ม.มหิดล สร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้นักพัฒนาตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์และความปลอดภัยจากการนำโค้ดมาใช้ซ้ำ

ประเทศไทยได้บรรจุทักษะการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ไว้ในกลุ่มการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเยาวชน ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

อาจารย์ ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของวิธีคิดแบบวิทยาการคำนวณว่า เป็นปัจจัยสำคัญของการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสู่การเป็น “นักพัฒนาซอฟต์แวร์” (Software Developer) อาชีพที่มีบทบาทสำคัญในโลกยุคดิจิทัลซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการบ่มเพาะบัณฑิตของคณะฯ เพื่อให้ตอบโจทย์โลกในศตวรรษที่ 21

ในการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) นั้นไม่สำคัญเพียงการมีความรอบรู้ทางคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) แต่จะต้องมีความสามารถในการคิดและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบด้วย โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกด้านที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการคิดคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การลงทุน เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ ฯลฯ พลวัตของการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) เริ่มต้นจากการสร้าง “Source Code” หรือการเขียนโปรแกรมที่อิงตามขั้นตอนวิธี (Alogoritm) ที่คิดเอาไว้เพื่อให้ได้ตามผลลัพธ์ที่ต้องการ ก่อนเดินหน้าพัฒนาสู่การใช้งานจริง

บ่อยครั้งผู้พัฒนาโปรแกรมเลือกที่จะใช้การสร้างโค้ดโคลน “Code Clone” หรือการคัดลอกชุดคำสั่งที่เขียนไว้แล้วจากแหล่งข้อมูลโค้ดขนาดใหญ่ เช่น เว็บไซต์ Stack Overflow หรือ GitHub มาใช้ในซอฟต์แวร์ที่ตนพัฒนา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่วางแผนไว้ แต่ต้องพบกับความเสียหายในภายหลัง เมื่อที่เลือกนำมาใช้นั้นมีลิขสิทธิ์ และมีใบอนุญาต (License) ที่ไม่ตรงกับซอฟต์แวร์ที่ตนพัฒนา หรือมาพร้อมกับปัญหาต่างๆ เช่น บั๊ก หรือปัญหาด้านความปลอดภัย

จากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว อาจารย์ ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล จึงได้ริเริ่มวิจัย เรื่อง “การตรวจวัดความเหมือนของโค้ดและการค้นหาโค้ดโคลนในข้อมูลโค้ดขนาดใหญ่” (Code Similarity and Clone Search in Large-Scale Source Code Data) ตั้งแต่เมื่อครั้งยังศึกษาในระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) สหราชอาณาจักร ด้วยทุนพัฒนาอาจารย์ของคณะ ICT และของมหาวิทยาลัยมหิดล โดย อาจารย์ ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล ประสบผลสำเร็จจากการสร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบการนำโค้ดข้อมูลมาใช้ซ้ำจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเครื่องมือมาใช้เพื่อศึกษา Code Clone ที่อาจทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือมีปัญหาความปลอดภัยได้เครื่องมือดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อช่วยเหลือนักพัฒนาในระหว่างการพัฒนาโปรแกรมได้

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th