กรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรฯ เตรียมเสนอแก้ไข พรบ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 เพื่อให้ทันสถานการณ์ปัจจุบัน

นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมยางได้มีการประกาศใช้มาหลายสิบปีแล้วโดยการแก้ไขครั้งล่าสุดคือเมื่อปี พ.ศ. 2542 เห็นควรให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงในระบบยางพาราพอสมควร เช่น การประกาศใช้พรบ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558  ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการยางของไทย  พรบ.ควบคุมยางก็ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องตามพรบ.การยางแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งจำเป็นต้องทบทวน แก้ไข พรบ.ในมาตราต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจการยางไทย ซึ่งคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรฯ ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อขับเคลื่อนการเสนอแก้โดยจะส่งร่าง พรบ.ไปยังสภาเกษตรกรจังหวัดที่มีคณะทำงานด้านยางพาราอยู่ประมาณ 60 กว่าจังหวัด แล้วให้คณะทำงานแต่ละจังหวัดดูประเด็นที่ไม่สอดคล้องหรือต้องแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกำหนดส่งกลับมายังสภาฯในวันที่ 17 มีนาคม 2560 หลังจากนั้นจะมีการรวบรวม โดยคณะทำงานจะเข้ามาศึกษาและปรับปรุงแก้ไข  ทั้งนี้คณะทำงานจะมีบุคลากรจากการยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และหลายภาคส่วนเข้าร่วม เมื่อดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จจะมีการระดมสมองกันอีกครั้งเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาวิเคราะห์ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 1 – 2 เดือน ในการดำเนินการเสนอร่างฉบับแก้ไข คาดหวังว่าการแก้ไข พรบ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 นี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยงข้องกับยางพาราจะได้รับประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ กยท.เองก็ประสบปัญหาเรื่องของอัตราเรียกเก็บเงินสงเคราะห์(CESS)ที่ส่ง ออก โดยการยางได้มีการปรับปรุงเรื่องการตรวจสอบ วิธีการในการจัดเก็บเพื่อให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยซึ่งเกี่ยว ข้องกับพรบ.ควบคุมยาง ถ้าการยางจัดเก็บเงินสงเคราะห์ได้มากกว่าเดิมก็จะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์เพราะจะมีเงินกองทุนเกษตรกรที่จะนำไปพัฒนายางทั้งระบบมากขึ้นด้วย ภาคเอกชนก็จะได้ทำธุรกิจด้านการส่งออก/นำเข้าอย่างถูกต้องและรวดเร็วขึ้น ในส่วนของสถานการณ์ยางพาราขณะนี้นั้นถือว่าเกษตรกรมีความสุขกับราคายางที่มีราคาสูงพอควร แต่คณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรฯก็ไม่ได้วางใจยังคงมีการจัดเวิร์คช็อปเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 เมื่อกำหนดแนวทางเสร็จสิ้นแล้วจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป ส่วนการแปรรูปและการเพิ่มมูลค่ายังคงให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการใช้ยางในประเทศ จากเดิม 13  – 14 % ควรเพิ่มเป็น 25 – 30 % ซึ่งคิดว่าราคายางไม่แน่จะตกต่ำอีกในอนาคต

            นายธีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้เริ่มคลี่คลาย สภาฯได้เร่งสำรวจความเสียหายของสวนยางมีพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ พบสวนยางเสียหายจนไม่สามารถให้ผลผลิตได้กว่า 32,000 ไร่ ในการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น สภาฯได้ทำการเสนอแนวทางที่ช่วยเหลือไว้ 2 แนวทาง โดยขอให้รัฐบาลยกเว้น ผ่อนผันในการชำระเงินกู้ของ ธกส. 3 ปี กับขอให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ จะได้รับเงินสวัสดิการ  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  รายละ 3,000 บาท จากงบประมาณกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (5) สวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 3,913 ราย