ไก่แสมดำ อุทัยธานี สัตว์เลี้ยงพื้นบ้าน หายาก ราคางาม

ความโดดเด่นของจังหวัดอุทัยธานี หากไม่นับรวมสถานที่ ก็น่าจะเป็นปลาแรดในลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่มีความโดดเด่นขีดสุด ที่เมื่อเอ่ยถึงปลาแรด ก็เข้าใจได้ทันทีว่า เป็นของดีจังหวัดอุทัยธานี แต่ถ้าเอ่ยถึง “ไก่แสมดำ” อาจต้องหยุดคิดก่อนจะเอ่ยถามว่า เป็นไก่ชนิดใด มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดอุทัยธานีได้อย่างไร

คุณสวาท สมานกสิกรณ์

แท้จริงแล้ว ไก่แสมดำเป็นไก่สายพันธุ์เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดไก่แสมดำมาก จนได้ชื่อว่า “ไก่พ่อขุน” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือก็ทรงโปรดเช่นกัน ซึ่งก็เป็นหลักฐานว่า ไก่แสมดำมีมาแต่โบราณกาลนั้น มีถิ่นกำเนิดทางภาคกลาง ตั้งแต่ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี และจังหวัดใกล้เคียง

และปัจจุบัน ไก่แสมดำกลายเป็นไก่ที่จังหวัดอุทัยธานีเห็นคุณค่า เริ่มนำกลับมาอนุรักษ์สายพันธุ์ และมีเกษตรกรที่สนใจนำมาเลี้ยง เพาะจำหน่ายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

โรงเรือน ต้องป้องกันยุง

แต่ก่อนจะถึงเรื่องของการเพาะขยายพันธุ์ เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของจังหวัด และเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ ก็น่าจะต้องอธิบายเรื่องไก่แสมดำอย่างต่อเนื่องเสียก่อน

ไก่แสมดำเป็น 1 ใน 4 เฉดสีใหญ่ๆ ของไก่พันธุ์ประดู่หางดำ อันได้แก่

การันตี มาตรฐานสายพันธุ์
  1. ประดู่มะขามไหม้ ตาไพล
  2. ประดู่แสมดำ ตาดำ
  3. ประดู่แข้งเขียว ตาลาย
  4. ประดู่แดง

และนี่ก็คือ ประดู่แสมดำ ตาดำ ที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า ไก่แสมดำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่เหลือน้อยลง จนใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งลักษณะเด่นของประดู่แสมดำหรือไก่แสมดำ คือ ปาก แข้ง เล็บ ขนปีก หาง มีสีดำสนิท ยกเว้นสร้อยปีก สร้อยคอ สร้อยหลัง และสร้อยระย้า จะเป็นสีประดู่ดำหรือมะขามไหม้ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ เมื่อยืนแล้วดูสง่างามน่าเกรงขาม และด้วยคุณค่าของพันธุกรรมไก่ชนที่ดีเด่นมีความอดทนเป็นเลิศ

หงอน

ด้วยคุณค่าทางพันธุกรรมของไก่แสมดำเพศผู้ที่มีความอดทนเป็นเลิศและเป็นสายพันธุ์ไก่ชนอยู่แล้ว จึงทำให้ไก่แสมดำเป็นที่นิยมมากในกลุ่มนักปรับปรุงสายพันธุ์

แข้ง

ไก่แสมดำถูกนำกลับมาเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และปลุกปั้นให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจหนึ่งของจังหวัดมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจังหวัดอุทัยธานีเคยจัดให้มีการประกวดเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงและเพื่อการอนุรักษ์มาแล้ว โดยเกณฑ์ในการจัดประกวดที่ผ่านมาจะมีหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

ปล่อยให้ฟักไข่เอง อัตรารอด 98 เปอร์เซ็นต์

ไก่เก่ง ไก่ประเภทนี้จะนำไปเป็นไก่ชน ราคาลูกไก่จะอยู่ที่ตัวละ 500 บาท แต่หากไก่เคยแข่งขันมาแล้ว 2-3 ไฟต์แล้วชนะ ราคาจะขึ้นเป็น 2,000 บาทต่อตัว แต่หากแข่งขันมากกว่า 5 ไฟต์แล้วชนะ ราคาจะขึ้นสูงถึง 40,000-50,000 บาทต่อตัว

ไก่โก้หรือไก่สวยงาม ถูกต้องตามลักษณะไก่แสมดำพันธุ์แท้ ราคาลูกไก่จะอยู่ที่ตัวละ 500-1,000 บาท เมื่อเป็นไก่หนุ่มจะมีราคาอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท และไก่โก้แม่พันธุ์จะอยู่ที่ตัวละ 2,000 บาท ส่งขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนไก่ที่เหลือจากที่คัดไก่เก่งและไก่โก้ออกไปแล้ว จะเรียกว่า ไก่แกงหรือไก่พื้นเมือง ขายเป็นไก่เป็น ในราคาขายกิโลกรัมละ 60-70 บาท

นับย้อนหลังไป 5 ปีที่เริ่มมีผู้นำกลับมาอนุรักษ์สายพันธุ์และขยายพันธุ์เพื่อการค้าแล้วก็ตาม แต่ผู้เลี้ยงในจังหวัดอุทัยธานี ก็จัดได้ว่าน้อย และแม้จะมีการส่งเสริมโดยหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่ปัจจุบัน คงเหลือผู้เลี้ยงจริงจังอยู่เพียงรายเดียวคือ คุณสวาท สมานกสิกรณ์ เกษตรกรทำไร่นาสวนผสม ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลหนองขาหย่าง อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี

คุณสวาทมีพื้นที่ทำไร่นาสวนผสมราว 45 ไร่ เริ่มเลี้ยงไก่แสมดำมาเพียง 3 ปี แต่ประสบการณ์จากการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองสายพันธุ์ต่างๆ อาทิ เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ มามากกว่า 30 ปี เทียบได้กับครึ่งหนึ่งของอายุเกษตรกรของคุณสวาท

คุณสวาทเริ่มต้นจากการซื้อแม่พันธุ์จากผู้เลี้ยงต่างอำเภอในจังหวัดอุทัยธานี ในระยะเริ่มแรกผู้เลี้ยงรายนั้นถือได้ว่าเป็นผู้เลี้ยงไก่แสมดำรายใหญ่ของจังหวัด แต่ต่อมาไม่ทราบว่าเกิดวิกฤตใด ทำให้ผู้เลี้ยงรายนั้นเลิกเลี้ยงไก่แสมดำและขายให้กับคุณสวาททั้งหมด

เมื่อเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองมาแต่โบราณ คุณสวาทจึงเลือกเลี้ยงไก่แสมดำด้วยวิธีธรรมชาติ คือการเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ พื่อให้คงความอดทนตามสายพันธุ์ไว้ให้ได้มากที่สุด

และแม้จะเป็นการเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ แต่ไก่ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ดีอย่างไก่แสมดำนี้ก็เคยขายได้ราคาสูงสุดถึง 70,000 บาท

ถามว่า เลี้ยงง่ายหรือไม่ คุณสวาทตอบอย่างไม่ลังเลว่า หากใจรักก็ไม่ใช่เรื่องยาก

คุณสวาท บอกว่า ไก่แสมดำแท้จริงก็คือไก่พื้นบ้านทั่วไป แต่เพราะปัจจุบันหาสายพันธุ์แท้ได้ยาก ทำให้มูลค่าการซื้อขายสูงพอสมควร และสามารถขายได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ไข่ถึงพ่อแม่พันธุ์ และราคาซื้อขายไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าสายพันธุ์อื่น เช่น ไข่เชื้อ สามารถจำหน่ายได้ถึงฟองละ 100 บาท ลูกไก่ก็สามารถขายได้ทุกช่วงอายุ และราคาจะเพิ่มขึ้นตามอายุของไก่ หากเป็นไก่รุ่นอายุไม่เกิน 6 เดือน ราคาจำหน่ายอยู่ที่หลักพันบาท แต่ถ้าอายุเข้าสู่วัยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ราคาจำหน่ายอาจจะสูงแตะหลักหมื่น

คุณสวาท บอกอย่างไม่หวงวิชาว่า แท้จริงแล้วต้นทุนในการเลี้ยงไก่แสมดำไม่ได้สูงเหมือนมูลค่าราคาขายของไก่ เพราะคุณสวาทเลือกใช้วิธีเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ คือแยกโรงเรือนพ่อแม่พันธุ์ไว้ต่างหาก หรือกรณีที่นำมาปล่อยด้านนอกโรงเรือน จะปล่อยให้ไก่หากินตามธรรมชาติ แต่ล้อมรั้วไว้เพื่อให้ไก่มีอิสระ ซึ่งบริเวณที่เลี้ยงปล่อยไก่จะปลูกต้นไม้ที่เป็นพืชสมุนไพรไว้เพื่อให้ไก่ได้จิกกิน

“ผมมีโรงสีของตัวเอง ก็มีต้นทุนของอาหารไก่อยู่แล้ว ใช้ข้าวเปลือก ข้าวปลาย ข้างกล้อง รำหยาบ รำละเอียดที่มี ให้เป็นอาหารไก่ทั่วไป ส่วนไก่พ่อแม่พันธุ์หรือไก่ที่ต้องการขุนให้มีน้ำหนัก จะใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเสริมให้ โดยจะนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรละลายน้ำให้ไก่กินทุกๆ 3-4 วัน เพื่อให้ไก่มีภูมิต้านทาน”

ในแต่ละวัน คุณสวาทจะนำไก่ที่มีลักษณะดี มีแววว่าเป็นไก่ชน นำไปวิ่งสุ่มเพื่อให้ไก่ได้ออกกำลัง มีการล่อเชิงชน และต้องทำด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นลักษณะเด่นของไก่แต่ละตัว

หากต้องการให้ไก่สวยก็อาบน้ำเช็ดขนให้ไก่ ด้วยลักษณะความมันวาวของขนของไก่แสมดำที่ดีอยู่แล้ว การอาบน้ำเช็ดขนอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยให้ขนไก่สวยงามได้

ในการฟักไข่ คุณสวาทยังคงยืนวิธีธรรมชาติ ให้แม่ไก่ฟักไข่เอง เมื่อฟักเป็นตัวแล้วจึงแยกทั้งแม่และลูกออกมาครอบสุ่มไว้ต่างหาก จนกว่าลูกไก่จะเริ่มแข็งแรง ซึ่งจะมองเห็นจุดเด่นและลักษณะที่ดีของลูกไก่แต่ละตัวได้เมื่อลูกไก่อายุเกือบ 3 เดือน

แม้ว่าคุณสวาทจะปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ แต่ก็มีการคัดสายพันธุ์ไว้เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ และนำไปประกวดเพื่อให้ได้ลักษณะตามมาตรฐานของไก่แสมดำที่ดี คว้ารางวัลมาไม่น้อย ทำให้ปัจจุบัน ไก่แสมดำของคุณสวาทเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ มีลูกค้าเดินทางมาขอดูไก่แสมดำและติดต่อซื้อขายทั่วประเทศ

ที่ผ่านมาในแต่ละเดือน คุณสวาทสามารถผลิตไก่แสมดำออกสู่ตลาดได้มากถึง 40 ตัวต่อเดือน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สนใจเลี้ยงไก่แสมดำภายในประเทศ

ผู้สนใจสามารถเดินทางเข้าชมไก่แสมดำด้วยตนเองได้ที่ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองขาหย่าง อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี โทรศัพท์สอบถามเส้นทางได้ที่ คุณสวาท สมานกสิกรณ์ โทรศัพท์ 085-874-3508

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563