“จิกทะเล” และ “ชุดตรวจโควิดไทย” ดังไกลในเวทีโลก 2 โครงงานเด็กไทย คว้ารางวัลเวที “ISEF2022” จากอเมริกา

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ แอตแลนตา จอร์เจีย สหรัฐอเมริกา: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และวิจัยนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผนึกกำลังคัดเลือกเยาวชนไทย 16 ทีม 35 คน จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 (Young Scientist Competition, YSC 2022) และจากค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thai Young Scientist Festival, TYSF 2022) ร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยในปีนี้มีโครงงานเข้าร่วมประกวด 1,410 ผลงาน จากนักเรียน 1,750 คน จาก 63 ประเทศ และมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับปีนี้เยาวชนไทย 15 คน จาก 7 ทีม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันส่งคณะเยาวชนไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ หรือ ISEF 2022 โดยในรอบการประกวดรางวัลพิเศษ (Special Award) มีทีมเยาวชนไทยคว้า 2 รางวัลพิเศษ (Special Award) ประกอบด้วย

รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society สมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จากผลงาน “โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล” ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และ นายฐิติพงศ์ หลานเดช จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมี นายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเป็นผลงานการวิจัยที่มีการบูรณาการวิทยาการจากหลากหลายสาขายอดเยี่ยม

อีกหนึ่งผลงานรางวัลพิเศษ (Special Award) ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP)” ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และ นายคุณัชญ์ คงทอง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ จากไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานดังกล่าวได้รับรางวัลที่ 1 สาขาการพัฒนาสุขภาพระดับโลก จาก USAID หรือ องค์การพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าทีม จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี กล่าวว่า สำหรับผลงานนวัตกรรมวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการลดลงของป่าชายเลนซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายๆ ด้าน เนื่องจากป่าชายเลนเป็นแหล่งพลังงาน อาหาร ที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ รวมถึงเป็นแนวชายป้องกันฝั่งทะเลจากการกัดเซาะพังทลาย กำบังคลื่น ลม กระแสน้ำ และพายุ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของมนุษย์จากการทำประมง การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การศึกษา และการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต นวัตกรรมชิ้นนี้จะช่วยสร้างความสะดวกสบายในการซ่อมแซมป่าชายเลนในบริเวณที่คนเข้าไปซ่อมแซมไม่ถึง ด้วยการใช้วิธีลอยวัสุดปลูกผ่านรากของพืชที่มีความหนาแน่นโดยอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น แรงของคลื่น ลม และน้ำขึ้นน้ำลง

ซึ่งการใช้นวัตกรรมชิ้นนี้ในการฟื้นฟูป่าชายเลนจะสามารถช่วยในการฟื้นฟูได้ในปริมาณที่มากกว่าวิธีการปลูกแบบทั่วไปในระยะเวลาที่เท่ากัน อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เล็กหรือใหญ่ เช่น พืชในป่าชายเลนสามารถลดทอนแรงของคลื่นได้ ส่งผลให้ลดการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่น หรือแม้แต่แสมขาวที่เป็นพืชตัวอย่างที่เราเลือกมาใช้ในการศึกษา ยังมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารเคมีตกค้างในป่าชายเลนได้อีกด้วย นอกจากนั้นแล้วนวัตกรรมชิ้นนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูแหล่งรายได้ที่สำคัญของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจากการฟื้นฟูแหล่งทำประมง การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การศึกษา และการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความยั่งยืน โดยชุมชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมชิ้นนี้ได้ง่าย เนื่องจากนวัตกรรมดังกล่าวผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่หาได้ง่าย ทำให้มีราคาถูก และสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปใช้งานจริงได้

Advertisement

ด้าน นายกุลพัชร ชนานำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าทีม Sawasdee-AMP  โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า พวกเราได้พัฒนานวัตกรรมต้นแบบชุดตรวจโรคเชิงสีสำหรับการตรวจโรคที่เกิดจากทั้งไวรัส แบคทีเรีย พาราไซต์ โดยการรวม pH-sensitive dye เพื่อให้ใช้งานได้โดยง่าย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 เพื่อให้การตรวจโรคเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน ในราคาที่ไม่แพง แต่ยังคงมีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าวิธีมาตรฐานที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายนี้ ก็จะทำให้การตรวจโรค เฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรคทำได้เร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ต้นแบบชุดตรวจของพวกเราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจโรคอื่นๆ ได้ด้วยการเปลี่ยนองค์ประกอบเพียงแค่ 1 ชนิด ทำให้ง่ายต่อการตรวจโรคที่อาจอุบัติใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย

Advertisement