ผู้เขียน | วิภาวรรณ เพ็ชรศรี |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณกรปภา ผานิตกุลวัต หรือ คุณวี สาวสวยวัย 29 ปี เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและฟาร์ม “แมวเบงกอล – SILVERSQUAD BENGALS” ในพื้นที่ถนนกัลปพฤกษ์ แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ที่นำความชอบในการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด ด้วยการต่อยอดเป็นธุรกิจการทำฟาร์มแมวเบงกอล กว่า 4 ปีที่ผ่านมา เธอต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ จนเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในวงการของผู้เลี้ยงแมวเบงกอลในประเทศไทย
จุดเริ่มต้นของการทำฟาร์ม SILVERSQUAD แบบครบวงจรนั้น เกิดจากที่คุณวีเป็นคนที่รักและชื่นชอบสัตว์ ตั้งแต่เด็กจนโต มักจะคลุกคลีและเลี้ยงสัตว์นานาชนิด ทั้งสุนัข นกแก้ว ปลา เป็นต้น จากนั้นมีช่วงหนึ่งที่คุณวีเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงมองหาสัตว์เลี้ยงที่ลักษณะนิสัยคล้ายกับสุนัข ก่อนจะหาข้อมูลจนมาเจอ “แมวเบงกอล” จึงเริ่มหาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ก่อนจะหันมาจับธุรกิจการทำฟาร์มแมวเบงกอลอย่างจริงจังจนมาถึงปัจจุบัน
“การทำฟาร์ม SILVERSQUAD ตรงนี้ คือปกติโดยพื้นฐานเป็นคนที่ชอบเลี้ยงสัตว์อยู่แล้วและรักสัตว์ ตั้งแต่เด็กที่บ้านก็จะมีน้องหมา นกแก้ว ปลา จากนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมองหาสัตว์ที่จะเลี้ยง หนึ่งในความคิดของเราคือเราอยากเลี้ยงแมวและขนสั้น อยากได้แมวที่มีนิสัยคล้ายน้องหมาแบบนี้ค่ะ ก็เลยเริ่มหาข้อมูลว่ามีน้องแมวพันธุ์อะไรบ้างที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ ก็มาเจอแมวเบงกอล ก็ทักข้อความไปหาทางฟาร์มที่ขายว่าเราอยากได้น้องแมวมาเลี้ยง หลังจากที่รับน้องแมวมาก็เริ่มหาข้อมูลของต่างประเทศมากขึ้น เพราะตอนที่หาข้อมูลในไทย ในส่วนโรคทางพันธุกรรมของน้องคืออะไร หรือเรื่องต่างๆ ก็ได้รับคำตอบมาว่าไม่รู้ข้อมูล เราก็เลยหาเองค่ะ ข้อมูลภาษาไทยไม่มี ก็เลยเริ่มหาข้อมูลของต่างประเทศ พอเริ่มศึกษามากขึ้น ก็เริ่มได้คุยกับบรีดเดอร์ต่างประเทศมากขึ้น พอได้คุยก็เริ่มรู้ว่ามีอะไรอีกมากมายที่เกี่ยวกับแมวเบงกอล ที่เรายังไม่รู้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าเราอยากนำข้อมูลของแมวเบงกอลตรงนี้ ให้คนไทยได้รู้และได้สัมผัสแมวเบงกอลที่ได้มาตรฐานค่ะ”
มาตรฐานสายพันธุ์แมวเบงกอล
แมวเบงกอลเป็นแมวขนสั้นขนาดกลาง-ใหญ่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะสีที่โดดเด่นและลวดลายที่ชวนให้ผู้คนที่พบเห็นนึกถึงเสือนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น เสือดาว เสือจากัวร์ หรือเสือลายเมฆ เป็นต้น แมวเบงกอลเป็นแมวที่ดูแลง่ายและไม่ต้องการการดูแลเฉพาะเจาะจงเรื่องใดเป็นพิเศษ ประกอบกับนิสัยพื้นฐานของสายพันธุ์ที่มีความตื่นตัว ร่าเริง อยากรู้อยากเห็น ฉลาด เรียนรู้เร็ว สามารถฝึกได้เหมือนสุนัข และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่อเจ้าของ เหล่านี้ทำให้ผู้คนที่พบเห็นแมวเบงกอลตกหลุมรักแมวสายพันธุ์นี้ได้อย่างง่ายดาย
ลักษณะพื้นฐานเบื้องต้นของมาตรฐานสายพันธุ์แมวเบงกอล
แมวเบงกอลเป็นแมวที่มีโครงสร้างแน่นแต่ปราดเปรียว ตื่นตัวต่อสิ่งเร้ารอบข้าง และเป็นมิตร นอกเหนือจากลวดลายที่เป็นจุดเด่นของสายพันธุ์แล้ว ส่วนหัวและใบหน้าของแมวเบงกอลเป็นอีกส่วนสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกความแตกต่างของแมวเบงกอลจากแมวสายพันธุ์อื่น
แมวเบงกอลจะมีจมูกที่กว้าง มี Whisker pad หรือบริเวณที่หนวดแมวขึ้นที่ใหญ่และเด่นชัด มีดวงตาที่กลมและขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของหัวเพื่อแสดงให้เห็นความป่าคล้ายกับแมวดาวที่เป็นบรรพบุรุษ มี Profile หรือดั้งที่ตรง ไม่โด่งโค้งนูนหรือหัก มีลักษณะหูที่สั้นฐานกว้างปลายมน เหล่านี้ล้วนทำให้อัตลักษณ์ของแมวเบงกอลเด่นชัดและส่งผลให้หน้าตาแมวเบงกอลแตกต่างจากแมวสายพันธุ์อื่น มีลักษณะขนที่สั้นแต่แน่น มีความนุ่มและให้สัมผัสที่ลื่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขนแมวเบงกอลโดยจะมีกลิตเตอร์หรือไม่ก็ได้ มีลวดลายที่ชัดเจนตัดกับสีพื้นบนลำตัว
แมวเบงกอลต้องมีลายที่ท้อง มีขาหลังที่ยาวกว่าขาหน้า มีหางที่หนาและขนาดที่ไม่ยาวจนเกินไปเมื่อเทียบกับความยาวของลำตัว แมวเบงกอลต้องมีนิสัยที่ไม่ก้าวร้าวเด็ดขาด แมวที่ก้าวร้าว ดุร้าย และกัด เป็นแมวที่ผิดมาตรฐานสายพันธุ์และไม่ควรนำไปเพาะพันธุ์ต่อเด็ดขาด
ทั้งนี้ เกณฑ์การให้คะแนนและมาตรฐานสายพันธุ์ของแมวเบงกอลในแต่ละสมาคมมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามลำดับความสำคัญ แต่ทุกสมาคมมีจุดร่วมเดียวกันคือต้องการพัฒนาและอนุรักษ์สายพันธุ์แมวให้ได้มาตรฐาน มีสรีระที่สมบูรณ์ มีนิสัยที่ดี ภายใต้การเลี้ยงแมวและการเพาะพันธุ์แมวที่ถูกจรรยาบรรณ
ลักษณะทางกายภาพ
ทั้งหน้าตาและโครงสร้างของแมวเบงกอลเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถบ่งบอกความแตกต่างระหว่างแมวเบงกอลกับแมวสายพันธุ์อื่น เราเรียกลักษณะดังกล่าวว่า “Wild Look” เป็นลักษณะความป่าที่ปรากฏเฉพาะในแมวเบงกอลเท่านั้น
เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการพัฒนาสายพันธุ์แมวเบงกอลแต่เดิมทีคือเพื่อให้ได้แมวบ้านที่ใกล้เคียงกับแมวป่ามากที่สุด ซึ่งลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะของกะโหลกศีรษะที่ค่อนข้างกลมคล้ายไข่มีขนาดไม่ใหญ่เมื่อเทียบสัดส่วนกับลำตัวเหมือนกับแมวดาว ดวงตาที่กลมและใหญ่วางอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำ ฐานจมูกที่กว้างทำมุมกับหน้าผากเป็นเส้นตรงเหมือนกับเสือ กระบอกปากใหญ่ คางใหญ่ หูสั้นฐานกว้างปลายมน หางต่ำและหนาเป็นพวง เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้คือลักษณะความป่าที่สามารถพบได้ในแมวเบงกอล
เกณฑ์การให้คะแนน มาตรฐานสายพันธุ์แมวเบงกอล ทางฟาร์ม SILVERSQUAD ได้รวบรวมเกณฑ์การให้คะแนนแมวเบงกอลของ 3 สมาคมแมวสากลที่คนไทยค่อนข้างคุ้นเคย ได้แก่ TICA WCF และ CFA ไว้ให้ผู้ที่สนใจศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกแมวเบงกอล
ลักษณะนิสัย
นิสัยแมวเบงกอลได้รับอิทธิพลจากนิสัยตามธรรมชาติของแมวดาวมาหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้น ว่องไว ปีนป่ายเก่ง และรักการเล่นน้ำเป็นชีวิตจิตใจ
เมื่อสอบถามถึงเรื่องการเพาะพันธุ์ คุณวีให้ข้อมูลว่า แมวเบงกอลจะผสมพันธุ์กันแบบธรรมชาติ โดยทางฟาร์มจะมีการวางแผนในการผสมพันธุ์ เพื่อให้แมวเบงกอลที่มีลักษณะและสีที่เป็นมาตรฐาน ไม่ผิดเพี้ยนนั่นเอง
“ที่ฟาร์มของเราจะเน้นการผสมพันธุ์แบบตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เครื่องมือ หรือใช้วิธีการผสมพันธุ์เทียมเข้ามาเกี่ยว เพราะว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก และจะยากกว่าการผสมของสุนัข วิธีการผสมเราจะใช้วิธีการจับคู่ ในฐานะบรีดเดอร์ เราก็จะมีเป้าหมายของเราอยู่แล้วว่าจะพัฒนารุ่นต่อไปให้มีลักษณะแบบไหน สีอะไรแบบนี้ค่ะ เพราะว่าจะมีเรื่องความเกี่ยวข้องของยีนและพันธุศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องมากค่ะ ซึ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักวิทยาศาสตร์หมดเลยค่ะ”
เลี้ยงแมวเบงกอลต้องเตรียมอะไรบ้าง ?
วิธีการเลี้ยงแมวเบงกอลไม่ได้มีความพิเศษแตกต่างไปจากการเลี้ยงแมวทั่วไปเลยแม้แต่นิด หากเจ้าของเข้าใจธรรมชาติและนิสัยของแมวสายพันธุ์นี้ ซึ่งแมวทุกตัวล้วนต้องการความรักและความเอาใจใส่จากเจ้าของ เพียงแต่สำหรับเจ้าของแมวเบงกอลอาจจะต้องเตรียมอุปกรณ์และของเล่นบางอย่างที่จำเป็นสำหรับนิสัยของสายพันธุ์แมวเบงกอล อย่างเช่น อุปกรณ์สำหรับปีนป่าย หรืออุปกรณ์ลับเล็บ เป็นต้น
แมวประกวด
แมวประกวด หรือเกรดประกวด คือแมวที่มีลักษณะถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ที่ถูกระบุไว้ในสมาคมแมวสากล ไม่ว่าจะเป็น TICA WCF CFA เป็นต้น โดยแมวที่ถูกมองว่าเป็นเกรดประกวดจะมีแนวโน้มที่จะได้คะแนนสูงเมื่อลงสู่สนามประกวด ซึ่งมีโอกาสคว้าตำแหน่งแชมป์และมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่านั้นได้
สำหรับแมวเกรดประกวด นอกจากจะต้องมีลักษณะทางสรีระที่สมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นลักษณะหางที่ไม่งอไม่เป็นปม ฟันสบกันสวยงาม ตาไม่เขไม่เหล่ ไข่ลงถุงครบสองใบ ไม่มีกระดูกปูดงอตามชายโครง เป็นต้น แมวจะต้องเข้าสังคมได้ดี อารมณ์ดี ไม่ขี้อาย ไม่ก้าวร้าวต่อหน้ากรรมการด้วยเช่นกัน
การที่จะระบุว่าแมวตัวใดตัวหนึ่งเป็นเกรดประกวดหรือไม่ ควรต้องพิจารณาหลังจากลูกแมวอายุ 4 เดือนขึ้นไปเพื่อที่จะให้แมวแสดงนิสัยส่วนตัวและพฤติกรรมการเข้าสังคมของแมวออกมา และทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าแมวตัวดังกล่าวมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเกรดประกวดหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปคำว่า เกรดประกวด มักใช้กับแมวที่โตแล้วหรือมีผลงานผ่านสนามประกวดมาแล้ว
แมวเกรดพ่อพันธุ์/แม่พันธุ์
คือแมวที่มีลักษณะถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ที่ถูกระบุไว้ในสมาคมแมวสากล และมีความสมบูรณ์ของร่างกายที่ปกติ มีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดลักษณะที่พึงประสงค์ไปสุ่รุ่นลูกหลาน โดยแมวเกรดนี้สามารถได้ตำแหน่งจากการประกวดได้เช่นกัน
ซึ่งทางฟาร์ม SILVERSQUAD ของคุณวี ได้รับรางวัลการันตีมาตรฐานของแมวเบงกอล ในงาน WCF International Exhibition 18-19 ธันวาคม 2565 นั้นก็คือรางวัล BEST IN SHOW Junior shorthair
ลวดลายแมวเบงกอล สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ SPOTTED TABBY และ MARBLED
1. SPOTTED TABBY
มักเรียกทับศัพท์ หรือภาษาไทยเรียกว่า ลายจุด ซึ่งลวดลายแมวเบงกอลประเภท Spotted tabby สามารถแยกออกเป็น
1.1 Spots ที่เป็นลายจุดที่มีลักษณะเป็นจุดสีเดียวตัดกับสีพื้นลำตัว
1.2 Rosettes ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดที่ประกอบด้วยสี 2 สี ตัดกับสีพื้นลำตัว โดยทั่วไปโรเส็ตมักจะเป็นลวดลายที่พบเห็นได้มากที่สุดในแมวเบงกอล และเป็นที่พึงประสงค์มากกว่าลายจุดสีเดียวในเวทีประกวดแมว
2. MARBLED
มักเรียกทับศัพท์ หรือภาษาไทยเรียกว่า ลายหินอ่อน ลักษณะเหมือนแถบลายพื้นหินอ่อนบนตัวแมวเบงกอล ซึ่งลักษณะลายประเภทนี้เชื่อกันว่าได้มาจากทางฝั่งแมวบ้านที่นำมาผสมกับสายพันธุ์แมวดาว หรือ F generation ในช่วงที่มีการพัฒนาสายพันธุ์แมวเบงกอล ลายมาเบิ้ลเป็นลวดลายอีกประเภทหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปในปัจจุบัน ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว บางกรณีลวดลายจะมีความคล้ายกับงานศิลปะบนตัวแมว หรือในบางกรณีจะเป็นแถบสีทึบทั้งตัวโดยไม่สามารถมองเห็นลวดลายได้เลย ลายมาเบิ้ลจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจนกว่าแมวจะมีอายุ 2-3 ปี ลายมาเบิ้ลเป็นลักษณะด้อยที่ส่งต่อทางพันธุกรรมได้ กล่าวคือ หากในประวัติสายพันธุ์แมวเบงกอลตัวดังกล่าวมีแมวที่เป็นมาเบิ้ลอยู่ โอกาสที่แมวเบงกอลรุ่นลูก รุ่นหลานจะปรากฏลายมาเบิ้ลย่อมได้เช่นเดียวกัน
สำหรับสีของแมวเบงกอลจะแบ่งออกเป็น 3 สีหลักๆ คือ สีน้ำตาล สีสโนว์ และสีซิลเวอร์
โรคทางพันธุกรรมในแมวเบงกอลที่พบบ่อย ได้แก่ โรค PRA-b และโรค PKdef ซึ่งทั้งสองเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถพบได้บ่อยและสามารถส่งต่อความผิดปกติไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ ถัดมาคือโรค HCM หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวในแมว ดังนั้น ในการคัดเลือกแมวเบงกอลเพื่อจะนำมาเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์จึงมีความ “จำเป็น” ที่จะต้องตรวจสอบประวัติในเครือญาติว่าเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ หรือนำตัวอย่างของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ส่งตรวจโรคในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบและ “ป้องกัน” การส่งต่อโรคทางพันธุกรรมไปสู่รุ่นต่อไป
ในด้านของผลตอบรับ คุณวี เล่าว่า ได้รับความสนใจทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ได้รับความนิยมอยู่พอสมควร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร
ต่อมาในเรื่องของราคาขาย ทางฟาร์มของคุณวีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ราคาแมวเลี้ยงเพื่อทำหมัน จะเริ่มต้นที่ราคาตัวละ 30,000-60,000 บาท ถัดมาคือราคาเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ จะอยู่ที่ราคาตัวละ 100,000 บาท
สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อ คุณกรปภา ผานิตกุลวัต หรือ คุณวี ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “แมวเบงกอล – SILVERSQUAD BENGALS” หรือทางเบอร์โทรศัพท์ 064-446-6593