คณะวิศวฯ มทร.ศรีวิชัย สร้างเครื่องผ่าผลหมากสำหรับชุมชน ลดขั้นตอนในการผลิตหมากแว่น และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร

กระบวนการผ่าหมากในท้องถิ่นภาคใต้ยังใช้วิธีการแบบดั้งเดิม คือ ใช้มีดในการผ่าหมากออกเป็นสองซีก จากนั้นนำไปตากแดดประมาณ 1-2 แดด ให้เนื้อหมากด้านในหดตัวจึงทำการแกะเนื้อด้านในออก นำเนื้อหมากที่ผ่านการแกะแล้วไปตากแดดอีกครั้ง ประมาณ 4-5 แดด ก็สามารถเก็บเพื่อส่งขายได้ ซึ่งต้องการใช้เวลานานในการผลิตหมากแห้ง ทำให้ไม่สามารถผลิตหมากแห้งให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้ นอกจากนี้ ในการผลิตหมากแห้งแบบดั้งเดิมนี้ยังทำให้เกษตรกรผู้ทำการผ่าหมากได้รับบาดแผลที่นิ้วสูงมาก และสภาพแวดล้อม พบว่าภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุกตลอดปี ทำให้เกิดปัญหาเกิดเชื้อราขึ้นเนื่องจากความชื้นและการตากแดดไม่เพียงพอ ส่งผลให้ไม่สามารถขายหมากแห้งได้ในราคาที่ต้องการ จากข้อมูลข้างต้นสามารถสรุปปัญหาที่สำคัญได้ดังนี้ คือ กำลังการผลิตไม่เพียงพอกับการต้องการของตลาด กระบวนการผลิตยังไม่มีประสิทธิภาพส่งผลทำให้เกิดความไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย และล่าช้า ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด เนื่องจากหมากเกิดเชื้อรา และไม่สามารถกำหนดความหนาของหมากได้

จากปัญหาดังกล่าว รศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย สงขลา จึงได้จัดทำเครื่องผ่าผลหมาก เป็นการลดขั้นตอนในการผลิตหมากแว่น และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรการพัฒนาเครื่องผ่าผลหมาก โดยตัวเครื่องประกอบด้วยระบบการลำเลียงหมากแห้ง ระบบป้อนหมากแห้งเข้าสู่ระบบการผ่าเป็นแว่นๆ จากนั้นก็จะดำเนินการสร้างเฉพาะเครื่องผ่าหมากต้นแบบ โดยเครื่องจักรดังกล่าวจะสามารถช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในกระบวนการแปรรูปหมากแห้งเป็นแว่นๆ เพื่อรองรับต่อความต้องการของตลาด อีกด้วย

เครื่องผ่าผลหมากสามารถผ่าได้เร็วกว่าการใช้แรงงานคนโดยผลการทดลองเครื่องผ่าผลหมากจะมีความสามารถในการผ่าได้ประมาณ 8,040 ผล ต่อชั่วโมง ส่วนการผ่าผลหมากด้วยแรงงานคนมีความสามารถในการผ่าได้มากสุดประมาณ 960 ผล ต่อชั่วโมง และจากการทดลองผ่าผลหมากเป็นสี่ซีกเปรียบเทียบระหว่างแรงงานคนกับเครื่องผ่าผลหมาก สรุปได้ว่าเครื่องผ่าผลหมากสามารถผ่าได้เร็วกว่าการใช้แรงงานคนโดยผลการทดลองเครื่องผ่าผลหมากจะมีความสามารถในการผ่าได้ประมาณ 6,120 ผล ต่อชั่วโมง ส่วนการผ่าหมากด้วยแรงงานคนมีความสามารถในการผ่าได้มากสุดประมาณ 760 ผล ต่อชั่วโมง เมื่อแรงงานคนปฏิบัติงานเป็นระยะเวลาหนึ่งผู้ปฏิบัติงานจะมีความเมื่อยล้าเกิดขึ้น ในขณะที่เครื่องผ่าผลหมากสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

หลักการทำงานของเครื่องผ่าผลหมาก จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหมากและกรรมวิธีของกระบวนการผ่าผลหมาก จึงได้นำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ในการออกแบบกลไกการทำงานของเครื่อง โดยหลักการทำงานของเครื่องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลัง โดยชุดของการผ่าผลหมากใช้มอเตอร์เป็นตัวต้นกำลังใช้สายพานและผ่านเกียร์ทดรอบมอเตอร์เพื่อที่จะลดจำนวนรอบให้ช้าลงและส่งกำลังต่อไปยังมู่เลย์ และมู่เลย์จะขับเพลา ซึ่งเพลาจะยึดติดกับแขนส่งกำลังที่เป็นลูกเบี้ยวและดันให้กระบอกสูบเคลื่อนที่ไปในกระบอกอัดเพื่อจะดันผลหมากที่อยู่ในกระบอกเคลื่อนที่ไปยังใบมีดผ่า ในส่วนของช่องบรรจุหมากก็จะบรรจุผลหมากลงไปในกรวงที่เตรียมไว้สำหรับบรรจุผลหมาก ผลหมากก็จะค่อยๆ ทยอยลงไปยังกระบอกอัด เป็นการเริ่มเข้าสู่กระบวนการผ่าผลหมาก โดยที่กระบอกสูบจะทำการดันให้ผลหมากที่อยู่ในกระบอกอัดไปกระทบกับใบมีดที่วางไว้ แต่ผลหมากที่ผ่านการผ่าแล้วจะออกมาเป็นสองซีกหรือสี่ซีกนั้นจะขึ้นอยู่กับใบมีดที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นผลหมากที่ผ่าแล้วก็จะตกลงในลางรับแล้วก็จะเคลื่อนที่ลงมาอยู่ในภาชนะที่เตรียมไว้เป็นอันสิ้นสุดของกระบวนการผ่า

เห็นได้ว่าเครื่องผ่าผลหมาก หากใช้แรงงานคน 1 คน สามารถทำงานได้วันละ 8 ชั่วโมง ต่อวัน ผ่าหมากได้ 7,680 ผล ต่อวัน คิดเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 384 บาท ต่อวัน และหากเครื่องผ่าหมากใช้แรงงานคน 1 คน ทำงานได้วันละ 8 ชั่วโมง ต่อวัน ในการควบคุมเครื่องผ่าหมาก 64,320 ผล ต่อวัน คิดเป็นจำนวนเงิน 2,888.7 บาท ต่อวัน หักค่าไฟฟ้า ค่าโสหุ้ย ค่าจ้างแรงงานคน และค่าเสื่อมราคาของเครื่องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีระยะเวลาในการคืนทุนของเครื่องผ่าผลหมาก 12 วัน และเมื่อเปรียบเทียบรายได้ในการผ่าหมากระหว่างคนกับเครื่องผ่าหมาก

 

 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  รศ. วรพงค์ บุญช่วยแทน สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย สงขลา โทรศัพท์ 081-569-7303