เขื่อนอุบลรัตน์เปิดระบายน้ำเพิ่ม 15 ล้านลบ.ม. หวั่นล้น ช่วยพื้นที่เพาะปลูกท้ายเขื่อน

วันที่ 1 กรกฎาคม นายวรวิทย์ รวีนิภาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายนเป็นต้นมา เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้เพิ่มการระบายน้ำจากปัจจุบัน 10 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็น 15 ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวนาปีและการเกษตรอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ในเขต จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ที่มีพื้นที่กว่า 6 แสนไร่

โดยปริมาณน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ในวันนี้มีปริมาณน้ำ 1,360 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้งาน 779 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่าง มีน้ำไหลเข้าเขื่อนในรอบสัปดาห์มากกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าหากเทียบปริมาณน้ำวันนี้กับปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 870 ล้าน ลบ.ม. และขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการระบายน้ำวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังไม่พอต่อการพร่องน้ำ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้ทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น มีมติเพิ่มการระบายอีก 5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะเปิดประตูอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน หรือ สปริงเวย์ จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม

“การเปิดสปริงเวย์จะเปิดระบายน้ำ 5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร รวมกับการระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง เครื่องละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้เขื่อนระบายน้ำวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้น การระบายน้ำจะระบาย สูงสุดไม่เกินวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร การระบายน้ำวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้ระดับน้ำใน ลำน้ำพองสูงขึ้น 1 เมตร แต่ไม่ส่งผลกระทบน้ำล้นตลิ่งแต่อย่างใด เนื่องจากลำน้ำพองด้านท้ายเขื่อนสามารถรับน้ำได้ถึง 35 ล้าน ลบ.ม./วัน” นายวรวิทย์กล่าว

ด้านนายครรชิต คงสมของ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จ.ขอนแก่น ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ในเขตพื้นที่ 8 อำเภอ 26 ตำบล 154 หมู่บ้าน 4,777 ครัวเรือน 13,705 คน เป็นพื้นที่การเกษตร 16,049.5 ไร่ ประกอบด้วยนาข้าว 11,988.75 ไร่ พืชไร่ 2,115.75 ไร่ พืชสวน 1,945 ไร่ พื้นที่การประมง 453 ไร่/บ่อ สาธารณูปโภค (ถนน 9 สาย) มูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น 3,332,309 บาท พร้อมได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว จำนวน 8 อำเภอ ได้แก่ ภูผาม่าน โนนศิลา หนองเรือ บ้านไผ่ ชุมแพ หนองนาคำ มัญจาคีรี และ อ.ซำสูง

“คาดหมายลักษณะอากาศใน 4 วันข้างหน้า (ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. 2560) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีกำลังอ่อนลง สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ประเทศลาวและเวียดนามตอนบนจะเคลื่อนตัวขึ้นไปปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทางจังหวัดจึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2560 และแจ้งให้อำเภอจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ โดยดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติของบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ดังนี้ เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ให้พิจารณาหาพื้นที่สำหรับใช้รองรับน้ำ เพื่อดำเนินการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดอุทกภัย” นายครรชิตกล่าว