สวพ.5 ชู“นาคูโมเดล ”ยกระดับคุณภาพการผลิตพืชผักปลอดภัยเกษตรกรเมืองเก่า

สวพ.5ชู“นาคูโมเดล” ยกระดับคุณภาพการผลิตพืชผักปลอดภัยและยั่งยืนระดับชุมชนยกระดับราคาและคุณภาพการผลิตผักปลอดภัยของเกษตรกรเมืองเก่าให้เป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาด

นายก้องกษิต สุวรรณวิหค ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (สวพ.5) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการยกระดับการผลิตพืชผักปลอดภัยแบบยั่งยืนให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งปัจจุบันถือเป็นแหล่งผลิตพืชผักอนามัยที่สำคัญของประเทศ   สวพ.5 ได้จัดทำโครงการขยายผล “โค” ผลิตพืชผักปลอดภัยและยั่งยืนระดับชุมชนจังหวัดอยุธยาขึ้น 

โดยโครงการดังกล่าวสวพ.5ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชน บริษัทเทสโก้ โลตัสและสำนักงานเกษตรอำเภอผักไห่ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ ของวิสาหกิจชุมชนบ้านนาคูร่วมใจพัฒนา ตำบลนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ซึ่งการผลิตพืชผักควรได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืช เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด จึงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) ให้กับเกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพอย่างยั่งยืนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

โดยรูปแบบดำเนินการ สวพ.5 จะทำหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตผักตามมาตรฐานการผลิตผักปลอดภัย และเทคโนโลยีการควบคุมแมลงศัตรูแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักที่เหมาะสมต่อพื้นที่สร้างความเข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง และมีการบริหารจัดการที่ดียิ่งขึ้น  

โดยเทสโก้ โลตัส ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกผักล่วงหน้ากับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการพัฒนาการผลิตพืชที่เกิดผลสัมฤทธิ์ ทำให้เกษตรกรทราบรายได้ล่วงหน้าและช่วยลดปัญหาผลิตผลทางการเกษตรล้นตลาด โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาคูร่วมใจพัฒนา มีปริมาณการรับซื้อผลผลิตผักประมาณ 72 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส จำนวน 54 สาขา ครอบคุลมพื้นที่ภาคกลาง ขอบข่ายพืชที่ผลิตมากว่า 17 ชนิดพืช ในพื้นที่ 527 ไร่ สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5 แสน รวมมูลค่าการซื้อขายกับบริษัทเทสโก้ โลตัส กว่า 3 ล้านบาท

ทางด้านนางนิลุบล ทวีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคกลาง) กล่าวเพิ่มเติมว่า สวพ.5ได้คัดเลือกเทคโนโลยีการควบคุมแมลงศัตรูแบบผสมผสานในผัก โดยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงโดยหมุนเวียนตามกลุ่มออกฤทธิ์ร่วมกับการใช้สารชีวภัณฑ์ คือ ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยกำจัดแมลง และแบคทีเรียบีที (Bacillus thuringiensis) รวมถึงการใช้ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ดีกว่าวิธีของเกษตรกรที่เคยใช้สารเคมีกำจัดแมลงและปุ๋ยเคมี จะสามารลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงลงได้ 20 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งสารมารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งการดำเนินงานได้คัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพื่อจัดทำแปลงทดสอบจำนวน 21 ราย รวมเนื้อที่ 165 ไร่ มีการปลูกพืชผักจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักบุงจีน ฟักเขียว มะเขือเปราะ และถั่วฝักยาว การสร้างแปลงต้นแบบการเรียนรู้ควบคุมแมลงศัตรูในพืชผักโดยวิธีผสมผสาน

ฃึ่งวางแผนการทดลองเป็น 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบ ได้แก่ การควบคุมแมลงศัตรูในพืชผัก โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบหมุนเวียนตามกลุ่มสารออกฤทธิ์ร่วมกับการใช้สารชีวภัณฑ์ คือ ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยกำจัดแมลง อัตรา 60 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตร แบคทีเรียบีที (Bacillus thuringiensis) อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

การใช้ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต อัตราการใช้ปุ๋ยชีวภาพ 2.5 กิโลกรัม คลุกผสมปุ๋ยคอก 50 กิโลกรัม ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน อัตรา 250 กรัม คลุกผสมปุ๋ยคอก 50 กิโลกรัม รองก้นหลุมก่อนปลูกมะเขือ ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ผักกาดหอม ร่วมกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร(GAP)

นอกจากนี้มีกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี (field day) เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านฐานเรียนรู้ที่นำมาถ่ายทอดจำนวน 4 ฐานได้แก่ 1) การใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมศัตรูพืช 2) การใช้สารเคมีที่ถูกต้องในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช 3) การใช้ปุ๋ยชีวภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผัก และ 4) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร GAP เกษตรกรให้การยอมรับเทคโนโลยีและมีความพึงพอใจในการร่วมกิจกรรมดังกล่า

เป้าหมายของการดำเนินโครงการในครั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน ร่วมกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช รวมถึงเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP เพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคและตลาดยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของผลผลิตของเกษตรกรในอนาคต”  นางนิลุบล  กล่าว

ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 ในฐานะผอ.แผนงานวิจัย  กรมวิชาการเกษตรกล่าวย้ำว่าถึงแม้ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกร แต่ระบบการผลิตพืชผักของเกษตรกรยังคงดำเนินการต่อเนื่องตามแผนการผลิตผักที่วางแผนร่วมกับบริษัท โดยดำเนินการตามแนวทางที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงตลาดกับแหล่งผลิต การผลผลิตผักที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานเป็นบริบทที่สำคัญ เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเสถียรภาพให้กับเกษตรกรในการผลิตพืชผักปลอดภัยในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้