กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดเวทีรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ก่อนทยอยประกาศใช้ภายใน 2 ปี

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเวทีรับฟังความเห็น 2 วันต่อเนื่อง ถกร่างกฎกระทรวง 13 ฉบับกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ พ.ศ. 2562 เตรียมนำความเห็นฝั่งสหกรณ์สรุปเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา พร้อมทยอยประกาศใช้ภายใน 2 ปี

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นพิจารณาร่างกฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลูกประกอบพระราชบัญญัติสหกรณ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 89/2 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนเป็นการเฉพาะ จำนวน 13 ฉบับ โดยแบ่งเป็น 1. การกำหนดขนาดของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 2. การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการดำเนินการสหกรณ์และผู้จัดการ 3. การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ 4. การให้กู้และการให้สินเชื่อ 5. การรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันด้วย 6. การดำรงเงินกองทุน 7. การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 8. การฝากเงินหรือการลงทุน 9. การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล 10. การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง 11. การจัดทำบัญชี การจัดทำและการเปิดเผยงบการเงิน การสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี 12. การจัดเก็บและรายงานข้อมูล และ 13. เรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานและกำกับดูแล

ทั้งนี้ กรมได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนติดต่อกัน 2 วัน คือวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เป็นเวทีรับฟังความเห็นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 154 แห่ง และในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เป็นการรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่จำนวน 1,771 แห่งทั่วประเทศ โดยได้ถ่ายทอดสดผ่าน Video Conference ไปยังทุกจังหวัด ซึ่งการจัดทำร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 จำนวน 13 ฉบับนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยกร่างจนเสร็จสิ้น และได้มีการประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตสหกรณ์ยูเนี่ยน เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมสหกรณ์ และจัดประชุมตัวแทนสหกรณ์และเครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้ที่ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมพร้อมรับฟังความคิดเห็นรวมถึงปัญหาอุปสรรคของสหกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลังจากที่กฎกระทรวงนี้ถือบังคับใช้ ซึ่งการถือใช้กฎหมายนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคง ในการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน และยังคงยึดหลักอุดมการณ์และวิธีการสหกรณ์เหมือนเดิม เพียงแต่บางเรื่องจำเป็นต้องมีเกณฑ์ออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80% จากปริมาณสินทรัพย์ของสหกรณ์ทุกประเภทรวมกัน ดังนั้น สหกรณ์ต้องสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิก เนื่องจากสมาชิกเป็นผู้ถือหุ้นในสหกรณ์ ฝากเงินในสหกรณ์ และส่วนหนึ่งก็กู้ยืมเงินสหกรณ์ไปใช้ในการดำรงชีวิต พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่จะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการกำกับสินเชื่อ เงินฝากและค่าหุ้นของสมาชิก และช่วยคุ้มครองเงินของสมาชิกที่อยู่ในสหกรณ์ ส่วนผู้ที่กู้เงินจากสหกรณ์ไปก็ใช้ตามหลักเกณฑ์ใหม่ เรื่องของการกำกับดูแลไม่ให้เกิดหนี้เสีย และช่วยให้การใช้เงินไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์จะลดน้อยลง ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงและเกิดประโยชน์ต่อสมาชิก และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสหกรณ์โดยรวม

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดรับฟังความเห็นตลอดระยะเวลา 2 วันนี้ ตัวแทนสหกรณ์ต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ บางส่วนขอให้ชะลอและทบทวนการออกกฎกระทรวงในบางข้อที่จะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องการลงทุนของสหกรณ์ การรับฝากเงินของสหกรณ์ การให้เงินกู้แก่สมาชิกและการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งฝั่งสหกรณ์อยากให้รับฟังความเห็นให้ครบถ้วนและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรมจะรับข้อเสนอและความคิดเห็นจากตัวแทนสหกรณ์มาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งกฎหมายให้เวลา 2 ปี กรมจะต้องทยอยประกาศใช้จนกว่าจะครบ 13 ฉบับ หากเรื่องไหนที่ความคิดเห็นยังไม่ตรงกัน ก็จะจัดเวทีเชิญฝ่ายสหกรณ์และผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุดกับสหกรณ์

สำหรับพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายสำคัญในการกำกับดูแล คุ้มครอง และพัฒนาระบบสหกรณ์ทั่วประเทศได้ถูกประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา และกำลังจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน คือ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ซึ่งความเป็นมาของ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่นี้ ได้ปรับปรุงจาก พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 โดยการแก้ไขรายละเอียดบางมาตราให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น