เผยแพร่ |
---|
บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ทำ MOU ความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์บนแนวทาง Net Zero ลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมนครราชสีมา – ดร.กำพล ฤทัยวณิช ที่ปรึกษาศูนย์นวัตกรรมกลุ่มมิตรผล บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด และ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างบริษัท มิตรผลวิจัยฯ และสถาบันฯ เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 ณ อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา
ดร.กำพล ฤทัยวณิช กล่าวว่า “ในขณะนี้บริษัทและสถาบันฯ มีงานวิจัยร่วมกันจากการนำวัตถุดิบหรือวัสดุเหลือใช้จากการผลิตเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง งานวิจัยดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มมิตรผลมีโอกาสเติบโต และสร้างความสามารถในการแข่งขันต่อไป นอกจากนี้บริษัทยังเห็นโอกาสอีกมากในการทำวิจัยร่วมกับสถาบันฯ จากงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ ในกลุ่มงานวิจัยด้านเกษตร การผลิตที่เกี่ยวข้องกับอ้อยน้ำตาล การผลิตไฟฟ้าชีวมวล การผลิตเอทานอล รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในหมวดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาหารสัตว์ หรือสารสกัดต่างๆ”
“นอกจากนี้ทางกลุ่มมิตรผลยังให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทางกลุ่มมิตรผลเรามีนโยบายที่ชัดเจนเรื่อง Net Zero การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่อยู่ในกลยุทธ์ของบริษัท เนื่องจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่มมิตรผลนั้นส่งขายออกไปทั่วโลก ขณะนี้ลูกค้าของเรากำลังให้ความสนใจเรื่องการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ในบริบทของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เพราะลูกค้าจะพิจารณาว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรือไม่ ทางบริษัทฯ มีงานวิจัยเรื่องการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมต่างๆ สร้างฐานข้อมูลว่าเราลดการปลดปล่อยได้เท่าไหร่ ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และมั่นใจว่าสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะมาเป็นพันธมิตรทำงานร่วมกันกับเราได้บนเส้นทาง Net Zero” ดร.กำพล ฤทัยวณิช กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าวว่า “การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ครอบคลุมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับแสงซินโครตรอน รวมทั้งเทคโนโลยี อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการสนับสนุนการวิเคราะห์ เทคนิคการวิเคราะห์ เครื่องมือและอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ โดยสนับสนุนการวิจัยตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ ต่อยอดสู่โรงงานต้นแบบ และขยายขนาดการผลิตไปยังภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนด้านวิชาการ การฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากร และความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมด้วย”