สสว. ร่วม มทร.ธัญบุรี-สถาบันอาหาร ทุ่ม 60 ล. ยกระดับคลัสเตอร์มะพร้าว

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันการอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จัดทำโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพรไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกมะพร้าวซึ่งปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ แต่มีปัญหาข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่อาจส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว จึงมอบหมายให้สถาบันอาหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนาคลัสเตอร์มะพร้าวเพื่อยกระดับศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น การให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกและคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าในเรื่องการบ่งบอกต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์การยืดอายุ และการลดกลิ่นของมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยธุรกิจมะพร้าวที่เน้นมี 3 กลุ่ม คือ การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว และเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ โดยในส่วนของคลัสเตอร์สมุนไพรจะเน้นการผลิตเป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอางซึ่งตลาดมีความต้องการสูงแต่ผลผลิตยังไม่เป็นออร์แกนิก และมีปัญหาด้านมาตรฐาน จึงมอบหมายให้ มทร.ธัญบุรีร่วมกับสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพรไทยรับผิดชอบพัฒนาในด้านกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการรับรองมาตรฐานการผลิตโดยจดทะเบียน อย.รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

นายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทั้งต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร กลางน้ำ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นเครื่องสำอาง กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นยา กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มปลายน้ำคือกลุ่มผู้จำหน่ายค้าปลีกและค้าส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากสมุนไพรโดยมีเป้าหมายให้เกิดการรวมกลุ่ม 5 เครือข่าย ยกระดับผู้ประกอบการ จำนวน 700 ราย ในปี 2560 มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ให้มีผลิตภาพในด้านต่างๆ สูงขึ้น และพัฒนาศักยภาพผู้ประสานงานเครือข่าย  (Cluster Development Agent : CDA) ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาในด้านต่างๆ จำนวน 10 ราย ซึ่งจะมีการจัดการประชุมและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในทุกภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคอีสาน (ขอนแก่น สกลนคร) ภาคใต้ (พังงา นครศรีธรรมราช) และ ภาคกลาง (สระบุรี จันทบุรี)

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน