อานิสงส์หยุดเผาป่า-ลดหมอกควัน สร้างพื้นที่เก็บเห็ด-แหล่งรายได้ “บ้านหัวดอย”

ช่วงฤดูแล้งของทุกปี พื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันเกิดขึ้นเป็นประจำ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และประชาชนที่ต้องทำงานกลางแจ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชนมีความตื่นตัว ร่วมกันวางแนวทางป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยทำกิจกรรมป้องกัน ตลอดจนรณรงค์ลดการเผา ซึ่งเป็นวิถีของชาวบ้านที่เชื่อกันว่า “การเผา” ทำให้ขี้เถ้ากลายเป็นปุ๋ยและป่าใหม่ ทำให้พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ แต่ผลที่เกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม คือการทำลายป่าไม้และผืนดินให้เสื่อมโทรม

จากแนวทางป้องกันและรณรงค์กันในทุกหมู่บ้าน ทำให้ปีนี้ประสบความสำเร็จ สามารถลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศต่ำกว่า 10 ไมครอน ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สถิติมีฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 3 วันเพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะพื้นที่ อำเภอแม่สรวย ที่ไม่พบจุดฮอตสปอตแม้แต่ครั้งเดียว จากเดิมทุกปีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมากกว่า 10 ครั้ง แต่ละครั้งนานเกินสัปดาห์

“บ้านหัวดอย” หมู่ที่ 6 ตำบลท่าสาย อำเภอเมืองเชียงราย เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันและดูแลรักษาป่า ลดปัญหาควัน

ประสิทธิ์ เทพศิลป์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวดอย บอกว่า ชาวบ้านร่วมกันรณรงค์หยุดเผาป่า ล่าสัตว์และตัดไม้ รวมทั้งสร้างกฎของหมู่บ้านเพื่อป้องปรามการรุกล้ำทำลายป่า หลังดำเนินการมาต่อเนื่องกว่า 3 ปี ทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ชาวบ้านสามารถหาเห็ดและของป่าได้จำนวนมาก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน การดำเนินการของหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เข้ามาให้ความรู้ประชาชน จัดหาพันธุ์ไม้มาปลูกเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้ผืนป่ากว่า 2,500 ไร่

“ก่อนหน้านี้ พื้นที่ป่าของหมู่บ้านเป็นป่าเสื่อมโทรมและเกิดไฟป่าทุกปี เกิดจากฝีมือมนุษย์แทบจะ 100% ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบออกมาให้เก็บขายได้ ทำให้เกิดการลักลอบเผาป่า หลังได้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกับชาวบ้านและได้รับการสนับสนุนวิทยาการและงบประมาณป้องกันไฟป่าและปลูกป่า เมื่อชาวบ้านเริ่มเข้าใจปัญหาและผลกระทบ ก็หันมาให้ความร่วมมือมากขึ้น นอกจากนี้ได้ออก “กฎของหมู่บ้าน” เพื่อรักษาป่า โดยห้ามตัดทำลายต้นไม้ กำหนดมีค่าปรับตามขนาดของต้นไม้ที่ตัด หากใครเผาป่าจะถูกจับปรับนำเงินเข้าหมู่บ้าน รวมทั้งส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย

หลังดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพป่ากลับสู่ความสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถเก็บเห็ดและหาของป่าได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน โดยไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่นและไม่มีการลักลอบทำลายป่า แต่กลับมาช่วยกันดูแลรักษาป่า โดยเฉพาะปีนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (จังหวัดเชียงราย) และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เชียงราย จัดงบประมาณสนับสนุนการจัดประชาสัมพันธ์และจัดทำแนวกันไฟ ทำให้ไฟป่าหมดไปโดยสิ้นเชิง ปีนี้ไม่พบการเผาไหม้แม้แต่ครั้งเดียว เพราะชาวบ้านตระหนักถึงผลได้ผลเสียของการเผาป่า เดิมการเผาเพื่อให้เห็ดถอบออก แต่เห็ดถอบสร้างรายได้เพียงเดือนเดียว ขณะที่การอนุรักษ์ทำให้มีเห็ดป่าชนิดอื่น สามารถหากินและขายได้นานถึง 7 เดือน สร้างรายได้ดีกว่าและที่สำคัญธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีแหล่งท่องเที่ยว สัตว์ป่าและอากาศบริสุทธิ์”  ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

จรูญ ไชยประเสริฐ อายุ 67 ปี ชาวบ้านหัวดอย กล่าวว่า ยึดอาชีพหาเห็ดบนดอยปุยมานานกว่า 10 ปี มีเห็ดแดง เห็ดถ่าน เห็ดไข่ห่าน เห็ดหน้าม่อย และเห็ดก่อ ในอดีตมีเห็ดไม่มากนักเพราะป่าไม่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งป่าถูกเผาทุกปี แต่ปัจจุบันป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ มีเห็ดออกมาก สร้างรายได้ดี ฤดูเห็ดออกไม่ต้องไปหางานอื่นทำ เพราะหาเห็ดขายได้วันละ 1,000 กว่าบาท บางวันสูงกว่า 2,000 บาท หากขยันและหาเห็ดเก่ง จะมีรายได้ถึงวันละ 5,000-6,000 บาท บางคนหาเห็ด 2 รอบ ทั้งกลางวัน กลางคืน มีรายได้ถึงวันละกว่าหมื่นบาท ปีหนึ่งหาเห็ดได้ 2 ครั้ง ในฤดูฝนและฤดูหนาว นอกจากนี้มีหน่อไม้และผักท้องถิ่นตลอดปี

บุญตัน เมืองไหว อายุ 73 ปี ชาวบ้านหัวดอย กล่าวว่า คนที่หาของป่าเก่งจะมีรายได้จากป่าปีละไม่ต่ำกว่า 1.4-1.5 แสนบาท ยิ่งป่าไม้และจังหวัดมาช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว หากเกิดไฟป่าจะช่วยกันดับไม่ให้ลุกลาม ป่าที่สมบูรณ์นอกจากมีของป่ามากขึ้น ยังมีสัตว์ป่า สมุนไพรต่างๆ นำไปต้มกิน โดยแทบไม่พึ่งยาแผนปัจจุบัน

กมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 กล่าวว่า ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ชาวบ้านในพื้นที่เชียงรายและพะเยาเตรียมป้องกันไฟป่าในปีต่อไป โดยอบรมให้ความรู้ว่า หากไม่เกิดไฟป่าจะได้อะไรกับพื้นที่ป่าบ้าง ซึ่งส่งผลดีทุกด้าน ในอนาคตจะต่อยอดให้ชาวบ้านมีกำลังพลช่วยเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง หากชาวบ้านเข้ามาเสริม ยิ่งเพิ่มขีดความสามารถของการดับไฟป่าได้ดีมากขึ้น

“บ้านหัวดอย” ถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการป่าและทรัพยากร รวมทั้งต้นแบบการจัดการควบคุมและป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดเชียงราย โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชาวบ้านที่ผนึกกำลังร่วมกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เหรียญชัย จันทร์สุภาเสน