เกษตรฯ เดินหน้ารณรงค์ลดฝุ่น ลดควัน ชวนเกษตรกรงดเผาในพื้นที่การเกษตร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งพื้นที่ป่า และพื้นที่ทางการเกษตร จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและทางเศรษฐกิจ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้เริ่มดำเนินการโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่ปี 2557 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร และถ่ายทอดความรู้ด้านทำเกษตรปลอดการเผาให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวน 15,750 ราย เพื่อสร้างวิทยากรถ่ายทอดความรู้รวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบ 166 ชุมชน รวม 26 จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 10 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา ตาก อุตรดิตถ์) และพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่มีการเผาในพื้นที่การเกษตรค่อนข้างมาก 16 จังหวัด (กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร อุดรธานี) นอกจากนี้ มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันจัดงานรณรงค์ในท้องถิ่น เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ช่วงวิกฤตหมอกควัน จัดทำแปลงนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา

ด้าน นางอัญชนา  ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ของ สศก. ในพื้นที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ส่วนใหญ่เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญในการทำเกษตรปลอดการเผา โดยนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาปฏิบัติ อาทิ การไถกลบ การจำหน่ายเป็นฟางอัดก้อน หรือการใช้พื้นที่เกษตรเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ อีกทั้งมีความร่วมมือกันระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการช่วยกันเฝ้าระวังและควบคุมการเผาในพื้นที่ เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว

นางอัญชนา ตราโช

ทั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผา ยังมีหลายวิธี เช่น การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และคืนชีวิตให้ดิน การนำฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูกมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักทดแทนปุ๋ยเคมี หรือการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือแม้แต่การห่มดินโดยนำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้า มาคลุมบริเวณโคนต้นพืช จึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเผาในพื้นที่เกษตร เพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และหมอกควันในพื้นที่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง