ผู้เขียน | กรรณิกา เพชรแก้ว |
---|---|
เผยแพร่ |
สื่อทั่วโลกกำลังรายงานถึงวาระครบรอบสองปีของการรัฐประหารครั้งล่าสุดในพม่า เป็นสองปีที่แผ่นดินอาบเลือด บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ผู้คนล้มตายหลายพัน ถูกจับถูกทรมาน พลัดที่นา คาที่อยู่ หนีตายเข้าไปในป่า หรือไม่ก็หนีตายข้ามมาบ้านเรา
เรื่องความทุกข์ของคนพม่าในระยะสองปีที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องจริง จริงเสียยิ่งกว่าจริง
แต่ที่จริงกว่าและไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือความทุกข์ทรมานนี้ไม่ได้มีมาแค่สองปี แต่มันยาวนานกว่าเจ็ดสิบปี เรียกว่าเริ่มมาตั้งแต่ประเทศประกาศเอกราชในวันที่ 4 มกราคม 2491
พม่าถูกสาปให้อยู่กับความขัดแย้งมาแต่เริ่มต้น อังกฤษจับเอาบ้านเมืองที่เคยอยู่เป็นอิสระต่อกันและกันมามัดรวมแล้วโยนให้ไปหาทางออกกันเอง ไปรบกันเองทะเลาะกันเอง เอารัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐมอญ ซึ่งล้วนเคยเป็นอิสระมัดรวมแล้วให้ชื่อว่าประเทศพม่า ซึ่งหมายถึงให้ชนกลุ่มเชื้อไขพม่าเป็นเจ้าของประเทศ ทำให้เกิดสงครามระหว่างกองทัพพม่ากับชนกลุ่มน้อยนับแต่นั้น ชนกลุ่มน้อยที่เคยเป็นรัฐอิสระ พบว่าพอพ้นจากการปกครองของอังกฤษ พวกเขาก็ต้องอยู่ใต้การปกครองของพม่าอยู่ดี ทั้งที่เคยสัญญิงสัญญากันว่าจะให้สิทธิในการปกครองตนเองเป็นอย่างต่ำ อย่างที่คะฉิ่นคาดหวัง หรือให้เอกราชเบ็ดเสร็จอย่างที่กะเหรี่ยงคาดหวัง เรื่องอย่างนี้อยากจะทำใจ กะเหรี่ยงนั้นประกาศสู้จนกว่าจะได้เอกราชมีประเทศเป็นของตนเอง
หลายคนโทษเจ้าอาณานิคมอังกฤษว่ากระทำโดยพล่อย มัดรวมทิ้งอย่างไม่ไยดี ทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลัง แต่เอาเข้าจริงหากคนที่อยู่ประเทศเดียวกันนี้ ตระหนักกว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องอยู่ร่วมกัน และพยายามหาทางใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เพราะมันหนีไปไหนไม่ได้ มันก็น่าจะดี ไม่ต้องมามัวโทษอดีต
แต่เพราะการอยู่ร่วมกันมันไม่ราบรื่นมาตั้งแต่ต้น พวกเขาไม่แค่เกลียดเจ้าอาณานิคม แต่เกลียดกันเองด้วย อดีตทิ้งรอยบาดแผลความบาดหมางไว้ระหว่างคนพม่าและชนกลุ่มน้อย คนโรฮิงญา กะเหรี่ยง หรือชนกลุ่มน้อยที่เคยทำงานกับอังกฤษก็ถูกมองจากคนพม่าว่าเคยร่วมมือกับเจ้าอาณานิคมในการกดขี่พวกเขา เมื่อปรับสถานะเป็นเจ้าของประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลพม่าหรือกองทัพพม่าก็มองชนกลุ่มน้อยพวกนี้เป็นศัตรู การสมานฉันท์ของอดีตอาณานิคมไม่เกิดขึ้น
การปราบปรามเข่นฆ่าเริ่มนับแต่นั้น นับแต่วันแรกที่ประกาศเอกราช และต่อเนื่องมาไม่เคยหยุด
ก่อนที่กองทัพพม่าจะหันปากกระบอกปืนมาเข่นฆ่าประชาชนให้เราเห็นจะจะมาสองปีนี่ เขากระทำเช่นเดียวกันนี้กับชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะโรฮิงญา กะเหรี่ยง คะฉิ่น ไทใหญ่ มาหลายสิบปี
ท่ามกลางการปราบปรามชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม อาจมีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ผลัดกันทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า แต่มันก็ชั่วคราว แล้วก็ล้มเหลวลง สลับกันไปมา กลุ่มนั้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง การหยุดยิงคือขอเวลานอกเพื่อพักเท่านั้น แล้วก็รบกันต่อ ไม่ใครก็ใครเป็นฝ่ายละเมิดสัญญาหยุดยิง
พูดง่ายๆ ว่าไม่เคยมีห้วงไหนที่กองทัพพม่าเป็นกองทัพของประชาชน คุ้มครองประชาชน เพราะไม่ปราบปรามกลุ่มนี้ ก็ไปปราบปรามกลุ่มนั้น แล้วตอนนี้ก็ปราบปรามมันไปเสียทุกกลุ่ม รวมทั้งประชาชนตัวเองด้วย
ฉันเคยเข้าไปในเขตสู้รบ ไปดูคนที่พลัดที่นา คาที่อยู่ พวกนี้อาศัยในค่ายผู้อพยพในประเทศตัวเอง ไม่มีสิทธิ์หนีออกมาเป็นผู้อพยพนอกประเทศด้วยซ้ำ ดำรงชีพบนอาหารที่ได้รับบริจาค กระเบียดกระเสียน มีชีวิตแสนสาหัสกันไปวันๆ เด็กส่วนใหญ่เกิดมาในเต็นท์กลางค่ายผู้อพยพ ไม่เคยรู้ว่าบ้านจริงๆ แบบที่มีประตูหน้าต่างมันเป็นยังไง หนังสือหนังหาไม่ต้องเรียน แค่มีกินไปวันๆ ก็เหลือเชื่อแล้ว
พม่าจากประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำในย่านนี้กลายเป็นประเทศร้างไร่นา ถามว่าทำไมไม่เพาะปลูกทำมาหากิน จะทำได้อย่างไรในเมื่อชีวิตไม่มีอะไรให้ยึดให้มั่นเลย ไม่รู้ว่าทหารจะมาเมื่อไหร่ จะมาทิ้งระเบิดหรือเผาบ้านเผาเรือนเผาไร่นาเมื่อไหร่ เพาะปลูกไปทหารก็สงสัยว่าจะสะสมเสบียงให้ศัตรูตัวเอง เผาทิ้งเสียต่อหน้าต่อตา หรือไม่ก็กองกำลังชนกลุ่มน้อยสงสัยว่าจะสะสมเสบียงช่วยรัฐบาล เผาทิ้งอีกอยู่ดี ประชาชนไม่มีสิทธิ์ร้องขอ ได้แต่หนี หนี หนี
อย่าว่าแต่จะปลูกข้าวเลี้ยงหมูเลี้ยงวัว แค่เพาะถั่วงอกยังไม่รู้มันจะทันงอกหรือเปล่า
ระเบิดมาไม่มีเวล่ำเวลา อาจมากลางดึก ก็ต้องหนีกันกลางดึก สมัยก่อนเขาจะอุ้มไก่อุ้มหมูหนีไปด้วย แต่เมื่อหนีไปมากๆ เข้า มันก็ไม่เหลือไม่ว่าจะหมูหรือไก่
ฉันเคยเห็นวันที่เขาเอาหมูไปแจกให้คนในค่ายผู้อพยพ ถือเป็นวันอันแสนพิเศษ เพราะนานเหลือเกินกว่าพวกเขาจะได้กินหมูสักที คนทั้งค่ายจะมารุมล้อมเจ้าหมูโชคร้าย พวกเขามองการเชือดหมูแล้วแล่ออกมาเป็นชิ้นๆ เพื่อส่งต่อให้ครบทุกครอบครัว ท้ายสุดแต่ละครอบครัวได้หมูชิ้นเท่าฝ่ามือ แต่นั่นคือวันเวลาที่พวกเขารอคอยมาแสนนาน
นี่คือสิ่งที่สงครามทำกับชีวิตพวกเขา มนุษย์ที่ควรจะมีสิทธิ์มีชีวิตที่ดี ไม่ร่ำรวย แต่อย่างน้อยมีศักดิ์ศรี กลับถูกกวาดต้อนเข้าค่ายมีชีวิตเหมือนขอทาน ความทุกข์จากการต้องสละชีวิตปกติไปสู่การหนีสงครามทุกเมื่อเชื่อวันเป็นเรื่องเจ็บปวด ที่เจ็บปวดกว่าคือการต้องทิ้งศักดิ์ศรีทั้งหมดที่มีแล้วนั่งคุกเข่ารอความเมตตาจากคนที่เขาก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าข้าวสารอาหารแห้งจะมาเมื่อไหร่ และมันจะพอกินไหม
ตอนฉันไปที่ค่ายหนึ่งบนยอดเขาใกล้ชายแดนพม่า-จีน ผู้ใหญ่ถูกกำหนดให้กินอาหารวันละมื้อเท่านั้น เพื่อให้อาหารเพียงพอต่อทุกคน
เพราะฉะนั้นประเทศนี้ไม่มีการเพาะปลูก หรือจะมีก็น้อยมาก กระเซ็นกระสาย ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมอีกต่อไป อย่าว่าแต่จะอู่ข้าวอู่น้ำ
ในค่ายอพยพเคยมีการเพาะปลูกผักหญ้าไว้กิน แต่ก็ไม่รู้ว่าระเบิดจะมาเมื่อไหร่ จะต้องทิ้งแปลงผักเหล่านั้นไปเมื่อไหร่ ชีวิตที่อยู่กับความหวาดกลัว ไม่แน่นอน ไม่อนุญาตให้หวังอะไรทั้งนั้น กระทั่งหวังแค่จะเห็นผักหญ้าแทงยอดขึ้นจากพื้นดิน หรือเห็นรวงข้าวจากมือจากแรงตนเองแทนการแบมือขอ
ท้ายสุดพวกเขาสิ้นหวัง ไม่หวัง แค่อยู่ไปวันๆ มีแรงก็ขุดเผือกหามันกินไป แล้วก็รอเวลาหนี หนี หนี
สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่ไร่นา หากแต่ความหวังของมนุษย์ และท้ายที่สุดคือความเป็นมนุษย์นั้นเอง