“ถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา” ผลงาน 3 นักศึกษา มจธ. กวาด 2 รางวัลระดับชาติ Thailand Innovation Awards 2022 และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา (วช.)

จากงานวิจัยของ ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการที่ทำการวิจัยและพัฒนายางพารามาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถได้สูตรยางพาราผสมสังกะสีออกไซด์ (Zinc oxide) ที่มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รวมถึงเชื้อไวรัสและเชื้อดื้อยาบางชนิด โดยดำเนินการร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์พระมงกุฎ

นางสาวพรไพลิน ลิปภานนท์-นางสาวปิยฉัตร เสียมไหม-ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี-นางสาวพัชรินทร์ โพธิ์รัตน์

เป็นที่มาของแนวคิดนำงานวิจัยชิ้นนี้ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ของ 3 นักศึกษาสาว จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นางสาวปิยฉัตร เสียมไหม (แพร) นางสาวพรไพลิน ลิปภานนท์ (ผักกาด) ชั้นปีที่ 3 และ นางสาวพัชรินทร์ โพธิ์รัตน์ (แพร) ชั้นที่ปี 2 โดยมี ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ที่สามารถนำสูตรผสมดังกล่าว มาสู่การผลิตเป็นถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา (Disinfectant Para-rubber Glove)

ด้วยจุดเด่นของสูตรการผลิตของอาจารย์ที่ไม่ใช่การนำ Zinc oxide มาเคลือบบนพื้นผิวหน้ายาง แต่เป็นวิธีการผสมสารนี้เข้าไปในตัวเนื้อยางโดยตรงที่ทำให้ตัวผิวหน้าปลอดจากสารเคลือบ แต่ยังคงคุณสมบัติประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อดี ตนเองและเพื่อนจึงปรึกษากับอาจารย์ถึงการนำสูตรการผลิตนี้ มาพัฒนาเป็นถุงมือยางด้วยการหาเทคนิคการนำยางสูตรดังกล่าวมาขึ้นรูปเป็นถุงมือยางจนสำเร็จ ที่สำคัญยังพบว่าถุงมือสูตรใหม่นี้ไม่ฉีกขาดง่าย และใช้งานได้ดีดั่งเช่นถุงมือยางพาราทั่วไป ซึ่งทำให้ผลงานถุงมือยางนี้ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ประเภทนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ จากเวทีการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

น้ำยางที่ผสมสำหรับขึ้นรูปถุงมือยางฆ่าเชื้อ

สำหรับการทำแผนการตลาดครั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด 0.1% ของตลาดถุงมือยางในประเทศ หรือเท่ากับ 362,800 กล่องต่อปี (100 ชิ้นต่อกล่อง) โดยใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิต 30,000 ชิ้นต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินลงทุน สำหรับเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักร สายพานการผลิต และค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในโรงงาน อยู่ที่ประมาณ 69 ล้านบาท ที่คำนวณแล้วพบว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 2 ปีครึ่ง ด้วยจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้ทั้งด้านนวัตกรรม และด้านการตลาด สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในระดับปริญญาตรี/ปวส. จากเวที Thailand Innovation Awards 2022 พร้อมรับเงินรางวัล 30,000 บาท (ไม่มีทีมชนะเลิศรางวัลที่ 1)

อย่างไรก็ตาม ดร.เยี่ยมพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพาราถือเป็นงานวิจัยนวัตกรรมที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ การส่งออก เป็นอีกทางออกหนึ่งในการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราในภาวะที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ซึ่งผลงานดังกล่าวหากมีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ถือเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน