ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สร้างเครื่องแยกเมล็ดโกโก้ ลดต้นทุนการผลิต

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ปลูกโกโก้และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคและเป็นขนมหวานทั้งในประเทศและส่งออกเมล็ดโกโก้สู่ตลาดต่างประเทศ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการปลูกโกโก้กันมานานแล้วก็ตาม พื้นที่ปลูกกันมากส่วนใหญ่จะปลูกกันทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร มีบางจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งมีปลูกกันมาก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ในภาคอื่นๆ ก็สามารถปลูกได้แต่ก็จำกัดด้วยดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝนและความชื้นจึงทำให้ได้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้รับซื้อและผู้ประกอบการ กรมวิชาการเกษตรได้พยายามปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ชุมพร 1 และให้เกษตรกรทำการปลูกแซมในสวนไม้ผล สวนมะพร้าว สวนยางพารา เพื่อให้โกโก้เป็นพืชทางเลือกอีกทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

เมล็ดโกโก้ที่แกะออกจากผลและรอการหมัก

จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2547-2557 มีความต้องการบริโภคโกโก้ในประเทศสูงขึ้นถึงปีละ 20,000 ตัน ในปี 2556 มีการส่งออกเมล็ดโกโก้และผลิตภัณฑ์ประมาณ 3,000 ตัน แต่ปริมาณการผลิตเมล็ดโกโก้ของประเทศมีประมาณ 200 ตัน

ในปี 2551 ไทยมีการนำเข้าโกโก้ปริมาณ 38,847.88 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,978.55 ล้านบาท โดยมีแหล่งนำเข้าเมล็ดโกโก้หลัก 3 อันดับ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกานา จากการที่มีการนำเข้ามากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกโกโก้และผลผลิตไม่เพิ่มมากขึ้นและพื้นที่การปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกดังกล่าว รวมทั้งต้นทุนการผลิตของเกษตรกรค่อนข้างสูง ราคารับซื้อในประเทศยังไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่การปลูกและยังไม่แน่ใจในแหล่งรับซื้อโกโก้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ส่งออกโกโก้และผลิตภัณฑ์มีการขยายตัวมากขึ้น เช่น ในปี 2551 ปริมาณส่งออก 18,482.35 เมตริกตัน มูลค่าหลัก 2,180.19 ล้านบาท ตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และมาเลเซีย

 

แนวความคิดผลิตเครื่องแยกเมล็ดโกโก้

คุณอนุสรณ์ สุวรรณเวียง วิศวกรการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากเมล็ดโกโก้ตากแห้งเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นที่กลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตได้เองเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าก่อนส่งขายโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ขั้นตอนการทำเมล็ดโกโก้ตากแห้ง เริ่มจากการแกะเมล็ดโกโก้ออกจากผลโกโก้ เมื่อแกะเมล็ดโกโก้ออกจากผลแล้วจะต้องนำมาหมักอีก 6 วัน เพื่อให้ได้กลิ่นและรสชาติที่ดีขึ้น หลังจากนั้นจึงนำเมล็ดโกโก้มาตากแห้งประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อลดความชื้นจาก 60 เปอร์เซ็นต์ให้เหลือ 7 เปอร์เซ็นต์

คุณอนุสรณ์ กล่าวว่า เมล็ดโกโก้ที่แห้งแล้วจะถูกนำมารวบรวมบรรจุในกระสอบและจัดส่งไปยังโรงงาน ขั้นตอนการทำเมล็ดโกโก้ตากแห้งเริ่มจากการแกะเมล็ดโกโก้ออกจากผล ใช้แรงงานคนทั้งสิ้น การใช้แรงงานคนทำให้ความสามารถในการทำงานต่ำ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

จากข้อมูลการสำรวจต้นทุนการแกะและหมักเมล็ดโกโก้ที่สหกรณ์การเกษตรแหลมสิงห์ จำกัด จังหวัดจันทบุรี พบว่าผลโกโก้ 20 ตันมีต้นทุนค่าแรงงาน 18,000 บาท โดยใช้แรงงานคน 30 คน ค่าแรง 300 บาทต่อวัน และต้องใช้เวลา 2 วัน

คุณอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวความคิดที่จะวิจัยและพัฒนาเครื่องแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผล เพื่อที่จะลดการใช้แรงงานคนในกระบวนการผลิตเมล็ดโกโก้แห้ง ลดเวลาการทำงานและเพิ่มกำลังการผลิตในขั้นตอนการแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผล ก่อนที่จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการหมักเพื่อนำไปผลิตเป็นเมล็ดโกโก้แห้งและนำไปเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ช็อกโกแลต และขนมหวานต่อไป

การแยกเมล็ดโกโก้จากการใช้แรงงานคน

 

ขั้นตอนการแกะเมล็ดโกโก้ของเกษตรกร

คุณอนุสรณ์และคณะวิจัยได้ดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลกระบวนการนำเมล็ดโกโก้ออกจากผลของเกษตรกร ศึกษาอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นของวิธีการต่างๆ โดยร่วมมือกับเกษตรกรเพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์แก้ปัญหา ต่อจากนั้นได้ทำการออกแบบสร้างเครื่องต้นแบบแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผล ศึกษาปัจจัยต่างๆ ของอุปกรณ์ที่มีผลต่อการแยกเมล็ดออกจากผล จากนั้นได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบเบื้องต้น ปรับปรุงแก้ไขเก็บข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์ที่เหมาะสม นำอุปกรณ์ต้นแบบไปทดสอบเก็บข้อมูลจริงกับกลุ่มเกษตรกร

ศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพและปริมาณการแยกเปลือกกับเมล็ดโกโก้ระหว่างการใช้แรงงานคนกับวิธีใช้เครื่องต้นแบบ และสุดท้ายทำการวิเคราะห์ผลทางด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม

คุณอนุสรณ์ บอกว่า จากการสำรวจเก็บข้อมูลขั้นตอนการแกะเมล็ดโกโก้ออกจากผลของกลุ่มเกษตรกรที่สหกรณ์การเกษตรแหลมสิงห์ จำกัด จันทบุรี พบว่าเกษตรกรมีเงื่อนไขการแกะเมล็ดโกโก้ ดังนี้ 1. เมล็ดโกโก้ต้องไม่งอก 2. ต้องแยกเมล็ดออกจากพวงและเปลือก 3. เมล็ดโกโก้ที่แยกออกจากเปลือกแล้วจะต้องไม่แห้งจนเกินไป หรือนำน้ำมาผสมจนเหลว เนื่องจากต้องนำเมล็ดไปทำการหมักต่อไป เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้มีคุณภาพดีขึ้น

การแยกเมล็ดโกโก้จากการใช้แรงงานคน

 

ใช้เวลา 2 ปี ได้เครื่องต้นแบบ

คุณอนุสรณ์ หัวหน้าคณะทำงานศึกษาและพัฒนาเครื่องแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผลเพื่อลดการใช้แรงงานคนและลดต้นทุนการผลิต บอกว่า เริ่มตั้งแต่ทำการออกแบบและสร้างเครื่องแยกเมล็ดโกโก้ ศึกษาปัจจัยต่างๆ ของเครื่องมือที่มีผลต่อการแยกเมล็ดออกจากผลโกโก้ทำการทดสอบเครื่องเบื้องต้น ปรับปรุงแก้ไขเครื่องให้สมบูรณ์ใช้เวลาในการดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-กันยายน 2561 เป็นเวลา 2 ปี

“เราก็ได้เครื่องต้นแบบแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผล มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.80 เมตร ใช้กำลังมอเตอร์ไฟฟ้า 1 แรงม้า ซึ่งประกอบด้วยชุดผ่าผลโกโก้ ซึ่งใช้ใบมีดทำจากวัสดุเหล็กชุบแข็ง และชุดคัดแยกเมล็ดโกโก้”

แบบเครื่องแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผล

ผลการเปรียบเทียบระหว่างการใช้แรงงานแยกเมล็ดโกโก้กับการใช้เครื่องต้นแบบ พบว่าเครื่องต้นแบบมีความสามารถในการทำงาน 1,400 ผลต่อชั่วโมง ส่วนแรงงานคนมีความสามารถในการทำงาน 235 ผลต่อชั่วโมงต่อคน ด้านคุณภาพการใช้แรงงานไม่มีความเสียหายต่อเมล็ด ส่วนเครื่องต้นแบบมีความเสียหาย 4 เปอร์เซ็นต์ของเมล็ดหลังการตัดซึ่งผู้ประกอบการยอมรับได้

ถังเหล็กแยกเมล็ดโกโก้

เนื่องจากต้นทุนการใช้งานเครื่องแยกผลโกโก้ 84 บาทต่อกิโลกรัม มีจุดคุ้มทุนของการใช้งานเครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้ 6.05 ตันต่อปี และมีระยะเวลาคืนทุน 2 ปี อัตราผลตอบแทนเงินลงทุนเครื่องแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผล 67.75 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

เครื่องต้นแบบแยกเมล็ดโกโก้ออกจากผลพร้อมทดสอบเบื้องต้นที่สถานประกอบการ

สนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 097-330-4358