โดยมีผลงานเชิงประจักษ์ ดังนี้

  1. สามารถปลูกฝังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ดังเห็นได้จาก รางวัลสถานศึกษาต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีการศึกษา 2552
  2. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมด้านการเสียสละ ทุ่มเท ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย สามารถปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
  3. สมาชิกยุวเกษตรมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร อย่าต่อเนื่องสืบต่อกิจกรรมรุ่นต่อรุ่น
  4. สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพแก่กลุ่มยุวเกษตรกรเพื่อเป็นการหารายได้ระหว่างเรียนของสมาชิก
  5. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเต็มใจ และเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน
  6. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 90 ในแต่ละปีการศึกษาสามารถเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อ ในสถาบันการศึกษาของรัฐและจบมาอย่างมีคุณภาพ

ผลการทำงานที่เกิดกับผู้ปกครองและชุมชน

  1. ผู้ปกครองและชุมชน เห็นความสำคัญของการทำงานด้านการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่นและให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในด้านงานเกษตรและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
  2. ผู้ปกครองมีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงานของกลุ่มยุวเกษตรกร สังเกตได้จากการที่สนับสนุน ให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในวันหยุด และความร่วมมืออื่นๆ ทุกครั้งที่มีการประสานขอความร่วมมือ
  3. ชุมชนท้องถิ่นให้การสนับสนุนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจกรรม มีการประชาสัมพันธ์โครงการ และกิจกรรมของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ
  4. ชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังปลูกฝังให้เยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชุมชนในอนาคตมีจิตสำนึกที่ดีอีกด้วย

และยังได้รับรางวัลผลงานต่างๆ มากมาย อาทิ

  1. ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนหน่วยงานสังกัด สพฐ. และโรงเรียนมัธยมศึกษานำเสนอกิจกรรมในงานวันตราดรำลึก ณ ศาลากลางจังหวัดตราด ปี 2547-2560
  2. รางวัลหนึ่งแสนครูดี ของคุรุสภา ปี 2554
  3. รางวัลครูดีในดวงใจ ปี 2554-2560
  4. รางวัลผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของ สพฐ. ปี 2555
  5. รางวัลที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด ปีการศึกษา 2558-2560
  6. รางวัลที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับภาค ปีการศึกษา 2558
  7. รางวัลผู้มีผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศระดับภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ 4H
  8. รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2559
  9. ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศเกาหลี
  10. รางวัลนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ของ สพฐ. ระดับประเทศ ปี 2560
  11. ได้รับรางวัลชนะเลิศการวางแผนพัฒนาเมือง ไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญและมอบหมายให้เป็นวิทยากรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกร งานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านงานอาชีพและการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานอาชีพ สิ่งแวดล้อม และวิทยากรพี่เลี้ยงประจำค่ายต่างๆ

สนุกสนานเป็นกันเอง

คุณภาพงานและความยั่งยืนในอาชีพ

ด้วยแนวทางการพัฒนางานของอาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความเจริญมั่นคงอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ จะเห็นได้จากผลงานและชื่อเสียงของกลุ่มยุวเกษตรกร ที่มีระบบบริหารจัดการองค์กรอย่างมีคุณภาพซึ่งตลอดเวลาการเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มกิจกรรมดังกล่าวนี้ อาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง ได้ร่วมวางแผนและพัฒนามาโดยตลอด โดยเล็งเห็นว่า เมื่อกิจการนักเรียน สามารถพัฒนาได้และบริหารได้ด้วยนักเรียนแล้ว ก็ย่อมมีความมั่นคง และยั่งยืนด้วยคุณภาพอันเกิดจากการบริหารงานภายใต้หลักการความรู้คู่คุณธรรม

นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนางานของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมที่อาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง ได้ดำเนินการผลักดันและพัฒนารูปแบบและวิธีการมาโดยตลอดนี้ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมทางการศึกษาดีเด่นและได้เป็นตัวแทนไปนำเสนอ Best Practice ในเวทีระดับชาติ และเป็นที่ยอมรับจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานและองค์กรภาครัฐได้เข้ามาถ่ายทำรายการโทรทัศน์ อาทิ รายการโทรทัศน์ครู ที่มาถ่ายทำผลงานการจัดการเรียนการสอนเชิงอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษา รายการข่าวช่อง 11 มาถ่ายทำการจัดกิจกรรมของครูผู้นำกลุ่มยุวเกษตรกร การถ่ายทำสกู๊ปข่าวการจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม รายการใต้เบื้องพระยุคลบาท เป็นต้น

ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ

อาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นรองผู้อำนวยการเป็นการภายใน ปฏิบัติหน้าที่งานด้านวิชาการของโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม และดูแลงานด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยตรง นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมครูคณิตศาสตร์ของจังหวัดตราดและยังได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตราดเพื่อการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและงานด้านการศึกษาของจังหวัดตราด

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ นอกจากด้านงานสอน และในฐานะที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร แล้วยังได้ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องและโดยสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านคุณธรรมจริยธรรม ที่ได้ร่วมเป็นวิทยากรงานค่ายคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน งานด้านการกุศล อีกทั้งการให้ความรู้ด้านงานอาชีพและจัดแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนและผู้สนใจ

ตลอดระยะเวลาดำเนินกิจกรรมการเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักเรียนทั้งในส่วนของกิจกรรมชุมนุมและกลุ่มยุวเกษตรกร มุ่งเน้นในเรื่องของจิตอาสาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มที่เน้นการดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทางหลักมาโดยตลอด โดยได้รับรางวัลเชิงประจักษ์ในด้านนี้คือ รางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2558