เพิ่มมูลค่า “ผักตบชวา-ขยะอินทรีย์” แปรรูปเป็น “ปุ๋ยหมัก” สร้างรายได้

ผักตบชวา เป็นวัชพืชน้ำที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถขยายพันธุ์โดยการแตกไหลกลายเป็นลำต้น  ผักตบชวารวมกลุ่มกันแน่น แต่เมื่อโดนกระแสน้ำจะไหลขาดออกจากกัน กระจายตัวออกเป็นส่วนย่อยๆ ง่ายต่อการกระจายพันธุ์ไปในที่ต่างๆ และเพิ่มปริมาณจนหนาแน่นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางน้ำ กีดขวางทางไหลของน้ำ การขนส่งคมนาคมทางน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน

ผักตบชวา ที่มีอายุ 1 เดือน จะมีความสูงเฉลี่ย 40 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะให้น้ำหนักสด 10 ตัน ส่วนผักตบชวาที่อายุ 4 เดือน ความสูง 100 เซนติเมตร จะให้น้ำหนักสด 30 ตัน เนื่องจากผักตบชวาสด มีน้ำเป็นส่วนประกอบในตัวแล้ว ยังมีน้ำที่ติดมากับรากและใบผักตบชวากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การขุดลอกผักตบชวาจากแหล่งน้ำจำนวนมากๆ เพื่อขนส่งไปทิ้งจึงทำได้ยาก เพราะมีน้ำหนักมาก หากนำผักตบชวามากองบริเวณลำน้ำโดยขาดการบริหารจัดการที่ดี จะส่งกลิ่นเน่าเหม็นก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ผักตบชวา เป็นพืชที่มีระบบรากฝอยจำนวนมาก จึงดูดซับแร่ธาตุต่างๆ จากตะกอนในน้ำเก็บไว้ในส่วนลำต้นและราก เฉลี่ยมีปริมาณไนโตรเจนไม่น้อยกว่า 1% ฟอสฟอรัส 0.25% และโพแทสเซียม 4% ส่วนโลหะหนักในผักตบชวา พบว่าต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ ผักตบชวายังมีสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน 30:1 จึงกล่าวได้ว่า ผักตบชวา จัดเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการทำปุ๋ยหมัก ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงแนะนำให้นำผักตบชวาที่ขุดลอกจากแหล่งน้ำมาใช้เป็นวัสดุในการทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และ พด.1 ช่วยในการย่อยสลายและลดกลิ่นเหม็น

นวัตกรรมเครื่องหมักปุ๋ย

วช. หนุนใช้ “นวัตกรรม” แก้ปัญหา

“โครงการนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” เป็น 1 ใน 8 โครงการที่ ภาครัฐบาลและศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 ได้น้อมนำพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาแปลงเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

วช. มอบเครื่องหมักปุ๋ยให้ชุมชน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า เพื่อสืบสานพระราชดำริและต่อยอดโครงการดังกล่าว วช. ได้จัดกิจกรรม “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” ภายใต้ “โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดกิจกรรมนำร่องขึ้น ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรก เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา มีรายได้จากการนำวัชพืชและผักตบชวามาทำปุ๋ยหมักหรือดินปลูก เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและจำหน่าย ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในคลองและลำน้ำดีขึ้น และผลักดันให้เกิดเป็นต้นแบบชุมชนในการจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

การดำเนินงานอาศัยข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการวัชพืชและผักตบชวา ที่สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การนำมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน งานหัตถกรรม การใช้เพื่อการบำบัดน้ำ การใช้เพื่อผสมเป็นอาหารสัตว์ การนำมาหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการนำมาทำเป็นวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ย แต่กิจกรรมการนำวัชพืชและผักตบชวามาแปรรูปในการทำปุ๋ยหมักหรือดินปลูก เป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างดี

การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ วช. ได้นำนวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” ผลงานวิจัยของ ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับทุนสนันสนุนจาก วช. และ “ระบบคลังความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาลำน้ำ” บนเว็บไซต์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (www.krw.nrct.go.th) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาลำน้ำและชีวิต แก้ไขปัญหาลำน้ำได้ตรงความต้องการของชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มรายได้ให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์

นวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก”

นวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” มี 2 ขนาด ได้แก่

  1. เครื่องผลิตปุ๋ยหมักขนาดเล็กสำหรับครัวเรือน ความจุถังหมัก 80 ลิตร และ
  2. เครื่องหมักปุ๋ยขนาดใหญ่สำหรับภาคการเกษตร ความจุถังหมัก 400 ลิตร เครื่องหมักปุ๋ยรุ่นนี้มีคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะ ประกอบด้วย ถังหมักหรือถังปฏิกิริยา ชุดอุปกรณ์กวนผสม ช่องระบายปุ๋ยหมัก ผลงานชิ้นนี้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1.5 แรงม้า ใช้ไฟ 220 โวลต์ มีระบบป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน (Overload) โดยกระแสไฟจะถูกตัดเพื่อป้องกันความเสียหายของมอเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีล้อเลื่อนทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย และล็อกเบรกเพื่อควบคุมไม่ให้เคลื่อนที่
ดร. ลักขณา โชว์ปุ๋ยหมัก

ขั้นตอนการใช้งาน เพียงแค่นำขยะอินทรีย์ ได้แก่ เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ หรือวัชพืชต่างๆ เช่น จอก แหน ผักตบชวา และใบไม้แห้ง ใส่ลงถังหมัก เครื่องผลิตปุ๋ยหมักมีมอเตอร์ในการขับใบพัดกวนที่อยู่ภายในถังหมักเพื่อพลิกกลับกองเป็นการเติมอากาศเข้าสู่กองปุ๋ยหมัก โดยใบพัดกวนผสมหมุนได้ 2 ทิศทาง (หมุนไปทางข้างหน้าและหมุนกลับ) เพื่อกวนผสมทุกครั้งที่มีการเติมขยะอินทรีย์ในถังหมัก ช่วยให้อากาศไหลวนเข้าไปเพื่อเอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดที่ใช้ออกซิเจน เกิดการย่อยสลายได้เร็วขึ้น ทำให้ได้สารฮิวมัสที่มีลักษณะคล้ายดิน ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้เพื่อการบำรุงดินหรือนำไปผสมวัสดุอื่นๆ เพื่อการปลูกต้นไม้

ผักตบชวา

ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยหมัก ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำปุ๋ยหมักและทุ่นแรงในการพลิกกลับกองปุ๋ย เหมาะสำหรับใช้ในบ้านเรือนและหน่วยงานที่มีขยะอินทรีย์ประเภทเศษผัก เศษอาหาร ใบไม้แห้ง วัชพืชน้ำประเภทจอก แหน ผักตบชวา หรือเหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในแปลงเกษตร

ในการใช้งาน เกษตรกรสามารถเติมขยะอินทรีย์เข้าระบบได้ทุกวันและทุกเวลา ถ้ามีขยะอินทรีย์ ทำการควบคุมสัดส่วนของขยะอินทรีย์ประเภทต่างๆ เช่น อินทรียวัตถุสีเขียว สีน้ำตาล และความชื้นให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการย่อยสลายได้ดีและเร็ว

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยหมัก

จากผลงานวิจัยของ ดร. ลักขณา พบว่า เมื่อใช้เศษอาหาร 2 ส่วน ต่อเศษผัก 1 ส่วน และใบไม้แห้ง 1 ส่วน (โดยน้ำหนัก) หรือใช้เศษอาหารและเศษผัก 1 ส่วน ต่อใบไม้แห้ง 3 ส่วน (โดยปริมาตร) ขยะอินทรีย์ในถังหมักจะเกิดการย่อยสลายและเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยหมักได้ในระยะเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเติมขยะลงถังหมักได้ทุกวัน จนกว่าจะเต็มถังจึงนำปุ๋ยหมักออก และนำปุ๋ยหมักที่ได้นั้นกองหรือใส่เข่งตั้งไว้จนกว่าอุณหภูมิของปุ๋ยหมักเท่ากับอุณหภูมิบรรยากาศ ซึ่งแสดงว่าสภาวะการย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์ สามารถนำปุ๋ยหมักไปใช้งานได้

ปุ๋ยหมักที่ผลิตได้ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยหมักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ มีปริมาณไนโตรเจน ประมาณ 2.5-3% ฟอสฟอรัส 0.4-1% โพแทสเซียม 0.8-2% นำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ หรือเป็นวัสดุปรับปรุงดินได้อย่างดี

ดร. ลักขณา ให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการผลิตปุ๋ยหมัก

ปัจจุบัน นวัตกรรมเครื่องหมักปุ๋ยของ ดร. ลักขณา ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงเรียนและภาคการเกษตรในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย สตูล นครศรีธรรมราช นครปฐม สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร ฯลฯ โดยตัวอย่างที่นำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสถาพรวิทยา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ได้นำนวัตกรรมนี้ไปใช้ผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกคุณภาพสูง โดยสร้างยี่ห้อของตัวเอง ในชื่อ “E-ดอกลูกดก” และกองทุนชุมชนเมืองวัดท่าพูด ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นำไปใช้ผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกจากผักตบชวา โดยตั้งชื่อยี่ห้อสินค้าของตัวเองว่า “ดินกองทุนชุมชนวัดท่าพูด” เป็นต้น

ดร. ลักขณา โชว์ปุ๋ยหมักที่ผลิตได้

สำหรับผู้อ่านที่สนใจนวัตกรรมเครื่องหมักปุ๋ย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ถนนมาลัยแมน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 E-mail: [email protected] Mobile: 094-4635614