“สักทอง” ไม้มีค่า ปลูกอย่างไรให้ได้ผลดี

ภาพจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

ไม้สักทอง เป็นไม้โตเร็วปานกลางและเป็นไม้เนื้อแข็ง ที่มีลักษณะพิเศษกว่าไม้ชนิดอื่น โดยเฉพาะเนื้อไม้ มอด ปลวก และแมลง ไม่ทำอันตราย เนื้อไม้มีสีเหลืองทอง ลวดลายสวยงาม เลื่อยไสกบตบแต่งง่าย จึงนิยมใช้ทำบ้านเรือนที่ต้องการความสวยงาม ในสมัยโบราณไม้สักทองหาง่าย ราคาไม่แพง การสร้างบ้านเรือน ใช้ไม้สักทองทำเสาเรือนด้วย เพราะมีความทนทาน สามารถอยู่ในดินได้เป็นเวลานานๆ ปัจจุบันไม้สักทองหายากและมีราคาแพงมากขึ้น

ภาพจาก http://www.satitm.chula.ac.th/cudbiomap/plants_pages/teak.html

สภาพพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกต้นสัก

ต้นสักเจริญเติบโต และให้คุณภาพของเนื้อไม้ดี ต้องการสภาพพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,000 เมตร ดินควรเป็นดินร่วนปนทรายที่กำเนิดมาจากหินปูน เนื่องจากมีธาตุแคลเซียมสูงเป็นที่ต้องการของต้นสัก หน้าดินลึกระบายน้ำได้ดี มีฝนเฉลี่ย 1,250-2,500 มิลลิเมตร ต่อปี ต้องการแสงจ้าและอุณหภูมิระหว่าง 13-40 องศาเซลเซียส ต้นสักจะให้ผลดียิ่งขึ้นถ้าปลูกในพื้นที่มีความลาดเอียง 15 เปอร์เซ็นต์

 

การขยายพันธุ์ และแหล่งจำหน่ายพันธุ์

การขยายพันธุ์ ปัจจุบันนิยมปลูกด้วยเหง้าที่ได้จากการนำเมล็ดสักที่แก่จัด เพาะลงในแปลง ขนาด 1×20 เมตร ยกระดับสูง 20-30 เซนติเมตร ย่อยดินให้ละเอียด ปรับผิวแปลงให้เรียบ หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ให้ใส่ปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 200 กิโลกรัม ต่อไร่ คลุกเคล้าลงในดิน ปลูกระยะ 25×60 เซนติเมตร โดยการเปิดหลุมตื้น ๆ วางเมล็ดลงในหลุม กลบดินตื้น ๆ รดน้ำพอชุ่มคลุมด้วยฟางข้าว

หากต้องการให้ได้ผลดี ควรเพาะเมล็ดในต้นฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เมล็ดสักจะงอกภายใน 30 วัน เนื่องจากกล้าสักต้องการแสงแดดจัดจึงไม่จำเป็นต้องทำหลังคาพรางแสงแต่อย่างใด หมั่นเก็บวัชพืชในแปลงให้สะอาด เมื่อมีอายุครบ 8-10 เดือน จะได้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นกล้าบริเวณคอของราก 1-1.5 เซนติเมตร

จากนั้นรดน้ำพอชุ่มแล้วถอนต้นกล้าจากแปลง ใช้มีดคมและสะอาดตัดรากฝอยออกจนหมด พร้อมกับตัดปลายรากแก้วทิ้ง ส่วนบนของลำต้นตัดเหนือคอราก 1 นิ้ว ให้มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ต้นกล้าที่ถูกตัดแต่ง ที่ได้เรียกว่า เหง้าสัก มัดรวมกันหลายเหง้าเก็บในร่มรำไร หากยังไม่พร้อมปลูกควรเก็บในหลุมทรายที่ชื้นเล็กน้อย ระยะปลูก 2×2, 3×3, 4×4 หรือ 6×6 เมตร จะให้ผลไม่แตกต่างกัน แต่เป็นที่นิยมที่สุดคือ ระยะ 2×2 เมตร หรือ 400 ต้น ต่อไร่ เนื่องจากมีการแข่งขันการยืดตัวในช่วงแรก มีผลทำให้ต้นตั้งตรง เรือนยอดชิดกันได้เร็ว จึงสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ ครบ 5 ปี ตัดสางจำหน่ายได้ ให้เหลือระยะปลูก 2×4 เมตร หรือ 4×4 เมตร อายุ 15 ปี ตัดจำหน่ายได้

การปลูก ขุดหลุมลึก 20 เซนติเมตร วางเหง้าสักลงในหลุมให้ตั้งตรง กลบดินระดับ คอเหง้า หรือรอยต่อระหว่างรากกับต้น กลบดินอัดให้แน่นพอประมาณอย่าให้มีโพรงอากาศในหลุมปลูก เพราะน้ำจะขังหลังฝนตก หรือในช่วงแล้งเหง้าจะแห้งตาย ช่วงปลูกที่ดีที่สุดต้องปลูกในต้นฤดูฝนจะมีอัตรารอดตายสูง เหง้าที่สมบูรณ์อายุ 1 ปี ต้นสักจะเจริญเติบโตให้ความสูง 2-3 เมตร ต้นที่ตายให้ปลูกซ่อมทันที

ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 25 กรัม ต่อต้น ปีละ 2 ครั้ง ต้นฝนและปลายฝน ระยะ 1-2 ปีแรก ลิดกิ่งระโยงระยางที่ไม่ต้องการทิ้งไป ปีต่อไปอาจใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราต้นละ 200 กรัม โรยรอบโคนต้นแล้วกลบดิน หากเห็นว่าเจริญเติบโตแข็งแรงดีควรเว้นการใส่ปุ๋ยบ้างก็ได้ ส่วนศัตรูของต้นสักไม่ค่อยรุนแรง อาจพบหนอนกินใบสักเข้าทำลาย ในบางฤดูสามารถกำจัดได้โดยสารเคมีตามความจำเป็น ไฟป่า อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วงแล้ง จึงหมั่นดูแลแปลงปลูกอยู่เสมอ ครบ 15 ปี ตัดฟันไปใช้ประโยชน์ได้

ภาพจาก http://www.satitm.chula.ac.th/cudbiomap/plants_pages/teak.html

แนวโน้มของอนาคตจะเป็นอย่างไร

อนาคตไม้สักยังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอน แต่กว่าจะให้ผลผลิตได้ต้องใช้เวลา 10-15 ปี ขึ้นไป หากคิดผลตอบแทนปีต่อปี ต่อไร่ ก็คงจะไม่มากอย่างที่คิด แต่ถ้าจะปลูกไว้ให้เป็นมรดกของลูกหรือหลานก็ถือว่าน่าสนใจ และอาจจะเรียกว่า โครงการพ่อปลูกลูกรวย ก็คงไม่ผิด