มกอช. ใช้ระบบ QR Trace on Cloud สร้างความเชื่อมั่นคุณภาพทุเรียนป่าละอู

ทุเรียนป่าละอู เป็นหนึ่งในสินค้าทุเรียนรสอร่อย เป็นสินค้าขายดี ที่ขายได้ราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 250 บาท ทำให้มีสินค้าทุเรียนจากแหล่งอื่นเข้ามาสวมรอย ขายในชื่อทุเรียน  ป่าละอู ซึ่งสินค้าทุเรียนปลอมเหล่านี้ มักมีคุณภาพต่ำหรืออาจเป็นทุเรียนอ่อน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและชื่อเสียงทุเรียนป่าละอูเป็นอย่างมาก  

โชว์การใช้ระบบ QR Code ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน

สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนป่าละอู ปรับตัวเข้าสู่ระบบตามสอบสินค้าเกษตร QR Trace on Cloud เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารแก่ผู้บริโภค เพราะสวนทุเรียนป่าละอูที่เข้าสู่ระบบ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพสินค้าถึงแหล่งผลิตต้นทางได้อย่างสะดวก 

 

เห็นเครื่องหมาย Q ที่ใด

มั่นใจสินค้าดี ปลอดภัย

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนมีความสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยหันมาเลือกบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย และผ่านการรับรองมาตรฐานมากยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย “Q” ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกรับรองให้กับสินค้าที่ผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรนำไปใช้แสดงกับสินค้าเกษตรที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัย และมีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล หากผู้บริโภคพบเห็นเครื่องหมาย Q ที่ใด สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าเกษตรนั้นมีมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย เหมาะสมต่อการบริโภค

นายประโยชน์ พรหมสุวรรณ โชว์โลโก้ QR Code

นอกจากเครื่องหมายรับรองมาตรฐานที่บ่งบอกถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อควบคุมความปลอดภัยของการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอย่างเข้มงวด โดยนำมาตรฐานสินค้าเกษตรมาควบคุม กำกับ และดูแล ตั้งแต่ฟาร์ม สถานประกอบการ แหล่งรวบรวมจำหน่าย จนถึงกระบวนการการขนส่ง ซึ่งทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

รมว.เฉลิมชัย ศรีอ่อน มอบหนังสือรับรองระบบ QR Code แก่เกษตรกร

 

มกอช. พัฒนาระบบตรวจสอบ

สินค้าเกษตร บนระบบคลาวด์

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้พัฒนาระบบการตามสอบสินค้าเกษตร บนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (QR Trace on Cloud) เพื่อให้เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการ นำระบบไปใช้งานในการจัดเก็บข้อมูลที่มาที่ไป ข้อมูลการผลิตเพื่อใช้ในการตามสอบสินค้าเกษตร สามารถบริหารจัดการการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บไปสร้าง QR Code สำหรับเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูล ตามสอบสู่ผู้บริโภค

นายพิศาล กล่าวว่า ที่ผ่านมา มกอช. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการใช้ระบบตามสอบย้อนกลับ มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน มีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 2,400 รายในปี 2565 มกอช. ได้เข้าไปส่งเสริมการใช้ระบบ QR Traces on Cloud ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีการผลิตสินค้าทุเรียนที่ได้การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มกอช. จึงได้จัดทำโครงการเพื่อยกระดับ และพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ ที่มีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการร่วมกับอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ผู้บริหาร มอกช. และเกษตรกร โชว์สินค้าไร่ทวีกาญจน์

โครงการดังกล่าว เป็นการนำร่องการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ QR Trace on Cloud ที่เชื่อมโยงข้อมูลสินค้าเกษตร ทุเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และ GI ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูล ตรวจสอบสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น  

และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเปิดโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถเชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้าในตลาดออนไลน์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ของภาคเอกชนที่มีการจำหน่ายสินค้าอยู่แล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์เอกสารใบรับรองมาตรฐาน สามารถตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสและลดปัญหาในเรื่องการส่งออกได้

แปลงปลูกทุเรียนป่าละอู ที่ได้รับมาตรฐาน GAP

 

ทุเรียนป่าละอู รสอร่อย

ภูมิศาสตร์ป่าละอู เหมาะสมกับคุณภาพทุเรียน เพราะเป็นที่ราบและเนินเตี้ยๆ ระหว่างแนวเขาสูง อากาศช่วงกลางวันร้อนมาก ส่วนตอนกลางคืนจะค่อนข้างเย็น อุณหภูมิต่ำ ชาวบ้านเรียก “กลางวันร้อน กลางคืนเย็น” ช่วยส่งผลต่อคุณภาพทุเรียนที่ดีขึ้น ประกอบกับลักษณะของดินเป็นป่าเปิดใหม่ ดินชั้นล่างมีสภาพความสมบูรณ์มาก ชั้นดินที่อยู่ลึกลงไปมีธาตุอาหารอยู่มาก เหมาะสมต่อการสร้างคุณภาพเนื้อ รสชาติทุเรียน ช่วงหน้าฝน น้ำที่ไหลจากภูเขาพัดพาสารอินทรีย์และธาตุอาหารลงมาสะสมในบริเวณที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่การปลูกทุเรียนส่วนใหญ่ของเกษตรกรป่าละอู ทำให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์แข็งแรง ดูดธาตุอาหารได้เต็มที่ ทำให้ทุเรียนหมอนทองป่าละอูมีรสชาติอร่อย เนื้อละเอียดเนียน กลิ่นไม่แรง แตกต่างจากหมอนทองจันท์และหมอนทองชุมพรอย่างชัดเจน

 

ไร่ทวีกาญจน์ ใช้ QR Code

สร้างความมั่นใจผู้บริโภค

ไร่ทวีกาญจน์ อยู่บริเวณเลขที่ 337 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสวนทุเรียนอีกแห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (GAP) GAP กษ GAP   A1-003630485 และได้รับการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI)     สช 57100062 (09/10/2562)

นางสาวกรรณิกา ทวีกาญจน์ เจ้าของไร่ทวีกาญจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 80 ไร่ โดยพื้นที่ร้อยละ 90 ใช้ปลูกทุเรียน ที่เหลืออีกร้อยละ 10 ปลูกไม้ผลอื่นๆ ทั้งเงาะ มังคุด ผลผลิตส่วนใหญ่ขายเป็นผลไม้สด บางส่วนนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบ ทุเรียนกวน ทุเรียนทอด ไอติมทุเรียน เค้ก ทุเรียน พิซซ่าทุเรียน ขนมเปี๊ยะทุเรียน สินค้าของสวนไร่ทวีกาญจน์การันตีว่า เป็นทุเรียนป่าละอูของแท้ เน้นจำหน่ายสินค้าหน้าสวนให้กับนักท่องเที่ยว และขายออนไลน์ กิโลกรัมละ 250 บาท มีผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายจากทุเรียน อยากให้ลองมาชิม

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช.

 

แปลงใหญ่ทุเรียนป่าละอู 

นายประโยชน์ พรหมสุวรรณ ข้าราชการบำนาญ สังกัด กทม. ได้ซื้อสวนทุเรียนป่าละอูตั้งแต่ปี2528 และเข้ามาทำอาชีพเกษตรเต็มตัวเมื่อปี 2558 นายประโยชน์ลองผิดลองถูกมาหลายปีกว่าจะได้ผลผลิตทุเรียนที่ดีขึ้นเกือบเท่าตัวโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี และได้รับการรับรองแปลงจีเอพี จากกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบัน นายประโยชน์รับตำแหน่งเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนป่าละอู 

นายประโยชน์ เล่าว่า สวนทุเรียนแห่งนี้เป็นสวนทุเรียนที่ได้รับการสนับสนุนในโครงการแปลงใหญ่โดยมีที่ตั้งแปลง ที่เลขที่ 139 หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมดกว่า 14 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 2 ตันต่อปี เป็นแปลงที่ได้มาตรฐาน และได้รับการรับรองมาตรฐาน (GAP) GAP กษ 03-9001-36470635111 และได้รับการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) สช 57100062 ลำดับที่ 620623PKN004

นายประโยชน์ กล่าวว่า ผลผลิตทุเรียนป่าละอูในปีนี้ประสบปัญหาวิกฤตหลายอย่าง โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต ราคาปุ๋ยสูงขึ้นมากจากตันละหมื่นกว่าบาท ขึ้นมาเกือบ 3 หมื่นบาท รวมทั้งราคายากำจัดศัตรูพืชสูงขึ้นด้วย ที่เป็นปัจจัยหลักในการดูแลต้นทุเรียน นอกจากนี้ สภาพอากาศปีนี้ฤดูร้อนๆ ขึ้นกว่าทุกปี ทำให้ทุเรียนสุกเร็ว เป็นเหตุให้ชาวสวนต้องเร่งตัดขาย เปอร์เซ็นต์การสุกต่ำ เมื่อนำไปขายกับล้งก็โดนกดราคาลงมาก อีกทั้งยังโดนทุเรียนจากภาคใต้มาสวมขายหลอกราคาต่ำ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นทุเรียนป่าละอู

ผู้บริหาร มกอช. โชว์ทุเรียนป่าละอูรสอร่อย
นางสาวกรรณิกา ทวีกาญจน์ เจ้าของไร่ทวีกาญจน์

“ผมดีใจมากที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่มารับฟังปัญหาด้วยตนเองและมาเปิดงานมหกรรมทุเรียนป่าละอู ระหว่างวันที่ 9-12 กรกฎาคม 2565 ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าทุเรียนป่าละอูของแท้ ที่มีรสชาติพิเศษ เนื้อละเอียด รสไม่หวานมาก เมล็ดลีบ ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ มกอช. ยังได้นำระบบ QR Code มารองรับทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้รับความมั่นใจจากผู้บริโภคว่าเป็นทุเรียนป่าละอูของแท้ ทั้งมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย จึงทำให้ขายได้ราคาสูงกว่าทุเรียนในพื้นที่อื่น” นายประโยชน์ กล่าวในที่สุด


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354