เมืองตรัง พลิกฟื้นผืนนาร้าง ยึด ‘พอเพียง-เที่ยวเชิงเกษตร’ หนุนชุมชนตั้งโรงอบสมุนไพร

นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยถึงการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียงว่า ปัจจุบันพืชสมุนไพรได้รับความนิยมจากประชาชนที่หันมาอาศัยสมุนไพรในการรักษาสุขภาพและรักษาโรคกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนิยมรับประทานพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษอีกด้วย ดังนั้น ในชุมชนจึงกันมาจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ เช่น ชุมชนบ้านเขาโหรง หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ได้ตั้งโรงอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ บ้านเขาโหรง หมู่ที่ 12 ตำบลน้ำผุด เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ใช้เพื่อสร้างสุขภาพ วัตถุดิบที่ใช้มาจากการปลูกของชาวบ้านในพื้นที่ โดยชาวบ้านเข้าร่วมหุ้น 40 ครัวเรือน บริการอบสมุนไพรให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ครั้งละ 50 บาท กิจกรรมนี้เป็นไปตามงบประมาณเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยคณะกรรมการโรงอบสมุนไพรบ้านเขาโหรงเป็นผู้บริหารจัดการ

“นอกจากนี้ ชาวบ้านตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จัดให้มีกิจกรรม ฟื้นฟูส่งเสริมวัฒนธรรมข้าว และวิถีชีวิตชาวนาในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม (Agriculture Tour) จัดให้มีกิจกรรมสมโภชแม่โพสพ การแข่งขันนวดข้าว การฝัดข้าว การตำข้าวด้วยครก การสาธิตการทำข้าวหลาม การตำข้าวเม่า การทุบข้าวเม่า การสีข้าวด้วยครกสีโบราณ การมอบเครื่องสีข้าวให้โรงเรียน 3 โรง การหว่านเมล็ดปอเทืองบำรุงดิน การแสดงนิทรรศการของหน่วยงาน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผลงานของกลุ่มเกษตรกร”

นายสายัณห์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้เชิญชวนข้าราชการ เกษตรกร คนรักนา และประชาชนคนกินข้าวหลากหลายสาขา ร่วมกันเกี่ยวข้าวหอมปทุมในพื้นที่ 14 ไร่ ซึ่งทำบนผืนนาที่ถูกทิ้งร้างมาหลายปี ในพื้นที่ตำบลนาพละ อำเภอเมืองตรัง ด้วยการถวายข้าวเปลือกในกิจกรรมก่อเจดีย์ข้าวเปลือกให้กับวัดหัวเขา ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และฟื้นฟูการสีข้าวด้วยครกสี การตำข้าวเม่า การทำขวัญข้าวบูชาพระแม่โพสพ การชิมข้าวใหม่หลายสายพันธุ์ ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน อาหารเย็น กิจกรรมรื่นเริงดนตรีเพื่อชีวิต ผลจากการชวนคนกินข้าวลงนาครั้งนี้คาดว่าจะทำให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และเยาวชนหันมาสนใจการทำนาเพื่อกินและขายกันมากขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน