เพชรบุรี เลี้ยงวัวนมแก้จน โกยรายได้ปีละ 3-4 แสนบาท

ความยากจนไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นเพียงบททดสอบชีวิต ที่ทุกคนต้องพยายามก้าวข้ามให้ได้ หากสอบผ่าน ครอบครัวจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนกับ “ลุงเชือน ชัยพร้อม” เกษตรกรวัย 73 ปี เจ้าของกิจการธุรกิจเลี้ยงวัวนม ชื่อ “สำราญฟาร์ม” ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ลุงเชือนเกิดในครอบครัวเกษตรกร ยึดอาชีพทำเกษตรตามรอยพ่อแม่ ลุงเชือนทำเกษตรบนที่ดิน 50 ไร่ ปลูกพืชหลายชนิด เนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างจากแหล่งน้ำชลประทาน จึงเพาะปลูกพืชไร่เป็นหลัก เริ่มจากปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ทำไร่สับปะรด แต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตลาดมีความเสี่ยงสูง ราคาสินค้าปรับขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะตลาด

วัวนมมีสุขภาพดี พร้อมผลิตน้ำนมดิบ

เลือกอาชีพเลี้ยงวัวนม

ลุงเชือนตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพหันมาเลี้ยงโคขุนแทน แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ในปี 2542 องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรีหันมาเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพ โดย อ.ส.ค. ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบุรี อบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายใหม่

โครงการดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพเลี้ยงวัวนมของลุงเชือน ตั้งแต่ปี 2543 และเลี้ยงติดต่อกันมา จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 23 ปีเต็ม ลุงเชือนเล่าถึงแรงจูงใจให้การเปลี่ยนอาชีพว่า เนื่องจากการเลี้ยงวัวนมเป็นอาชีพพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และเล็งเห็นว่า การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่ทำเงินได้เร็ว สามารถขายน้ำนมดิบได้ทุก 15 วันก็ได้จับเงินแล้ว

แม่วัวนมพันธุ์ดี

ปรากฏว่า ลุงเชือนตัดสินใจเลือกอาชีพได้ถูกทาง เพราะการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้จริงๆ ทำให้ลุงเชือนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโคนมมาอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอาชีพเลี้ยงวัวนมให้เกษตรกรผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ

คอกวัวนม

วัวนมเลี้ยงไม่ยาก

Advertisement

ลุงเชือนเริ่มจากเลี้ยงโคนมจำนวน 116 ตัว ส่งน้ำนมดิบขายให้สหกรณ์โคนมชะอำ-ห้วยทราย จำกัด ได้ส่งน้ำนมดิบวันละ 600 กิโลกรัมต่อวัน มีรายได้เดือนละ 324,000 บาท ในปีนี้ ลุงเชือนเลี้ยงวัวนมจำนวน 120 ตัว สามารถรีดนมได้ 65 ตัว ผลิตน้ำนมดิบได้วันละ 700 กิโลกรัม ส่งขายน้ำนมดิบในราคากิโลกรัมละ 17.50 บาท โดยหักเงินรายได้ให้สหกรณ์ชะอำ-ห้วยทราย จำกัด กิโลกรัมละ 50 สตางค์ เพื่อพยุงฐานะทางการเงินของสหกรณ์ให้คล่องตัว

ลุงเชือน ชัยพร้อม

ลุงเชือนจัดสรรพื้นที่มาทำฟาร์มวัวนมในชื่อ สำราญฟาร์ม จำนวน 10 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โรงเรือน บ้านพัก และแปลงพืชอาหารสัตว์ ทั้งนี้ ฟาร์มสำราญของลุงเชือนนับเป็นฟาร์มขนาดกลาง มีเครื่องมืออุปกรณ์การรีดนมที่ทันสมัย ได้เครื่องหมาย GAP ให้วัวกินอาหารวันละ 2 มื้อ เช้ากับเย็น โดยทั่วไปในช่วงฤดูแล้ง มักขาดแคลนอาหารสัตว์ในแปลงพืชอาหารที่ปลูกไว้ไม่เพียงพอ จึงได้นำเปลือกสับปะรดที่ไม่ได้ใช้ในกระบวนการผลิตมาเลี้ยงโคนมเพราะในพื้นที่มีโรงงานสับปะรดเยอะ อาหารหยาบที่ใช้เลี้ยงโคนมก็จะใช้ตามฤดูกาล หญ้า ฟาง เปลือกสับปะรด เป็นต้น

Advertisement
ผู้บริหาร อ.ส.ค. เยี่ยมชมสำราญฟาร์ม ฟาร์มเครือข่ายสหกรณ์ ผู้เลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค.

รวมพลังแก้ไขปัญหา

การเลี้ยงโคนมในแต่ละปี ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา ทางด้านสุขภาพสัตว์ ด้านโรคระบาด คุณภาพน้ำนมดิบ รวมทั้งการจำหน่ายน้ำนมดิบ แต่เกษตรกรอย่างลุงเชือนยังคงสามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาประกันมาตลอด ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่เขตนี้ได้รวมตัวเป็น สหกรณ์โคนมชะอำ-ห้วยทราย จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมน้ำนมดิบส่งจำหน่ายน้ำนมดิบให้ อ.ส.ค. เป็นหลัก พร้อมทั้งมีตัวแทนเข้าร่วมบริหารจัดการ พร้อมแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

คุณชัยณรงค์ เปาอินทร์ รองผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ อ.ส.ค. จำนวน 4,600 ฟาร์ม โดย อ.ส.ค. ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและรับซื้อน้ำนมดิบของเกษตรกรเครือข่ายอยู่ประมาณวันละ 700 ตัน เพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ทั้งนมพาณิชย์และนมโรงเรียนจำหน่ายออกสู่ตลาดซึ่งถือเป็นการส่งเสริมรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมาอย่างยาวนาน ควบคู่กับก่อตั้ง อ.ส.ค. มากว่า 59 ปี

นมโยเกิร์ตพร้อมดื่มยูเอชที ตราไทย-เดนมาร์ค

อ.ส.ค. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค ซึ่งผลิตจากน้ำนมโคแท้ 100% ไม่ผสมนมผง ที่ได้รับซื้อจากน้ำนมโคของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการสืบสาน ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงได้พระราชทานอาชีพโคนมให้กับคนไทย เนื่องจากทรงเห็นว่า อาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคนมที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน

ร้านไทย-เดนมาร์ค มิลค์ แลนด์ รุกเปิดตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค

ปี 2564 อ.ส.ค. ทำยอดขายผลิตภัณฑ์นมทั้งนมโรงเรียนและนมพาณิชย์ประมาณ 9,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นตลาดภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เปิดสินค้าใหม่คือ นมโยเกิร์ตพร้อมดื่มยูเอชที ตราไทย-เดนมาร์ค 4 รสชาติ ได้แก่ รสส้ม รสสับปะรด รสเลม่อน และรสสตรอเบอร์รี่ เน้นเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่ต้องการเครื่องดื่มที่เพิ่มความสดชื่น

ผู้บริหาร อ.ส.ค. เยี่ยมชมร้านไทย-เดนมาร์ค มิลค์ แลนด์ สาขาชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

สำหรับปี 2565 วางยอดขายไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท และจะขยายตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา และเตรียมการจะไปขายที่จีนด้วย พร้อมกันนี้จะรุกตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นแล้ว ยังวางแผนผลิตนมอัดเม็ด และทำโรงงานนมผง เพื่อแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด โดยจะลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่มูลค่าพันล้านบาทในพื้นที่ 194 ไร่ ที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อ.ส.ค. ยังมีแผนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในฟาร์มโคนม  ไทย-เดนมาร์คให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้ามาท่องเที่ยวสัมผัสอาณาจักรที่สวยงาม ทุ่งหญ้าเขียวขจีภายในฟาร์ม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ประชาชนหลังโควิด-19 คลี่คลายลง