สภาเกษตรกรจังหวัดตราด ดัน “ขยะเป็นศูนย์” พื้นที่ผักเกษตรอินทรีย์

นายภาสกร เขียวขจี อายุ 55 ปี อาชีพเกษตรกร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราด จังหวัดตราด และเจ้าของ “บ้านไร่เขียวขจี ภาสกรฟาร์ม” กล่าวว่า พื้นที่ทำการเกษตร “บ้านไร่เขียวขจี ภาสกรฟาร์ม” เป็นสวนผสมด้วยระบบอินทรีย์ และรับรองพื้นที่ทั้งหมดแล้วโดยกรมวิชาการเกษตร ประมาณ 130 ไร่เศษ เป็นพื้นที่น้ำ 30 ไร่ เลี้ยงปลาตะเพียน ยี่สก, ปลูกผัก 15 ไร่ ประมาณ 30 ชนิด เป็นระบบน้ำหยด, นาข้าว 20 ไร่ ปลูกพันธุ์หอมมะลิ 105 จำหน่ายและบริโภค, ปาล์มน้ำมันส่งโรงงาน/หมากดิบส่งตลาดต่างประเทศ 10 ไร่, มะพร้าว/กล้วย พันธุ์มะลิอ่อง 10 ไร่เศษ, มะละกอฮอลแลนด์ 5-10 ไร่ ส่งตลาดและห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ผลผลิตหลักของกลุ่มคือ ผักสลัด เช่น ฟิลย์เล่ไอซ์เบิร์ก เรดปัตตาเวีย เรดโอ๊ค เรดคอรัล กรีนโอ๊ค บัตเตอร์เฮด คอส เบบี้คอส เป็นต้น นำส่งยังโรงพยาบาลในจังหวัดตราดและจันทบุรี เพื่อจัดทำเมนูสุขภาพสำหรับผู้ป่วย รวมทั้งตามคำสั่งซื้อจากห้างสรรพสินค้า ปัญหาหลักคือจะมีเศษผักที่ไม่สวย หัก แต่ยังสามารถบริโภคได้ ทางกลุ่มแยกจำหน่ายกับทำปุ๋ยหมักไว้ใช้หมุนเวียนในพื้นที่ แต่ก็มองว่าน่าจะต่อยอดได้ไหม จึงได้หารือกับสภาเกษตรกรจังหวัดตราดเพื่อหาทางบริหารจัดการต่อไป

ขณะที่ นางมาลี วิจิตรโสภาพันธ์ หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด เปิดเผยว่า เกษตรกรในจังหวัดตราดส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะประสบปัญหาเรื่องการจัดการผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การรักษาคุณภาพผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เรื่องการจัดการพื้นที่ภาคการเกษตรให้ “ขยะเป็นศูนย์” (Zero Waste) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดจากการประชุมร่วมกันกับประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ได้ให้นโยบายไว้ จึงนำมาสู่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรไว้กับสภาเกษตรกรจังหวัดตราด “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราด” รวมตัวเป็นเครือข่าย 10 คน ปลูกผักอินทรีย์ ประเภทผักสลัด ผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว ผลไม้ มะพร้าว ปาล์ม หมาก รวมทั้งนาข้าวด้วย ผักสลัดของทางกลุ่มหลักๆ จะส่งให้กับห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล เป็นต้น

ในกระบวนการคัดแยกเพื่อบรรจุจำหน่ายนั้นจะมีการตัดแต่งผักส่วนที่ไม่สวย มีรอยหัก แต่ไม่เน่าเสีย และสามารถบริโภคได้ มองว่าเศษผักเหล่านี้น่าจะมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรได้ จึงประสานงานไปยังสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นต้น เพื่อเข้ามาให้ความรู้และกระบวนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกร จึงเป็นที่มาของการแปรรูปสู่ผักผง โดยเกษตรกรนำเศษผักอินทรีย์ที่เหลือจากการคัดแยกปั่นละเอียดและนำไปบรรจุในถุงซีล แล้วนำเข้าช่องฟรีซแช่แข็งทันที และจัดส่งให้ผู้ประกอบการเพื่อดำเนินการแปรรูป ซึ่งจะใช้เวลาเข้าเครื่องป่น ครั้งละ 18-20 ชั่วโมง เศษผักสลัดปั่นละเอียดแช่แข็ง จำนวน 10 กิโลกรัม สามารถแปรรูปเป็นผักผงได้ประมาณ 1 กิโลกรัม นำไปบรรจุแคปซูลหรือซองฟรอยด์ เพื่อชงดื่มหรือประกอบอาหาร และอื่นๆ ซึ่งกระบวนการแปรรูปจากวัสดุเศษผักสลัดเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวคิด “ขยะเป็นศูนย์” (Zero Waste) เป็นแนวทางในการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์

อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรจังหวัดตราดและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราดกำลังวางแผนนำผักผงแปรรูปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์ เช่น โจ๊กผัก ซุปผัก ผักสลัดชงน้ำพร้อมดื่ม หรือวัตถุดิบในการทำขนมปัง เบเกอรี่ เป็นต้น รวมทั้งความต้องการเครื่องจักรการเกษตรขนาดเล็กเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มมากขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกและผ่อนแรงเกษตรกรในระดับหนึ่ง ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดตราดจักได้นำความต้องการประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการเรื่องผลผลิตและผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่จะต่อยอดออกมา ในขณะที่ “บ้านไร่เขียวขจี ภาสกรฟาร์ม” ก็ได้เตรียมพื้นที่ 10 ไร่ เพื่อจัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ลานกางเต็นท์ บ่อตกปลา ร้านอาหาร/กาแฟ จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และขยายเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดตราดดำเนินการรวบรวมผลผลิตอินทรีย์สู่ตลาดที่มีความต้องการอย่างกว้างขวางต่อไป

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด หมายเลขโทรศัพท์ 039-513-580 หรือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราด” หมายเลขโทรศัพท์ 081-735-2993