5 เดือนส่งออก “มัน” หด7.7% แย่งขาย-ไร้อำนาจต่อรอง

ส่งออกมันสำปะหลัง 5 เดือนหด 7.7% เอกชนโอดไม่มีกำลังต่อรองผู้นำเข้า จี้รัฐแก้ปมคุมสต๊อกมันเส้น-ล้อมคอกมันด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้านสวมรอยเป็นพิกัดมันอื่น ๆ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า การส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2560 ปริมาณ 4,822,965 ตัน ลดลง 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่า 1,166 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.9%

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะมันเส้นมีจีนเป็นตลาดส่งออกเดียว ปัจจุบันจีนมีโรงงานขนาดใหญ่ ใช้มันเส้น 5 แสนตัน-1 ล้านตันเพียง 4-5 โรงงาน เทียบกับผู้ส่งออกไทยมีกว่า 20 ราย ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายบังคับให้ผู้ส่งออกสต๊อกมันเส้น เพื่อได้รับสิทธิส่งออก ทั้งที่จีนไม่ได้มีนโยบายจำกัดปริมาณนำเข้า จึงกลายเป็นผู้ส่งออกต้องแย่งกันขาย หลังจากได้รับการจัดสรร ทำให้ผู้ส่งออกพยายามลดต้นทุนการซื้อผู้ประกอบการลานมันต้องประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากราคาดิ่งลง ทำให้ไม่สามารถซื้อหัวมันแข่งกับโรงแป้งได้ ลานมันในไทยทำงานน้อยลง

“หัวมันสำปะหลังที่ออกมาพร้อม ๆ กันในระยะเวลาเดียวกันของทุกประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวมันในไทยล้นโรงแป้ง โรงแป้งต้องลดราคา เพื่อระบายสินค้าในสต๊อกบ้าง ชะลอการรับซื้อหัวมันบ้าง ทำให้ผู้ส่งออกแป้งมันมีฐานะไม่แตกต่างจากผู้ส่งออกมันเส้น คือ ไม่มีกำลังต่อรองกับผู้ขาย”

ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดไม่มาก ราคาหัวมันที่โรงแป้งนครราชสีมารับซื้อปรับขึ้นมา กก.ละ 1.80 บาท คาดว่าจากช่วงนี้ไปถึงฤดูกาลใหม่ ปี 2560/2561 (ต.ค. 2560-ก.ย. 2561) ราคาน่าจะดีกว่าปีก่อนที่เคยร่วงลงต่ำกว่า กก.ละ 1 บาท เพราะปีนี้เกษตรกรจะปลูกมันลดลง เนื่องจากเกษตรกรขาดทุน 3 ปี

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังลดลงอย่างโหดร้าย คือ ความต้องการใช้หัวมัน เพื่อทำผลิตภัณฑ์มันเส้น แป้ง และเอทานอล คิดเป็นปริมาณ 40 ล้านตัน มากกว่าที่เกษตรกรไทยผลิตได้ 30 ล้านตัน มีผลต่างเกือบ 10 ล้านตัน หากตามกลไกตลาดควรต้องดีขึ้น แต่ยังมีหัวมันลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเขตอีสานตอนล่าง สำแดงภายใต้พิกัดอื่น ๆ ทำให้ข้อมูลกรมศุลกากรมีน้อยเพียง 2 หรือ 4 ล้านตัน และยังหลุดรอดจากการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของสินค้าไทยด้วย”

หากรัฐไม่ดูแลปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้ามันคุณภาพต่ำ และยังคงนโยบายการส่งออกมันเส้นเหมือนเดิม ไม่เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลคุณภาพส่งออกให้เป็นไปตามระเบียบ ปล่อยให้ผู้ส่งออกทุกผลิตภัณฑ์แข่งกันขาย เชื่อว่าเหตุการณ์คงไม่แตกต่างกับ 2-3 ฤดูกาลที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการเพาะปลูก ส่งเสริมให้เกษตรกรมีทางเลือกผลิตมันเส้น เพื่อได้มูลค่าเพิ่ม แต่ถ้ารัฐไม่บริหารให้อุตสาหกรรมมันเส้นและแป้งมันแข่งขันกันซื้อหัวมันจากเกษตรกรไทยคงต้องรับเคราะห์กรรมต่อไป

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์