กยท.จับมือจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบน คาดมีคนร่วมชมงาน 2 แสนคน สร้างรายได้สะพัดกว่า 10 ล้านบาท   

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุม อาคารข่าวสด นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและนายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงความพร้อมจัด “งานมหกรรมยางพารา 2564 ภายใต้แนวคิด “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราชนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรม” กยท.มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ มาตรฐาน การวิจัย และแนวคิดการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมให้เกิดความหลากหลายในการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางพารามีช่องทางการจำหน่าย และแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราระดับนานาชาติ

ภายในงานมุ่งนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ในการบริหารจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างอำนาจการต่อรอง เพื่อผลิตยางพาราคุณภาพดี เพิ่มช่องทางการขายยางในราคาที่สูงขึ้นได้  ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ เช่น การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อส่งเสริมและมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution : NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573นอกจากนี้ กยท.เตรียมจัดเวทีเสวนาที่น่าสนใจในหลายประเด็น ได้แก่ “นวัตกรรมยางพารากับอนาคตยางพาราไทย”, “วิกฤตการณ์โควิดกับวิถีชีวิตชาวสวนยาง” นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อป เช่น ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง, ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา, การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในสวนยางพารา เป็นต้น

กยท.ขอเชิญชวนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชมงานมหกรรมยางพารา 2565 : นครฯ แห่งนวัตกรรม ได้ตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช หากใครไม่สะดวกในการเดินทาง กยท.เตรียมถ่ายทอดสดการจัดงานครั้งนี้ ผ่าน เฟซบุ๊ก ไลฟ์ (Facebook Live) ของ กยท. เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศได้รับชมกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอด 3 วันของการจัดงานนายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง และร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งขับเคลื่อนนโยบายตลาดเชิงรุกโดยมอบหมายให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทูตเกษตรในประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ร่วมมือกับทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ติดต่อผู้ค้ายางในแต่ละประเทศเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในงานมหกรรมยางพาราครั้งนี้ด้วย เพื่อขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปพร้อมๆ กัน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก 1,880,560 ไร่ มีตลาดยางพาราอยู่ในพื้นที่ มีวัตถุดิบน้ำยางดีที่สุดในโลก ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้ยางพาราที่ปลูกในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ผลผลิตน้ำยางคุณภาพดีติดอันดับโลก และเป็นศูนย์กลางยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอนาบอน มีโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราประเภทโรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่น และโรงงานผลิตยางแผ่นอบแห้งที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 5 แห่ง โดยรับซื้อน้ำยางในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อแปรรูปส่งออก

จังหวัดนครศรีธรรมราชมีความยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ได้มีการจัดประชุมเตรียมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมยางพาราในภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นจำนวนมากผลกระทบจากปัญหาวิกฤตโควิดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อตลาดแรงงาน มีลูกหลานชาวสวนยางย้ายคืนถิ่นเป็นจำนวนมาก ที่หันกลับมาทำสวนยางกับครอบครัว บางคนก็พัฒนาต่อยอด โดยเปิดธุรกิจร้านกาแฟในสวนยาง ปลูกพืชร่วมยาง หรือเลี้ยงสัตว์ในสวนยาง เป็นต้น สำหรับการจัดงานมหกรรมยางพาราในครั้งนี้ มีการถ่ายทอดนวัตกรรมสมัยใหม่ ในการผลิตน้ำยางคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในระบบ Smart Farmer เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านยางพาราให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่อย่างคุ้มค่าและลดต้นทุนการผลิต ฯลฯ ตอนนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชมีความพร้อมในการจัดงานอย่างเต็มที่ คาดว่า จะมีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน สร้างรายได้สะพัดกว่า 10 ล้านบาทด้าน นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างมาก ซึ่งคาราบาวกรุ๊ปขอร่วมชื่นชมและยกย่องพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา การจัดงานมหกรรมยางพาราในครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่จะยิ่งขับเคลื่อน เน้นความสำคัญของอุตสาหกรรมยางพาราที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศมากขึ้น ในฐานะภาคเอกชนรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ โดยคาราบาวกรุ๊ปมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมกรีดยาง โดยมอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคาราบาวแดงแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1-3 เพื่อความสุขและความสนุกสนานในการจัดงานครั้งนี้