‘รมว.ยุติธรรม’ ควง ‘รมช.เกษตรฯ’ ลุยสุโขทัย ระดมข้าราชการช่วยเกษตรกรประสบภัยน้ำท่วม เร่งหน่วยงานสำรวจความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเร่งด่วน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นาย     สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมตรวจเยี่ยมจุดน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จังหวัดสุโขทัย โดยมี นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว​ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว นายพนม แผลงฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุโขทัย​ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยช่วงเช้าเดินทางไปยังศาลาอเนกประสงค์หมู่ที่ 1 ตำบลปากพระ อำเภอเมืองสุโขทัย จากนั้นเดินทางไปยังวัดคลองโป่ง ตำบลสามเรือน อำเภอศรีสำโรง ตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจง ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์และความเสียหายในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกันนี้ ได้มอบข้าวสาร หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ตลอดจนชุดเวชภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพสัตว์ให้กับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้กำลังใจเกษตรกร และพบปะรับฟังปัญหาของเกษตรกร

นายประภัตร กล่าวว่า จากการเกิดพายุฮีโกสทำให้มีฝนตกหนักภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดวาตภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ถึงปัจจุบัน รวม 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก บึงกาฬ ร้อยเอ็ด อุดรธานี และจังหวัดยโสธร ปัจจุบัน เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 13 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย และ จังหวัดน่าน สำหรับจังหวัดสุโขทัย ช่วงที่ผ่านมาเกิดคันตลิ่งแม่น้ำยมขาดทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ปัจจุบันบริเวณคันขาดระดับลดลง ส่วนน้ำที่ล้นคันตลิ่งแม่น้ำยมใน อำเภอสวรรคโลก และ อำเภอศรีสำโรง กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ทั้งนี้ ได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้นจังหวัดสุโขทัย (ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2563) ด้านพืช ประสบภัย 6 อำเภอ 30 ตำบล 174 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก อำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอศรีนคร มีจำนวนครัวเรือนที่สบประภัย 11,491 ครัวเรือน เบื้องต้นด้านการเกษตรมีพื้นที่ได้รับผลกระทบแยกเป็น ด้านพืช เสียหาย 110,598 ไร่ 6 อำเภอ ด้านประมง 627 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบแต่ยังไม่พบความเสียหาย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น จนสถานการณ์คลี่คลายแล้ว จากนั้นจะเข้าไปเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

รมช.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น 1. ด้านพืช รัฐบาลจ่ายเป็นเงินค่าชดเชยกรณีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยข้าว ชดเชย 1,114 /ไร่ พืชไร่ชดเชย 1,148 บาท/ไร่ และพืชสวน ไม้ผลอื่นๆ ชดเชย 1,690 บาท/ไร่ ชดเชยไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ สำหรับการเยียวยาและฟื้นฟู กรมการข้าว จะเยียวยาค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 15 กิโลกรัม/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน10 ไร่ คิดเป็นเงิน 4,050 บาท เพื่อให้เกษตรกรได้เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวในฤดูปลูกถัดไป 2. ด้านปศุสัตว์กรมปศุสัตว์เตรียมเสบียงอาหารสัตว์ 5,615.56 ตัน หญ้าแห้ง 335 ตัน ยานพาหนะ 201 คัน ถุงยังชีพ 3,000 ชุด ทีมแพทย์ 119 ทีม หน่วยอพยพสัตว์/เคลื่อนที่เร็ว 119 หน่วย 357 คน และเวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์โดยได้แจกจ่ายเสบียงสัตว์ไปแล้ว 20.40 ตัน อาหารสัตว์อื่น 944 กิโลกรัม อพยพสัตว์ 18,908 ตัว รักษาสัตว์และเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ 2,206 ตัว และ 3. ด้านประมง ชดเชย 4,225 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 5 ไร่และสนับสนุนพันธุ์ปลา

“นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงได้มอบหมายให้ตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตกร เบื้องต้นได้มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ชุดเวชภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ ตลอดจนข้าวสารจำนวน 3 ตัน โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุโขทัย กรมการข้าว นอกจากนี้ ได้ชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมทั้งให้เกษตรกรเร่งไปขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรระหว่างดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อรับเงินชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเสียหายยังอยู่ระหว่างการสำรวจ จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันเพื่อเยียวยาเกษตรกรโดยเร็วที่สุด” นายประภัตร กล่าว

นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มจดทะเบียนวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่า 7 คน โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อกลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาท/ปี (ร้อยละ 0.01) และมีประกันหากสัตว์เสียชีวิต เพื่อเป็นการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกร