สาวสุรินทร์ ปลูกดาวเรืองตัดดอก 1 ไร่ รับเงินสดทุกวัน ฟันรายได้เกือบแสน/เดือน

คุณกุสุมา สายรัตน์ หรือ พี่เจ๋ม อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 13 ตำหนองใหญ่ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรสาวคนเก่ง ปลูกดาวเรืองตัดดอกขายเพียง 1 ไร่ สามารถสร้างรายได้เกือบแสนต่อเดือน แต่เส้นทางสู่ความสำเร็จหญิงเก่งคนนี้บอกว่าไม่ง่าย ถึงแม้ว่าจะมีหลายคนบอกว่าดาวเรืองเป็นพืชที่ปลูกง่าย สร้างรายได้ดีนั้น เป็นเรื่องจริงเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์เท่านั้น ส่วนเกษตรกรมือใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่วงการนี้อย่าเพิ่งคิดถึงรายได้หลักแสน เพราะ “ดาวเรือง” นับเป็นพืชที่ดูเหมือนปลูกง่ายแต่ปราบเซียนมานักต่อนักแล้ว เพราะฉะนั้นในช่วงแรกของเกษตรกรมือใหม่อาจยังต้องใช้เวลาลองผิดลองถูก ค่อยเป็นค่อยไปก่อน แล้วประสบการณ์จะค่อยๆ นำพาเราไปสู่ความสำเร็จ

เบอร์ 0 เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ประมาณ 12 เซนติเมตร
ต้นกล้าดาวเรือง อายุ 15-18 วัน เตรียมย้ายลงแปลงปลูก

พี่เจ๋ม เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกดาวเรืองตัดดอกขายให้ฟังว่า อาชีพการปลูกดาวเรืองเป็นอาชีพเดิมที่พ่อกับแม่ทำมาก่อนแล้ว ตนรับหน้าที่เข้ามาสานต่อและพัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับเทคนิคการเพิ่มผลผลิต และการทำตลาดโดยที่ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง หรือตลาดส่งใหญ่ๆ ด้วยเหตุผลที่ดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่ตลาดมีความต้องการอยู่ทุกวัน เหมือนกลายเป็นสินค้าจำเป็นไปแล้ว โดยเฉพาะในวันพระ ที่จะมีความต้องการสูงมากเป็นพิเศษ แต่ในอีกแง่มุมดาวเรืองก็เป็นพืชที่ราคาผันผวนสูง ขึ้น-ลง เหมือนกราฟหุ้นก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองจำเป็นต้องมีประสบการณ์การทั้งในด้านการปลูก และการจัดการตลาดที่ดี หากทำทั้งสองข้อนี้ได้รับรองได้ว่า ต่อให้ราคาตลาดจะผันผวนอย่างไร แต่ปลูกยังไงก็ไม่ขาดทุน

ดอกดาวเรือง บานสะพรั่งทั่วสวน
คุณกุสุมา สายรัตน์ หรือ พี่เจ๋ม

รายได้ที่มากมาย
มาพร้อมกับความเสี่ยง

หลายท่านคงรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับรายได้ของการปลูกดาวเรือง ที่ปลูกเพียง 1 ไร่ แต่สามารถสร้างเงินได้หลักแสน ในส่วนตรงนี้ พี่เจ๋ม อธิบายถึงข้อเท็จจริงว่า สามารถทำได้จริงๆ แต่สำหรับเกษตรกรที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการปลูกมาก่อนแล้ว เนื่องจากดาวเรืองเป็นพืชที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น คือ 1. สภาพภูมิอากาศ หากปลูกในช่วงฤดูฝนจะมีความเสี่ยงมากกว่าปลูกในฤดูอื่นๆ เพราะดาวเรืองมีกลีบดอกหลายชั้น จึงทำให้อุ้มน้ำไว้ได้มาก หากเจอฝนและแดดสลับกันมากๆ จะส่งผลให้ดอกดาวเรืองได้รับความเสียหาย และเสียรายได้ในช่วงระยะการตัดมีดแรกไป 2. โรคและแมลงศัตรูของดาวเรืองมีทั้งเพลี้ยไฟ ไรแดง หนอนชอนใบ หนอนผีเสื้อกลางคืน โรคดอกเน่า และเชื้อรา เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้ปลูกต้องหมั่นสำรวจตรวจแปลงทุกวันอย่าให้ขาด เพื่อป้องกันและกำจัดได้ทันท่วงที 3. ระยะความห่างในการปลูกระหว่างต้น ความห่างระหว่างแปลง และจำนวนต้นที่ปลูกมีผลต่อการดูแลและจำนวนผลผลิตที่ออกมาเช่นกัน และ 4. สายพันธุ์ที่เลือกปลูกสำคัญมาก จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับการปลูกดาวเรืองมามากพอสมควร ทำให้ได้รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ของดาวเรืองแต่ละสายพันธุ์ให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องเลือกสายพันธุ์ที่ปลูกให้เหมาะสมกับการใช้งาน และความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ เช่น ถ้าหากลูกค้าต้องการนำไปทำบายศรี หรือกำดอกไม้ขาย จะต้องเลือกสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วให้ดอกใหญ่ ดอกบาน แต่ถ้าหากเป็นลูกค้าที่ต้องการนำไปร้อยพวงมาลัย จะต้องการสายพันธุ์ที่ดอกกลม แน่น ไม่เสียทรง อยู่ได้นาน ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกษตรกรไม่ควรละเลย

กำลังตั้งใจเก็บดอกดาวเรืองสวยๆ ไปส่งลูกค้า

“วิกฤตสร้างโอกาส”
ปลูกเอง-ขายเอง กำไรมากขึ้น

พี่เจ๋ม บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นของการปลูกดาวเรือง ตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างหนัก จากที่เคยปลูกส่งให้กับปากคลองตลาดเพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้น เศรษฐกิจชะงัก ตลาดต้องปิด ค้าขายไม่ได้ ตรงนี้นับเป็นวิกฤตและโอกาสที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

“โอกาสที่พี่หมายถึงก็คือ เมื่อพี่ขายส่งให้ปากคลองตลาดไม่ได้ พี่ก็ต้องมานั่งคิดหาทางออก เพราะไหนจะดอกไม้ของตัวเอง และดอกไม้ของเครือข่ายอีกหลายแสนดอก พี่ก็ฮึดสู้ด้วยการเดินไปหาพ่อค้าแม่ค้าที่เขาขายดอกไม้กำ ว่าเขาสนใจจะรับดอกไม้เราไหม เรามีดอกไม้แบบนี้นะ พร้อมกับเอาตัวอย่างดอกไม้เราไปให้เขาดู เริ่มขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในอำเภอปราสาทก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขยายเข้าไปตลาดในเมือง และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงที่พี่ได้ตัดสินใจสร้างกลุ่ม     เฟซบุ๊กขายดอกดาวเรืองขึ้นมา เชื่อว่าพอพี่โพสต์ว่ามีดอกดาวเรืองขาย หลังจากนั้นมาไม่นานดอกไม้พี่ก็ไม่พอขายอีกเลย”

ดอกดาวเรืองเบอร์ 1 คัดพิเศษสำหรับลูกค้าทุกท่าน
ย้ายกล้าลงแปลงปลูกอย่างสวยงาม

ซึ่งในส่วนตรงนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงมีความสงสัยว่าความต้องการดอกดาวเรืองของคนในพื้นที่นั้น มีมากพอๆ กับการปลูกส่งปากคลองตลาดใช่หรือไม่ พี่เจ๋ม อธิบายเพิ่มเติมว่า ปริมาณความต้องการในพื้นที่อาจจะไม่มากเท่ากับการปลูกส่งให้ปากคลองตลาด แต่การปลูกเองขายเองให้กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ทำให้เหลือกำไรมากขึ้น เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์จะมีหมู่บ้านที่ร้อยพวงมาลัยขายโดยเฉพาะ แต่เขาไม่ได้ปลูกเอง จึงมีความจำเป็นต้องรับซื้อดอกดาวเรืองในปริมาณมากประมาณหลักหมื่นถึงหลักแสนดอก ต่อรอบการตัด และอีกหนึ่งข้อดีคือ นอกจากการที่ช่วยประหยัดค่าขนส่งทางไกลได้แล้ว ลูกค้าก็จะได้ดอกไม้ที่สดใหม่ เพราะใช้ระยะเวลาในการขนส่งน้อย สามารถเก็บเงินสดได้ทุกวัน

เทคนิคการปลูก ดาวเรือง
ให้เป็นที่ต้องการของตลาด

เจ้าของอธิบายถึงเทคนิคการปลูกดอกดาวเรืองให้ฟังว่า ปัจจุบันที่สวนของตนปลูกดาวเรือง จำนวน 1 ไร่ สามารถปลูกดาวเรืองได้ประมาณ 4,000-5,000 ต้น อยู่ในเกณฑ์ที่กำลังพอดีสำหรับการปลูกและทำตลาดเอง และเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

เก็บดอกในช่วงหน้าฝน ดอกเปียก จำเป็นต้องปูผ้ารองพื้นก่อนวางดอก จะทำให้กลีบดอกไม่ช้ำ

ดาวเรือง เป็นไม้ล้มลุกที่สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่มีข้อแม้ว่าผู้ปลูกจะต้องเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับช่วงระยะเวลาที่นำมาปลูก เพราะบางสายพันธุ์ทนโรคเป็นพิเศษ จะเหมาะกับปลูกในฤดูฝน แต่บางพันธุ์จะเหมาะปลูกในช่วงฤดูร้อน ให้ดอกเยอะ ตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์เข้าช่วย หากเป็นเกษตรกรมือใหม่ที่สนใจอยากปลูกจึงแนะนำให้ปลูกในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน จะเป็นช่วงที่อากาศร้อน เหมาะกับการปลูกดาวเรืองที่สุด จะได้ผลผลิตเยอะ และง่ายต่อการดูแลรักษา

อยู่ในขั้นตอนเตรียมแปลงปลูก

การเตรียมดิน ไถกลบ 1 ครั้ง พร้อมผสมน้ำหมักเพื่อปรับสภาพดิน และโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อราในดิน แล้วตากดินทิ้งไว้ 3 วัน จากนั้นทำการไถปั่นดินแล้วขึ้นร่องปลูกเฉพาะช่วงหน้าฝน แต่หากปลูกในหน้าร้อนไม่จำเป็นต้องขึ้นร่องสามารถปลูกได้เลย

การปลูก ก่อนปลูกรดน้ำในแปลงให้ชุ่ม รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักขี้วัว จากนั้นย้ายต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 15-18 วัน ลงหลุมปลูก ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด จะส่งผลทำให้การเจริญเติบโตได้เร็ว ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร

ระบบน้ำ เป็นระบบน้ำพุ่ง ในช่วงระยะ 15 วันแรก ให้น้ำทุกวัน วันละครั้ง เช้าหรือเย็นก็ได้ พอหลังจาก 15 วัน ไปแล้วต้นจะเริ่มโตขึ้นก็จะเพิ่มปริมาณการให้น้ำขึ้นมาเป็นทุกวัน ให้ทั้งเช้าและเย็น แต่ถ้าหากปลูกในฤดูฝนจะให้น้ำเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ดอกใหญ่ สีสวย คุณภาพสม่ำเสมอเท่ากันทุกดอก

การบำรุงใส่ปุ๋ย ในช่วง 4 สัปดาห์แรก จะมีการใส่ปุ๋ยหมักขี้วัวหมัก และขี้หม้อกรอง ทุกสัปดาห์ ปริมาณต้นละ 1 กำมือ พร้อมกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เม็ด ปริมาณ 1 ช้อนชา ต่อต้น

จากนั้นเมื่อดอกเริ่มออก จะเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 หรือ 8-21-21 เพื่อบำรุงดอก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใส่จนกว่าจะไม่สามารถเก็บดอกได้

บรรจุใส่ถุงเตรียมส่งลูกค้า

ปุ๋ยทางใบ ฉีดพ่นทุก 3 วัน ในช่วงแรกเน้นใส่ปุ๋ยสูตร 25-0-0 จากนั้นเมื่อเริ่มมีตุ่มดอกขึ้น จะเริ่มบำรุงด้วยแคลเซียมโบรอน, ไคโตซาน ช่วยควบคุมไข่หนอน, ไตรโคเดอร์มา ช่วยควบคุมเชื้อราที่จะเกิดขึ้น โดยการฉีดพ่น ให้ฉีดพ่นสลับกันตามความเหมาะสม เพราะสารชีวภัณฑ์บางชนิดไม่สามารถฉีดพ่นพร้อมกันได้

เทคนิคการเด็ดยอดสำคัญมาก สำหรับเทคนิคการเด็ดยอด ถือเป็นเทคนิคสำคัญที่ช่วยเพิ่มปริมาณดอก หรือเพิ่มจำนวนผลผลิตให้กับเกษตรกรได้ เพราะปริมาณดอกของมีดแรก จะขึ้นอยู่กับเทคนิคการเด็ดยอดว่าจะได้มากหรือน้อย วิธีการคือ การนับคู่ใบ ยกตัวอย่างของที่สวนจะเก็บไว้ 3 คู่ใบ เท่ากับว่าจะสามารถเก็บได้ 6 ดอก ซึ่งเวลาตัดในมีดถัดไป จำนวนดอกก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากมีดแรก ยิ่งถ้าหากเกษตรกรสามารถดูแลได้สม่ำเสมอเท่ากัน จะได้ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทั้งปริมาณและคุณภาพ

ใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก
ดอกดาวเรือง บานสะพรั่งทั่วสวน

 

ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย
5,000-10,000 ดอก ต่อมีด
มีเท่าไหร่แม่ค้ารับหมด

พี่เจ๋ม อธิบายว่า สำหรับดาวเรืองใช้ระยะเวลาการปลูกนับหลังจากวันย้ายกล้าลงหลุมประมาณ 40-45 วัน ปลูกครั้งหนึ่งเก็บเกี่ยวได้นานหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา โดยปกติเกษตรกรทั่วไปจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ 13-16 มีด แต่สำหรับของที่สวนตนสามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง  20-25 มีด ที่มีผลสืบเนื่องมาจากการดูรักษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้เฉลี่ย 5,000-10,000 ดอก ต่อ 1 มีด 2 วัน เก็บ 1 ครั้ง แต่ถ้าในช่วงอากาศที่เหมาะสม ปลูกในช่วงฤดูร้อน ผลผลิตจะเพิ่มปริมาณขึ้นจากเดิม 2-3 เท่า

กำลังช่วยกันคัดไซซ์ดอกดาวเรือง

ส่วนด้านการตลาด พี่เจ๋ม บอกว่า จากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการมานานคือ ดาวเรือง เป็นดอกไม้ที่ต้องการความสม่ำเสมอทั้งผลผลิตและคุณภาพ หากเกษตรกรท่านใดส่งดอกไม้ที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีความสม่ำเสมอให้กับแม่ค้าเพียง 1 ครั้ง ก็จะไม่สามารถส่งขายในตลาดนั้นได้อีกเลย เนื่องจากแม่ค้าจะมีการบอกปากต่อปากว่าสินค้าของแต่ละเจ้าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเกษตรกรควรมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และรักษาคุณภาพของผลผลิตให้สม่ำเสมอ  สิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถมัดใจลูกค้าได้

ดอกบาน พร้อมเก็บเต็มที่

“ตอนนี้ตลาดส่งดาวเรืองของพี่ส่วนใหญ่เป็นแม่ร้อยมาลัย เน้นดอกขนาดเบอร์ 3 และเบอร์ 4 เพราะสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งร้อยมาลัย หรือจะเอาไปกำขายก็สวย ที่สวนจึงเน้นจะเน้นปลูกสายพันธุ์ที่ให้ขนาดดอกที่ตลาดต้องการมากน้อย ส่วนไซซ์บายศรีก็ที่ตลาดมีความต้องการน้อยกว่า พี่ก็วางแผนการปลูกให้น้อยลงหน่อย บวกกับที่สวนพี่อยู่ติดถนนพี่ก็กำดอกไม้ และร้อยพวงมาลัยมาขายเอง ทุกวันพระ และวันโกน ถือเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่า จากปกติขายได้ดอกละ 1 บาท แต่พอมากำขายเองจะได้ราคาเพิ่มขึ้นมาเป็นดอกละ 2-3 บาท ทำให้พี่มีรายได้จากการขายดาวเรืองทั้งหมดต่อเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 บาท แต่ถ้าช่วงไหนราคาดีพี่กันรายได้เกือบแสน”

ร้อยพวงมาลัยขายเอง ทุกวันพระ

ฝากถึง เกษตรกรมือใหม่
เตรียมตัวอย่างไร

“หลายคนพอเห็นรายได้สวยหรู ก็อยากที่จะทำบ้าง แต่เงื่อนไขคือเรามีประสบการณ์ในการปลูกจริงๆ ไหม เพราะดาวเรืองถ้าไม่มีประสบการณ์ในการปลูกถือว่ายาก เพราะกว่าพี่จะมีรายได้ขนาดนี้ พี่ใช้เวลาตั้งแต่แม่ปลูกมาประมาณ 7-8 ปี ตอนที่พี่ปลูกครั้งแรกก็ขาดทุนเพราะไม่มีประสบการณ์ ดังนั้น คนปลูกจะต้องเข้าใจนิสัยของพืช รู้ว่าช่วงไหนมีโรคอะไร หรือเอาง่ายๆ ดาวเรืองเป็นพืชที่ปลูกแล้วทิ้งแปลงไม่ได้ จะต้องเข้าไปดูทุกวันอย่าให้ขาด เพราะในเวลากลางคืนนี่แหละจะชอบมีแมลงมาวางไข่ หากเราไม่ลงแปลงแค่วัน เราก็ควบคุมไม่ทันแล้ว เพราะฉะนั้นรายได้ที่มากจะมาพร้อมกับความใส่ใจที่มากเสมอ” พี่เจ๋ม กล่าวทิ้งท้าย

กำดอกไม้ขายเอง สร้างมูลค่าเพิ่ม
ดอกดาวเรืองตั้งแต่เบอร์ 1-4 วางเรียงกันนับจากซ้ายคือ เบอร์ 1

ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 099-623-9224 หรือติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก : Jems Kusuma , kusuma Infinity


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354