เบาบับ ไม้ยักษ์ชื่อ “เบา” แต่…เราล้อมขุดแล้ว “ยก” ไม่ไหว!

ชื่อวิทย์      Adansonia digitata L.

Adansonia za Baill

ชื่อวงศ์      MALVACEAE,

BOMBACACEAE

ชื่ออื่นๆ    ต้นขวด ต้นไม้แห่งชีวิต โบโบ (boaboa) ขนมปังลิง ไม้กลับหัว (upside-down tree)  ต้นไม้หนูตาย ต้นไม้มหัศจรรย์ ต้นมหาสมบัติ ต้นถังเงินถังทอง

ข้าฯ มาจากแดนไกลอยากเรียกตัวเองว่า “ยักษ์ปักหลั่น” เพราะหุ่นนายแบบของข้าเป็นเหมือนท่อนซุงปักดินหัวท้ายเท่ากัน เป็นถังไวน์ถังเบียร์ ข้าจึงชอบใจที่คนไทยเรียกข้าว่า “ถังเงินถังทอง” แต่ชื่ออื่นๆ ที่เรียกกันส่วนใหญ่ตั้งชื่อตามสภาพภายนอกที่มาเกี่ยวข้อง เช่น หนูตาย เรียกตามลักษณะผลที่ห้อยลงมา เรียก “ไม้กลับหัว” เพราะช่วงผลัดใบเหลือกิ่งก้านจะดูเหมือนรากไม้ชี้ขึ้นฟ้า อีกชื่อที่เรียกต้นไม้แห่งชีวิต เพราะทุกส่วนของต้นสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคของมนุษย์ได้ แต่ชื่อเดิมที่เรียก “เบาบับ” (Boabab) นั้น พอมาอยู่เมืองไทยจะอธิบายว่า “เบา” ได้อย่างไรดีหนา น่าจะเป็น “เบาดับ” มากกว่า

ประวัติของข้าโด่งดังในแอฟริกาและออสเตรเลีย กำเนิดในหมู่เกาะมาดากัสการ์ ถ้าเปิดใน “YouTube” จะพบเรื่องราวของข้ามากมาย มีคนกล่าวถึงเรื่องของข้าที่น่าสนใจและแปลกอย่างยิ่งทั้งชื่อและคุณสมบัติประโยชน์ ต่อชีวิตธรรมชาติในแอฟริกา แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทยข้าต้องขอบคุณและภูมิใจยิ่งนัก คือข้าได้เปิดตัวจากนิตยสาร “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ฉบับที่ 474 เดือนมีนาคม 2553 โดย คุณทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา เผยแพร่ประวัติของข้า ซึ่งไม่คิดว่าในเมืองไทยใครจะกล่าวถึง เพราะคุณทะนุพงศ์ได้นำเสนอสารพัดเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ด ของ ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล เรื่องเห็ดในทวีปแอฟริกาแล้วเชื่อมโยงกับความสนใจจะนำ “เนื้ออ่อนๆ” ของข้าไปเป็นวัสดุเพาะเห็ด ก็พบประโยชน์อื่นๆ อีกมาก ที่มีสรรพคุณเป็นไม้มหัศจรรย์ ข้าจึงถูกนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จึงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป

แม้ว่าไม่โด่งดังนัก เนื่องจากรูปร่างของข้าใหญ่โตเกินกว่าที่จะปลูกไว้ในบ้านใครๆ เพราะในธรรมชาติที่แอฟริกาในทะเลทราย ก็มีข้าเป็นสัญลักษณ์ความใหญ่โต เช่น ในประเทศแซมเบีย มีต้นหนึ่งที่วงรอบโคนต้นต้องใช้คนถึง  50 คนโอบล้อมโดยรอบ และมีการตรวจสอบโดยใช้รังสีคาร์บอน (Carbon dating method) พบว่ามีอายุถึง 3,000 ปี ทั้งขนาดใหญ่และอายุยืนอย่างนี้พูดไปก็จะหาว่า “คุยโม้” ข้าจึงท้าว่าอยากรู้จักข้าก็อ่านเรื่องข้าใน “เทคโนฯ ฉบับ 474” หรือเปิด YouTube ดู

เรื่องราวข้ามีบทบาทในภูมิภาคทวีปแอฟริกาเกือบทุกประเทศ ทั้งๆ ที่แต่ละประเทศสภาพภูมิศาสตร์ต่างกัน มีทั้งหนาวเย็น ร้อนจัด ร้อนชื้น ป่าดงดิบ แห้งแล้งเป็นทะเลทราย ข้าก็อยู่ได้ทุกที่เป็น “ต้นไม้แห่งชีวิต” ทุกภูมิภาค เอ่ยชื่อประเทศอาจไม่คุ้นหูนัก เช่น ประเทศมอริเชียส กานา ไลบีเรีย โตโก แกมเบีย เซเนกัล ไนเจอร์ แต่มีนักวิชาการบันทึกว่าข้าเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลียด้วย ระบุว่าข้าอยู่ในตระกูลเดียวกันกับต้นนุ่น ต้นงิ้ว มีถึง 8 สายพันธุ์ เฉพาะในมาดากัสการ์

ข้ามีพี่น้อง 6 สายพันธุ์ ในแผ่นดินใหญ่และในออสเตรเลียอีกที่ละสายพันธุ์ ฉะนั้นชื่อของข้าจึงแตกต่างไปตามภาษาและเชื้อชาติ ทั้งชื่อสามัญ ชื่อภาษาอังกฤษเรียกตามลักษณะทางชีวภาพ ในเมืองไทยข้ามีโอกาสเข้ามาอยู่เป็นทางการ ที่ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ในสวนนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ พื้นที่จัดแสดงของมิตรประเทศร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549 บริเวณเนินราชพฤกษ์ พิกัดสวนประเทศเคนยา ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ มีอยู่ 2 ชนิด คือ Adansonia digitata L. (ลำต้นอ้วน) และ Adansonia za Bail (ลำต้นสูง)

ส่วนต้นเบาบับที่ ดร.อานนท์ปลูกบริเวณศูนย์ไทยไบโอเทค และที่วัดทวีการะอนันต์ รวมทั้งที่สวนรวบรวมพันธุ์ไม้ บ้านป่าไม้แดง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีอายุมากกว่าสิบปีแล้ว ขนาดหลายคนโอบ จากความร่วมมือและสนใจเรื่องต้นเบาบับ (Baobab) นี้ คือยอมรับในสรรพคุณต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ทั้งคุณประโยชน์ด้านสมุนไพร ไม้ประดับแปลกตา กลุ่มรักษ์ต้นเบาบับจึงเห็นพ้องกัน ตั้งชื่อภาษาไทยว่า “ต้นมหาสมบัติ” โดยกำหนดวันที่ 19 ตุลาคม 2552 เป็นวันเริ่มเรียกชื่อตั้งแต่นั้นมา

ข้าถูกจัดเป็นต้นไม้ที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก อายุหลายร้อยปีหรือพันปีไม่มีคำคัดค้าน แต่รูปทรงที่ใหญ่โตแปลกตาจึงถูกเยาะเย้ยว่าเป็นไม้ดึกดำบรรพ์ สูงได้ถึง 30 เมตร 50 คนโอบ ทนแล้ง แต่ที่น่าทึ่งคือผลัดใบในฤดูแล้ง ไม่มีใบนาน 6 เดือน ลำต้นอ้วนคล้ายขวดแชมเปญ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 7-11 เมตร กลางลำต้นขนาดใหญ่เป็นโพรงกลวง หน้าฝนสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เป็นถังน้ำขนาดใหญ่นับแสนลิตร ชาวบ้านสามารถนำน้ำในลำต้นนี้ไปใช้หน้าแล้งอุปโภคบริโภค บางท้องถิ่นใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทำพื้นที่ใช้งาน เป็นคุกขังสมัยก่อน บางประเทศให้เป็นศูนย์รวมใจที่นำร่างกษัตริย์สิ้นพระชนม์ฝังไว้ในต้นเบาบับ โดยเจาะฝังร่าง เมื่อเวลาผ่านไปเปลือกไม้ต้นใหม่ก็จะมาปิดเอง ถือเป็นเกียรติที่หลายคนปรารถนาเมื่อตายแล้วจะอยู่ในต้นเบาบับ

สำหรับในด้านโภชนาการ สามารถนำทุกส่วนใช้ได้ ผลิตเป็นยาหรืออุตสาหกรรมอื่นได้หลายประเภทเป็นเครื่องดื่มอาหารเสริม เครื่องสำอาง เปลือกกิ่งก้านนำเส้นใยทอเป็นเชือกทำเสื้อผ้า ใบปรุงอาหารยารักษาโรคทั้งสดและต้มบำรุงผิวพรรณ ผลเบาบับเนื้อในมีวิตามินซีสูงมาก เมล็ดรับประทานสด หรือคั่วแทนกาแฟ น้ำมันจากเมล็ดผสมบำรุงผิวให้เต่งตึง มีการศึกษาว่าเนื้อผลรสเปรี้ยวคล้ายลูกหยี มีวิตามินซีสูงกว่าส้ม มีแคลเซียมสูง สำหรับเส้นใยในผลมีแร่ธาตุรวมโปรตีนย่อยง่าย ถูกนำไปแปรรูปเป็นผงแป้งเรียก Baobab powder ทำเครื่องดื่มสุขภาพ ลดน้ำหนัก ปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด เพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ส่วนเปลือกรอบนอกต้นมีเส้นใยเหนียว สามารถถากส่วนเปลือก แปรรูปเป็นเชือก ทอเสื่อ แห อวน หรือทอผ้าและทำกระดาษได้ สิ่งที่นักวิชาการสนใจมาก คือเนื้อไม้อ่อนหากตากแห้งนำมาบดหรือทำเป็นขี้เลื่อยใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดได้อย่างดี

แม้ว่ามีคนกล่าวขานถึงข้าฯ ว่าดีเลิศ แต่ก็มีกลุ่มท้วงติงว่า “เกษตรสายพันธุ์ (เศรษฐกิจ) ใหม่” อย่าให้ตกเป็น “เหยื่อการตลาด” เพราะในออนไลน์ก็มีการขาย ทั้งในกระถาง ลงดิน ขายเมล็ด เมล็ดละหลายสิบบาท ส่วนที่ปลูกจัดสวน เป็นไม้ขุดล้อมราคาแพง ปลูกหลายสิบปี สิบคนโอบ คิดถึง “ขุดล้อมและรถยก” ด้วยนะ เดี๋ยวจะว่า “หล่อไม่เตือน” ว่าอะไรข้า ข้าฯ ไม่โกรธ แต่เห็นใจคนที่ถูกเปรียบกับรูปร่างของข้า ข้าโกรธแทนท่านที่ถูกนินทาคนระดับ “ผู้ว่า” ท่านหนึ่ง ว่าหุ่นเหมือนต้น “เบาบับ” เรื่องนี้ถ้าได้ยินเองรับรองโดน “วางมวย” แน่ๆ