เบาหวาน อย่าปล่อยให้บานปลายทำร้ายไต

“โรคเบาหวาน” เป็นโรคที่มีความผิดปกติในการควบคุมน้ำตาลของร่างกาย ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ อายุ น้ำหนัก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ทางตา หัวใจ ไต เป็นต้น

โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคไต จนมีชื่อโรคไตชนิดนี้โดยเฉพาะว่า โรคไตจากเบาหวาน (Diabetic kidney disease หรือ DKA)

ระดับน้ำตาลที่สูงกว่าปกติในผู้ป่วยเบาหวาน จะไปทำอันตรายต่อเซลล์ทั้งระบบ เพื่อให้เห็นภาพ ลองนึกถึงการทำเป็ดย่าง ที่จะใช้น้ำตาลทาหนังเป็ด เพื่อให้ไหม้เป็นสีน้ำตาลกรอบน่ากิน การมีกลูโคสสูงในเลือด ก็มีผลในทำนองเดียวกัน คือเป็นการทำลายผนังเซลล์ของหลอดเลือด รวมไปถึงตัวเซลล์เนื้อไต

โรคเบาหวาน ยังทำให้เซลล์สามารถใช้น้ำตาลได้น้อยลง เนื่องจากไตทำหน้าที่กรองของเสียและดูดสารที่มีประโยชน์กลับคืน การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงทำให้ไตต้องทำงานหนัก จนค่อยๆ เสื่อมสภาพ นอกจากนี้ โรคเบาหวานกับความดันมักจะมาพร้อมๆ กัน จึงมาช่วยกันทำให้ไตเสียหายหนักขึ้นไปอีก

เบาหวาน ยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย อันเป็นปัจจัยลบต่อสุขภาพไตด้วย

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคไตจากเบาหวานคือ พยายามควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและระดับความดันโลหิตให้ได้ตามเกณฑ์ ซึ่งต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลให้มีสุขภาพดี ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมโรคแล้ว ยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย

ภาวะแทรกซ้อนทางไตที่เกิดจากโรคเบาหวานโดยตรง อาจเกิดขึ้นหลังจากเป็นเบาหวานอย่างน้อย 5 ปี แต่ส่วนใหญ่มักเกิดเมื่อผ่านไปแล้ว 15-25 ปี การตรวจพบที่สำคัญคือ ตรวจปัสสาวะพบโปรตีน ซึ่งมีปริมาณไม่มากในระยะต้น ต่อมาปริมาณโปรตีนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนอาจมีการสูญเสียโปรตีนในปัสสาวะมาก ทำให้โปรตีนในเลือดลดต่ำลง และผู้ป่วยมีอาการบวม ระยะเวลาตั้งแต่พบโปรตีนในปัสสาวะจนเกิดภาวะไตวายไม่แน่นอน เฉลี่ย 4-5 ปี หากมีโปรตีนในปัสสาวะมากแล้ว การรักษาฟื้นฟูจะทำได้ยาก ดังนั้น การป้องกันจึงควรทำตั้งแต่ระยะต้นๆ ก่อนที่จะมีโปรตีนออกมาในปัสสาวะ

ภาวะแทรกซ้อนทางไต มิได้เกิดกับผู้ป่วยเบาหวานทุกคน พบประมาณร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยเท่านั้น ผู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเกิน 10 ปี และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ผู้ที่มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงในครอบครัว ผู้ที่มีพี่น้องเป็นโรคไตจากโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรเข้ารับการตรวจไตทุกปี หากพบความบกพร่องของไตได้เร็ว จะทำให้ผู้ป่วยกับแพทย์ร่วมกันจัดการกับความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

“มนุษย์” ประกอบขึ้นด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุใดธาตุหนึ่งกำเริบหย่อนพิการ ก็จะไปมีผลต่อธาตุอื่นๆ ด้วย ธาตุลมเปลี่ยนแปลงง่ายที่สุด เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยได้มากที่สุด ดังเช่น ความเครียด เป็นต้นเหตุของหลายโรค ธาตุดิน แข็งแรงที่สุด เปลี่ยนแปลงยากสุด ถ้าเมื่อใดที่ธาตุดินเสื่อม รักษายากแล้ว เหมือนกับการที่มีโปรตีนรั่วมาในปัสสาวะ รักษายากแล้วเช่นกัน ประคับประคองให้เสื่อมช้า รักษาสมดุล ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่าขาดอย่าเกิน

เบาหวาน ธาตุไฟหย่อน เสมหะกำเริบ ตามหลักการแพทย์แผนไทย โรคเบาหวาน มีสาเหตุมาจากธาตุไฟหย่อน มีการเผาผลาญน้อย ทำให้เสมหะกำเริบ (อ้วน) หรืออาจเกิดจากเสมหะกำเริบ ไปทำให้ปิตตะหย่อน ดังนั้น เมื่อเริ่มอ้วน จะต้องรีบควบคุมก่อนที่จะนำไปสู่การเผาผลาญที่ผิดปกติ (ปิตตะ) สุดท้าย นำไปสู่การทำลายระบบประสาทและอวัยวะที่มีหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย (วาตะ) เช่น ไต

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ลดอาหารที่มีฤทธิ์เสริมเสมหะ คือรสหวาน มัน ของทอด ของเค็ม เพิ่มอาหารที่มีคุณสมบัติอุ่น รสขม รสฝาด เช่น ขมิ้นชัน มะระขี้นก ผักเชียงดา มะขามป้อม

กินอาหารที่ย่อยง่าย พักผ่อนให้เพียงพอ

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมเกินไป

ในการใช้สมุนไพรดูแลเบาหวาน มีพืชผักสมุนไพรหลายชนิดที่คนไทยนิยมใช้และได้รับการยืนยันถึงฤทธิ์ในการคุมเบาหวาน จากงานวิจัยต่างๆ เช่น นิโครธ ตำลึง บัวหลวง บอระเพ็ด กะเพรา กระเทียม ว่านหางจระเข้ กระถิน ข้าว ชะพลู เตยหอม บัว ฝรั่ง พริกชี้ฟ้า มะขามป้อม มะตูม มะระขี้นก มะแว้งต้น มะแว้งเครือ แมงลัก ไมยราบ ลูกใต้ใบ ส้มกบ สะตอ หญ้าหนวดแมว หนุมานประสานกาย หอมแดง หอมใหญ่ เห็ดหลินจือ ผักเชียงดา เป็นต้น

สมุนไพรเหล่านี้ ส่วนใหญ่สามารถใช้กินเป็นผักหรือเป็นชาสุขภาพ แต่ต้องไม่ละเลยการกินยาแผนปัจจุบัน และคอยวัดระดับน้ำตาลอยู่เป็นประจำ

ขอบคุณ ข้อมูลจาก หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๑๑ สมุนไพรเพื่อไต โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร