ข้าวอินทรีย์ กุลาไรซ์ ชุมพลบุรี ข้าว GI ตีตลาดออนไลน์ เพิ่มรายได้ชุมชน

จากการทำตลาดออนไลน์ในปัจจุบันพร้อมกับระบบขนส่งที่ทันสมัย ทำให้ยุคนี้สินค้าออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ เพราะนอกจะได้สินค้าจากแหล่งผลิตโดยตรงแล้ว สินค้าที่ซื้อจากผู้ผลิตโดยตรงอย่างสินค้าทางการเกษตร จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่ได้จากข้าวที่นับวันเกษตรกรต้องมีการปรับตัวในเรื่องของการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้มีกำไรเพิ่มขึ้น

คุณพิรุณวรรณน์ จงใจภักดิ์ พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์

คุณพิรุณวรรณน์ จงใจภักดิ์ พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์จับมือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนครพร้อมผลักดันข้าวหอมมะลิสุรินทร์ GI จังหวัดสุรินทร์ เป็น 1 ใน 18 แห่ง สินค้าดี GI อีสานสู่สากล มั่นใจคุณภาพข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ซึ่งได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 จากความพิเศษนี้เอง จึงทำให้ต่อมาทางกลุ่มเกษตรกรได้มีการปรับตัว และรับองค์ความรู้ในเรื่องของการส่งเสริมการทําเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การทำนาของชาวนาในพื้นที่นี้ มีการปรับตัวในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จนข้าวสุรินทร์มีชื่อเสียงสมคำล่ำลือว่า “ข้าวหอม มะลิสุรินทร์ หอม ยาว ขาว นุ่ม”

“จากที่เราทราบกันว่า ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ข้าวมีความหอมเป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ต่อมาข้าวหอมมะลิสุรินทร์ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นข้าวหอมมะลิสุรินทร์ GI จ.สุรินทร์ มาการันตีคุณภาพ และช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เราจึงได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกร เพื่อที่เกษตรกรจะได้มีการปรับตัวในเรื่องของการทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ก็จะช่วยให้เกษตรกรหรือกลุ่มผู้ปลูกข้าวในจังหวัดสุรินทร์มีความเข้มแข็งและมีรายได้อย่างยั่งยืน” คุณพิรุณวรรณน์ กล่าว

นาข้าวอินทรีย์

ซึ่งลักษณะประจำพันธุ์ “ข้าวหอมมะลิสุรินทร์” ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาวที่แปรรูป มาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข15 ที่ผลิตในจังหวัดสุรินทร์ ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ความสัมพันธ์กับแหล่งภูมิศาสตร์

เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และทุ่งนาที่ใช้ในการปลูกข้าว สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียวมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และไม่อุ้มน้ำ สภาพพื้นที่ไม่เป็นแอ่งกระทะ น้ำไม่ท่วมขังนาน มีระบบกักเก็บถ่ายเทน้ำได้ง่าย การเพาะปลูกข้าวขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศและอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงต้องทำคันนาและแบ่งพื้นนาออกเป็นแปลงๆ เพื่อประโยชน์ในการเก็บกักน้ำให้พอเพียงต่อการเจริญเติบโตของข้าว ที่นามีสองลักษณะคือ นาดอน และนาลุ่ม พื้นที่นาดอนเหมาะสําหรับปลูกข้าวพันธุ์ กข15 ซึ่งมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ส่วนพื้นที่นาลุ่มเหมาะสําหรับปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งมีอายุการเก็บเกี่ยวยาวกว่า

คุณบุญเหลือ ฤทธิรณ และภรรยา

คุณบุญเหลือ ฤทธิรณ เครือข่ายผู้ผลิตข้าวหอมมะลิ 105 ชุมพลบุรี 1 ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 18 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 ในเนื้อที่ประมาณ  291 ไร่ ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับประเทศ และระดับสากลจาก Organic Thailand และ GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการปลูกข้าวและบรรจุภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ข้าวกุลาไรซ์ 105” ผลิตจากสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105

“ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวหนัก ข้าวไวแสง ปลูกในดินทุ่งกุลาร้องไห้ จึงทำให้ข้าวหอมมะลิเขตทุ่งกุลาร้องไห้ชุมพลบุรี มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ด้วยคุณสมบัติและความมีเอกลักษณ์นี้เอง จึงทำให้ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สำหรับเกษตรกรอย่างผม ถือว่ามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่เราได้ GI มาช่วยการันตี และทำให้ข้าวหอมมะลิของกลุ่มสามารถทำตลาดได้ดีขึ้น” คุณ      บุญเหลือ กล่าว

Advertisement

เมื่อได้รับการสนับสนุนจากทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์เข้ามาดูระบบในเรื่องของตลาดแล้ว คุณบุญเหลือ บอกว่า รู้สึกมีความกำลังใจและความหวังมากขึ้น เพราะเมื่อมีตลาดที่มั่นคงทางกลุ่มก็จะพัฒนาการปลูกข้าวให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป

Advertisement

โดยการทำนาของกลุ่มและชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้มีการทำนาแบบอินทรีย์ โดยทุกขั้นตอนการผลิตจะเน้นในเรื่องของการผลิตแบบไม่ใช้สารเคมี จึงทำให้นอกจากเกษตรกรจะปลอดภัยจากการใช้สารเคมีแล้ว ในเรื่องของการประหยัดต้นทุนนับว่าเห็นผลเป็นอย่างมาก

จากการที่ทำนาในระบบอินทรีย์ เกษตรกรได้นำหลักการปฏิบัติคู่มือในระบบควบคุมภายในกลุ่ม (ICS) และคู่มือการผลิตข้าวอินทรีย์ Organic Thailand ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดระยะเวลาการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย

1. ต้นน้ำ คือ การเตรียมแปลง เตรียมดิน ด้วยการหว่านเมล็ด โดยใช้ปุ๋ยพืชสด พืชตระกูลถั่ว (ปอเทือง ถั่วพร้า) แล้วจึงไถกลบตอซังข้าว ปุ๋ยคอก แกลบดิบ พร้อมทั้งนำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด เพิ่มธาตุไนโตรเจนธรรมชาติ ให้กับแปลงดินให้สมบูรณ์

2. กลางน้ำ คือ การบำรุงดูแลรักษาให้ต้นข้าวแข็งแรงเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปราศจากแมลงศัตรูพืชโรคพืชเข้ามารบกวน โดยใช้สารชีวภาพ เชื้อราไตรโคเดอร์มา การใช้น้ำหมักจากเศษอาหาร ฯลฯ และ

3. ปลายน้ำ คือ การเร่งและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยใช้น้ำหมักชีวิภาพไข่ ซึ่งเป็นปุ๋ยน้ำหมักไข่ และยีสต์ จุลินทรีย์ธรรมชาติฉีดพ่นเพิ่มธาตุอาหารโพแทสเซียมธรรมชาติ เพื่อบำรุงรวงข้าวให้รวงใหญ่ รวงขาวเพิ่มจำนวนและน้ำหนักเมล็ดมากขึ้น พร้อมต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการแปรรูป

จากการผลิตที่ใส่ใจตั้งแต่ต้นของการผลิตไปจนถึงการแปรรูปเข้าสู่กระบวนการบรรจุภัณฑ์ ที่ได้มาตรฐานนี้เอง จึงทำให้ข้าวอินทรีย์หอมมะลิสุรินทร์ GI จังหวัดสุรินทร์ ได้เป็นสินค้า OTOP ภายใต้แบรนด์ “กุลาไรซ์ 105” ผ่านการรับรองรับมาตรฐานการผลิตข้าวออร์แกนิคจากกรมการข้าวจวบจนปัจจุบัน

สำหรับท่านใดที่สนใจข้าวอินทรีย์หอมมะลิสุรินทร์ GI จังหวัดสุรินทร์ ของเครือข่ายผู้ผลิตข้าวหอมมะลิ 105 ชุมพลบุรี 1 สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุญเหลือ ฤทธิรณ หมายเลขโทรศัพท์ 089-425-5466

………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 21 กรกฎาคม 2022