กรมส่งเสริมสหกรณ์ อนุมัติเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ 4,700 ล้านบาท หนุนสหกรณ์ขยายธุรกิจ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. เกิดจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ทุกประเภท ปัจจุบัน กพส. มีทุนดำเนินงานกว่า 6,400 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดสรรเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์นำไปเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก จุดประสงค์หลักของกองทุนคือการเสริมสร้างสหกรณ์ในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่ผ่านมามีสหกรณ์หลายแห่งที่นำเงินกู้ กพส.ไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ สามารถพัฒนาธุรกิจสหกรณ์จนเติบโตก้าวหน้า สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและทำให้สมาชิกสหกรณ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ซึ่งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจะต้องเลือกเฟ้นสหกรณ์ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เข้าไปแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายจัดการของสหกรณ์กับคณะกรรมการของสหกรณ์ในการที่จะดูแลส่งเสริมให้ความรู้ทั้งด้านการบริหารจัดการ การบริหารสินเชื่อ การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้นด้วย

สำหรับปีงบประมาณ 2564 คณะกรรมการบริหาร กพส. ได้อนุมัติวงเงินกู้ 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการปกติ 2,280 ล้านบาท โครงการพิเศษ 1,720 ล้านบาท มีสหกรณ์กู้เงิน กพส. 1,631 แห่ง 1,787 สัญญา เป็นเงิน 3,547 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 88.68 เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจถดถอยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์การเกษตรมีความประสงค์ขอกู้เงินไปให้สมาชิกกู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพทางการเกษตร ประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมทั้งสหกรณ์นำไปดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิต และจัดหาสินค้าและปัจจัยการผลิตมาบริการสมาชิกเพื่อลดต้นทุนการประกอบอาชีพ

ในปีงบประมาณ 2565 กรมฯ ได้จัดสรรกรอบวงเงินกู้ กพส.จำนวน 4,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการปกติ 2,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 64 คิดเป็น 27% และโครงการพิเศษ 1,800 ล้านบาท ปัจจุบัน ได้มีการอนุมัติและเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 18 สหกรณ์ วงเงิน 58 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 1.24 ของวงเงินทั้งหมด โดยส่วนใหญ่สหกรณ์ขอกู้เพื่อนำไปรวบรวมผลผลิต จัดหาสินค้ามาจำหน่าย นำไปให้สมาชิกกู้ยืม และลงทุนในทรัพย์สิน

นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรเงินอีกส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2564/65 โครงการส่งเสริมการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมกาแฟในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการพัฒนาการผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่สหกรณ์ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ส่วนหนึ่ง กรมฯ มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในไร่นาของสมาชิกสหกรณ์ การส่งเสริมอาชีพ ในยุค New Normal และ Next Normal ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 วงเงิน 280 ล้านบาท รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ และการฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง วงเงิน 25 ล้านบาท

กรมฯ ยังได้กำหนดวงเงินกู้สำหรับช่วยเหลือสหกรณ์เป็นการเร่งด่วน สำหรับสหกรณ์ที่ประสบปัญหาอุทกภัย จำนวน 300 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ได้สำรวจและจัดสรรวงเงินให้จังหวัดแล้ว 26 จังหวัด 103 สหกรณ์ สมาชิกได้รับผลกระทบ 15,558 ราย พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย 251,609.26 ไร่ ซึ่งในปี 2565 จะมุ่งกระจายความช่วยเหลือไปยังสหกรณ์ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ กรมฯ ได้สำรวจความต้องการของสหกรณ์ที่มีความประสงค์จะขอกู้เงิน กพส. เพื่อนำขยายธุรกิจสหกรณ์หรือนำไปช่วยเหลือสมาชิก โดยมีกรอบการจัดสรรเงิน กพส. ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัด/สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และ พื้นที่ 2 และจะมีการติดตามการใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เร่งรัดการใช้หนี้คืนตามกำหนด