ปลานิล-ปลาทับทิม ปลอดภัย ไร้สารเคมีตกค้าง

ปลานิลและปลานิลแดง หรือ “ปลาทับทิม” ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงสายพันธุ์มาจากปลานิล ถือเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ด้วยคุณลักษณะที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง ออกลูกออกหลานทั้งปี รสชาติอร่อย และยังเป็นอาหารสุขภาพชั้นดีที่เป็นแหล่งโปรตีน ไขมันต่ำ ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับแหล่งโปรตีนอื่นๆ ทำให้ความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผลผลิตปลานิลเฉลี่ยประมาณ 200,000 ตัน ต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่มาจากการเพาะเลี้ยงทั้งสิ้น และจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมของไทยพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยใช้ระบบการเพาะเลี้ยงตั้งแต่กึ่งพัฒนาในบ่อดิน ใช้เวลาเลี้ยงนาน 8-10 เดือน ไปจนถึงระบบการเลี้ยงแบบพัฒนาหรือที่เรียกว่า “การเลี้ยงแบบหนาแน่นเชิงพาณิชย์” ที่มีทั้งการเลี้ยงในบ่อดินและการเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำ แหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือเขื่อนขนาดใหญ่ โดยการให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ ใช้เวลาเลี้ยงสั้น ประมาณ 4-6 เดือน

ผลจากการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาเลี้ยงปลานิลโดยใช้ระบบการเลี้ยงแบบพัฒนากันมากขึ้น เนื่องจากใช้เวลาเลี้ยงสั้น สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ ให้ผลตอบแทนหรือกำไรต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่าการทำเกษตรกรรมอื่นมาก และที่สำคัญคือได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง มีความสม่ำเสมอทั้งปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะคุณภาพของเนื้อปลา

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ต้องประสบกับภาวะการเกิดโรคระบาดอันเป็นผลโน้มนำมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย เช่น โรคตัวด่าง โรคตาโปน หรือโรคแผลเปื่อยตามตัว เป็นต้น ซึ่งในอดีตเกษตรกรนิยมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ ทำให้เกิดปัญหาสารตกค้างในผลผลิตและผลิตภัณฑ์ปลาที่อาจส่งผลต่อผู้บริโภคได้ แต่จากการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกรมประมงและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง เรื่องการใช้ยาและสารเคมี รวมทั้งอันตรายที่เกิดจากการใช้ยา เน้นให้เกษตรกรตระหนักถึงการป้องกันและการรักษาโรคอย่างถูกต้องและถูกวิธีเป็นหลัก

ในปัจจุบันเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการประยุกต์ใช้หลักการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญๆ ควบคู่ไปกับการจัดการสุขภาพปลาระหว่างการเลี้ยงที่ถูกต้อง เน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น การใช้จุลชีพโปรไบโอติกส์และสมุนไพรในการป้องกันทดแทนการใช้ยาและสารเคมีในการรักษา ใช้ยาหรือสารเคมีชนิดที่ปลอดภัย เช่น เกลือแกงและด่างทับทิม หรือสารอื่นๆ เท่าที่จำเป็นและถูกวิธี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือเข้าใจระยะหยุดยาเมื่อมีการใช้ยาและสารเคมี เพื่อลดการปนเปื้อนของการใช้ยาและสารเคมีในเนื้อปลาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้สามารถลดความเสี่ยงของความสูญเสียที่เกิดจากการเกิดโรคได้อย่างได้ผล และสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ยาและสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคโดยทั่วไป

ดังนั้น จึงเป็นหลักประกันที่สำคัญที่เป็นเครื่องยืนยันอย่างดี ว่าผลผลิตปลานิลและปลาทับทิมของไทยมีคุณภาพสูง อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพ อีกทั้งยังปลอดภัยจากสารตกค้างที่จะเป็นอันตรายทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความมั่นคงของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมของไทยในทุกห่วงโซ่การผลิต และสามารถดำเนินไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ