เรื่องเล่าจากท้องทุ่งยูเครน

หลังห่างหายไประยะหนึ่ง เรากลับมาพบกันอีกครั้ง จับเข่าคุยถึงวิถีชีวิตในเรือกสวนไร่นาจากทั่วโลก ขอบคุณบรรณาธิการที่ให้โอกาส ขอบคุณผู้อ่านที่ยังต้อนรับขับสู้ 

ปฐมบทของการกลับมา มีเรื่องที่เราน่าจะรับรู้ร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องสุข แต่เป็นเรื่องชีวิตของคนร่วมโลก ร่วมการงานเดียวกันกับเรา

เรื่องเล่าจากท้องทุ่งยูเครน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน รอบล่าสุด (เขารบกันมาหลายรอบ) ที่เริ่มมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 ไม่ได้แค่พรากชีวิตหมื่นแสนไปเท่านั้น มันได้พรากท้องไร่ท้องนาไปจากมือเกษตรกร พรากอาหารไปจากปากท้องที่กำลังหิวโหยโดยไม่ฟังอีร้าค่าอีรมใดๆ

ยูเครนเหมือนเมืองไทยตรงที่ดินดีน้ำดี ปลูกอะไรก็งดงาม จึงเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เหมือนที่ไทยเป็น ในยุโรปเขายกให้ยูเครนเป็น bread basket หรือตะกร้าขนมปัง เป็นแหล่งอาหารสำคัญเลี้ยงดูผู้คนในย่านนั้น ถ้าเป็นแถวบ้านเราก็คือจัดว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำนั่นเอง

ก่อนสงคราม หรือเอาชัดๆ คือปีที่แล้วนี่เอง ยูเครนเป็นยักษ์อันดับที่ 4 ของโลกในการส่งออกธัญพืชต่างๆ ที่จัดเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารของฝรั่ง ไล่ตั้งแต่ขนมปังที่ต้องใช้ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง หรือข้าวบาร์เลย์ที่เอาไปทำอาหารสารพัดอย่างรวมทั้งหมักเบียร์ที่เป็นเครื่องดื่มบรรเทาหนาวของยุโรป เอิ่ม พักหลังก็ดื่มกันไปรัวๆ แทบทุกฤดู

ยูเครนยังเป็นผู้ส่งออกเมล็ดทานตะวัน ซึ่งเขานำไปผลิตเป็นน้ำมันทานตะวัน อาหารสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย

ระเบิดกลางไร่นาแต่ห้ามการเก็บเกี่ยวไม่ได้

นับแต่สงครามเกิดขึ้น ไร่นาถูกระเบิดทำลายมหาศาล ชาวไร่ชาวนาถูกเข่นฆ่า ที่เหลือก็ไม่สามารถทำมาหากินตามปกติได้

คนจนๆ ไม่มีตังค์ซื้ออาหารดีๆ กิน เคยใช้น้ำมันทานตะวันราคาถูกปรุงอาหาร ก็ขาดอาหารถูกๆ แบบนี้ไปด้วย

เกษตรกรคนหนึ่งที่เมืองทูรัส ไม่ไกลจากเมืองลาวีที่ถูกรัสเซียโจมตีอย่างหนักมาหลายเดือน บอกว่าถึงจะมีชีวิตรอด แต่ก็ทำไร่นาตามปกติไม่ได้ ปุ๋ยราคาเพิ่มขึ้น 60% เพราะว่าต้องนำเข้า ในยามนี้ก็นำเข้าไม่ได้เพราะแทบไม่มีใครอยากค้าอยากขาย ไหนจะต้องนำเข้าเป็นเงินดอลลาร์ซึ่งก็จะหาที่ไหนในยามนี้ และแม้จะเอาเข้ามาได้ก็ไม่รู้จะถูกระเบิดทิ้งเมื่อไหร่

“ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวโพด และพืชผลทั้งหมดถูกระเบิด และถึงไม่โดนระเบิดเราก็ไม่รู้จะขนไปขายยังไง ถนนหนทางมีแต่ระเบิด ท่าเรือมีแต่ระเบิด” เขาบอกว่ายังไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าสถานการณ์แย่ลงอีกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าหรือเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวอันทารุณของยุโรป

สหประชาาชาติเพิ่งรายงานสัปดาห์ก่อนว่า ราคาอาหารโลกพุ่งขึ้น 24% ทันทีในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งก็คือเดือนที่รัสเซียบุกยูเครน นี่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของยูเครน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งก็บอกว่าราคาอาหารจะสูงขึ้นต่อแน่นอนถ้าสถานการณ์ในประเทศยูเครนไม่เปลี่ยนแปลง

ลุงอิวาน มีฟาร์มอยู่ในเขตคีฟ ไม่ไกลจากเมืองหลวง ลุงทำสวนทำนามาหลายชั่วอายุคน บ้าน โรงนา ยุ้งเก็บธัญพืชในไร่ของลุง ลุงปูกระเบื้องทุกแผ่นตอกตะปูทุกดอกด้วยตัวเอง บัดนี้ถูกทำลายย่อยยับ หมู่บ้านของลุงเป็นสมรภูมิของทหาร 2 ฝั่งมาตั้งแต่การรบเริ่มต้น ทุกวันนี้ไม่มีใครอยากมาเหยียบหมู่บ้านนี้อีก เพราะไม่รู้ว่าจะเจอกับระเบิดเมื่อไหร่

ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ทหาร 2 ฝั่งยึดหมู่บ้านลุงเป็นสมรภูมิ สิ่งที่ตระกูลลุงสั่งสมมาหลายชั่วอายุคนบวกกับการทำงานหนักของลุงในระยะหลายสิบปีก็สูญสลายไป

กระสุนมาทั้งทางบนพื้นดิน ทางเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ และวันหนึ่งทหารก็ขับรถถังเข้ามาถึงกลางทุ่งนาของลุง เผายุ้งเผาโรงนา ฆ่าสัตว์

“สวนผมไม่ได้มีแค่ข้าวสาลี ข้าวโพด ต้นไม้ใบหญ้า แต่มันมีจิตใจ ความรัก วิญญาณของบรรพบุรุษผมหลายต่อหลายรุ่น” ลุงกับครอบครัวต้องหนีหัวซุกหัวซุน รอจนทหารรัสเซียถอนกำลังออกไป จึงค่อยๆ คลานกลับเข้ามา

ยุ้งฉางที่ถูกระเบิดราบ

“ต้องคลานเท่านั้นครับ เพราะถ้าทหารเห็นมีสิทธิ์ถูกยิงตาย ชาวสวนแถวนี้ถูกสไนเปอร์ตายมาแล้วหลายคน” ลุงอิวานและครอบครัวเคยมีวัว 50 ตัว ตอนนี้เหลือไม่ถึงครึ่ง เคยมีหมูร้อยตัวตอนนี้เหลือ 9 ตัว

สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่ต้นไม้วัวควายหมูสัตว์เลี้ยงต่างๆ แต่เสียงหัวเราะของเด็กๆ เสียงตะโกนคุยกันของแม่บ้านที่เคยได้ยินทุกวัน หายไปด้วย

บ้านเรือนถูกทิ้งร้างบ้านเหมือนคนยืนตายทั้งเป็น ทุกวันนี้กับระเบิดยังกระจายอยู่ทั่วหมู่บ้านไม่มีใครอยากมา

“ขนาดทหารยังไม่กล้าเข้ามาเลยครับ ทหารระดับหัวหน้าหน่วยเจอกับระเบิดไป 2 คน หลังจากนั้นไม่มีทหารเข้ามาอีกเลย” ทุกวันนี้ลุงและครอบครัวที่กัดฟันจะกอบกู้ไร่นาขึ้นมาใหม่ ต้องอาศัยเดินตามรอยเท้าวัวเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกับระเบิด เพราะถ้ามีสัตว์เลี้ยงจะต้องรับมือก่อน

เพื่อนบ้านทั่วประเทศหนีออกจากยูเครนไปหลายล้านคน แต่ลุงอิวานบอกว่าไปไม่ได้เพราะมีเรือกสวนไร่นาที่บรรพบุรุษฝากไว้ มีสัตว์เลี้ยงต้องดูแล

“อาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลักของยูเครน เป็นหน้าเป็นตาเป็นศักดิ์ศรีของประเทศนี้ ผมทิ้งมันไปไม่ได้ เราจะสร้างไร่นาเราขึ้นมาใหม่ สร้างชาติของเราขึ้นมาใหม่ เราจะต้องได้ยินเสียงเด็กหัวเราะอีกครั้ง”

ข้อมูลจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งกรุงคีฟ ประเทศยูเครน บอกว่ามูลค่าความเสียหายจากภาคเกษตรของประเทศ จากผลของสงคราม มีมูลค่ามากกว่าใกล้ล้านล้านบาทแล้ว

อีกฟากหนึ่งของประเทศ ป้านาเดีย พร้อมครอบครัว ก็เฝ้าดูเรือกสวนไร่นาของตัวเองกลายเป็นสมรภูมิ ที่ทหารยูเครนต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย นอกจากนั้น ยังต้องคอยดูแลทหารยูเครนที่เข้ามาในพื้นที่ ต้องหุงหาอาหารให้

โรงนาที่ถูกกระสุนหลังคาพรุน

“ทั้งในฐานะแม่ ในฐานะประชาชน และในฐานะคนผลิตอาหาร จะให้ดูพวกเขาอดอยากได้อย่างไร” เวลาประมาณนี้ถ้าเป็นช่วงปกติ ป้านาเดียจะต้องขนผลิตผลไปถึงท่าเรือแล้ว เพื่อส่งออกไปประเทศอื่น แต่ตอนนี้อย่าว่าแต่จะขนออกไปนอกไร่ ถนนข้างนอกนั่นมีแต่กับระเบิด ท่าเรือก็มีแต่กับระเบิด มีป้ายตราหัวกะโหลกเตือนว่าห้ามเรือออกนอกชายฝั่ง ชาวสวนรายหนึ่งเคยเสี่ยงเอาเรือขนผลผลิตออกไป เรือเจอระเบิดเสียหาย เจ้าของตายคาที่

“พื้นที่บางส่วนยังเพาะปลูกได้ แต่ก็ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน เราก็เอามาแบ่งกันกินไปวันๆ ดีกว่าเผาทิ้ง” ป้านาเดีย บอก

เครื่องสีเมล็ดพืชสูงขนาดเท่าตึกสามชั้นเจอระเบิดปลิวหายไปไหนไม่รู้ เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ ส่วนใหญ่กู้เงินซื้อมาทั้งนั้น ก็ไม่อยู่ในสภาพจะทำงานได้

แต่เมื่อชีวิตสั่งให้สู้ ชาวสวนชาวนายูเครนจำนวนมาก จึงดิ้นรนหาทางเพาะปลูกต่อไป เท่าที่สถานการณ์จะอนุญาต ดิ้นรนเอาผลผลิตไปขายจนได้ ที่แรงน้อยหน่อยก็ขายกันเองตามตลาดที่ยังเปิดอยู่ตามมีตามเกิด ที่พอมีแรงหน่อยก็กระเสือกกระสนหาทางออกไปขายตามพรมแดน บ้างเล็ดรอดออกไปจนถึงแม่น้ำดานูบ ส่งสินค้าไปเท่าที่จะทำได้

ป้าชาวสวนคนหนึ่งเอาข้าวโพดไปขายที่ตลาดชายแดน ระหว่างทางก็ส่ายสอดสายตาหาสามีของเธอที่แบกปืนไปแนวหน้าและหายไปหลายเดือนแล้ว

หวังว่าจะได้เห็นเขาอีกสักครั้งก่อนตาย