เกษตรน่านปลื้ม “เกษตรแปลงใหญ่” ลำไยเนื้อหอมล้งรุมซื้อ ปรับปลูกพืชต้นทุนต่ำแต่กำไรงาม

วันที่ 27 เมษายน 2560 นายนเรศ ฝีปากเพราะ เกษตรจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับเรื่อง “เกษตรแปลงใหญ่” จ.น่านไม่ได้ส่งเสริมเกษตรกรรายใดทำเป็นแปลงใหญ่ แต่ให้โอกาสกับเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตพืชชนิดเดียวกันคนละเล็กน้อย รวมตัวกันบริหารจัดการและรับผลประโยชน์ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชน เช่นสวนลำไยต่างๆ รวมกันเอาข้อมูลพื้นฐานมาคุยกัน เพราะแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งธงไว้ต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือ ต.พญาแก้ว อ.เชียงกลาง จ.น่าน โดยกระทรวงเกษตรฯให้ขวัญกำลังใจให้กลุ่มที่ทำดีมาประกวดแข่งขันกันทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกเป็นแปลงตัวอย่างและแปลงลำไยของ ต.พญาแก้ว สามารถฟันฝ่าอุปสรรคชนะเลิศ 17 จังหวัดของภาคเหนือ เป็นตัวแทน 1 ใน 4 แปลงเข้าแข่งขันต่อระดับประเทศ

“เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ และสุดท้ายคือแปลงลำไยเชียงกลางตอนนี้เนื้อหอมมากเลย เมื่อเราทำผลผลิตให้มีคุณภาพได้ จากที่ผ่านมาเคยรับซื้อจากแปลงพญาแก้วไม่เกิน 5 ล้ง ที่ผู้ซื้อเคยกำหนดราคาให้เกษตรกร ตอนนี้พลิกผันเป็นโอกาสแล้วเพราะรวมกลุ่มกันเข้มแข็ง มีเรื่องนวัตกรรม การตลาดและไอเข้ามาเชื่อมโยง สามารถรวบรวมผลผลิตและมีอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาพากันขอซื้อลำไยที่ดังกล่าวถึง 16 ล้ง เกษตรกรไปไล่ช็อปดูราคากันก่อนว่าใครให้ราคาเท่าไหร่” นายนเรศกล่าว และว่าอีกส่วนเป็นตลาดลำไยสดที่ซื้อขายกันไว้ล่วงหน้า ดังนั้น จ.น่านจึงขยายผลเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ไปแล้ว 41 แปลง ในจำนวนนี้มีกลุ่มปลูกข้าว 6 แปลง มาสมัครกับอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัด และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแบบเบ็ดเสร็จของกระทรวงเกษตรฯ หรือซิงเกิลคอมมาน (เอสซี) หลังให้องค์ความรู้และจัดระบบให้เขาแล้ว สามารถลดต้นทุนและลดสารเคมีที่ไม่จำเป็นลง ปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่หรือ “โซนนิ่งบายอกรีแม็บ” นายนเรศ กล่าว

เกษตรจังหวัดน่าน กล่าวว่า เคยใช้พันธุ์ข้าวในนาหว่านถึง 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อหันมาทำนาแบบถูกวิธีก็ใช้เพียงไม่เกิน 10 กิโลกรัมต่อไร่ ยิ่งทำนาดำแบบต้นข้าวเส้นเดียวแล้ว ใช้ไม่เกิน 300 กรัมเท่านั้น ไม่ว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวไว้บริโภคเอง สำหรับขายเมล็ดพันธุ์หรือขายข้าวให้ตลาด ในกระบวนการแปลงใหญ่นี้ยังทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยด้วย เพราะเราตรวจสอบย้อนกลับ แนะนำให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม เก็บเกี่ยวผลผลิตตามกำหนดเวลา เมื่อต้นน้ำสามารถทำผลผลิตได้มีคุณภาพ ปลายน้ำหรือตลาดก็จะมีลูกค้าเข้ามาจองข้ามปี เช่นวิสาหกิจชุมชนบ้านยอด อ.สองแคว ผลิตมะนาวส่งให้บริษัทสยามแม็กโคร จากเมื่อ 2 ปีก่อนยังเป็นศูนย์ ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียน 3 ล้านกว่าบาท มีเครื่องคัดมะนาวแทนแรงงาน ส่วนการส่งเสริมปลูกกล้วยและได้ของบจากยุทธศาสตร์จังหวัดไว้ ส่งจำหน่ายให้บริษัท รวมถึงกาแฟ หม่อนไหม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะขามเปรี้ยวฝักโต เงาะ สวนส้มสีทองชื่อดังแบบอินทรีย์ ล้วนเป็นความสำเร็จเรื่องนโยบายแปลงใหญ่แบบ จ.น่าน