กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทัพสื่อมวลชนดูงานไม้ผลภาคใต้ พร้อมงานภารกิจสนับสนุนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กรมส่งเสริมการเกษตร นำคณะสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ล่องใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดูงานไม้ผล ชมกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า ศึกษาบทบาทศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และร่วมสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร

คุณรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2566 โดยนำคณะสื่อมวลชนจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ศึกษาดูงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งงานส่งเสริมไม้ผลภาคใต้ พร้อมงานภารกิจสนับสนุนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมไม้ผลอัตลักษณ์สู่สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) การบริหารจัดการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า การนำเทคโนโลยีไปใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ในการอารักขาพืชและกำจัดศัตรูพืชให้เกษตรกร และเยี่ยมชมท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ขณะนี้ได้มีการบริหารจัดการไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด ปี 2566 ภายใต้แผนการบริหารจัดการ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 สรุปได้ดังนี้

  1. ทุเรียน ผลผลิตรวม 667,338 ตัน เป็นผลผลิตในฤดูกาล 582,925 ตัน คิดเป็นร้อยละ 87.35 ของผลผลิตทั้งปี แบ่งเป็นการบริโภคสดภายในประเทศ 196,734 ตัน คิดเป็นร้อยละ 33.70 ของผลผลิตในฤดู แปรรูป จำนวน 35,557 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6.10 ของผลผลิตในฤดู และส่งออก จำนวน 350,931 ตัน คิดเป็นร้อยละ 60.20 ของผลผลิตในฤดู
  2. มังคุด ผลผลิตรวม 142,077 ตัน เป็นผลผลิตในฤดูกาล 136,965 ตัน คิดเป็นร้อยละ 96.40 ของผลผลิตทั้งปี แบ่งเป็นการบริโภคสดภายในประเทศ 75,342 ตัน คิดเป็นร้อยละ 55.01 ของผลผลิตในฤดู แปรรูป จำนวน 485 ตัน คิดเป็นร้อยละ 55.01 ของผลผลิตในฤดู ส่งออก จำนวน 61,138 ตัน คิดเป็นร้อยละ 44.64 ของผลผลิตในฤดู
  3. เงาะ ผลผลิตรวม 52,804 ตัน เป็นผลผลิตในฤดูกาล 51,823 ตัน คิดเป็นร้อยละ 98.14 ของผลผลิตทั้งปี แบ่งเป็น การบริโภคสดภายในประเทศ 51,582 ตัน ร้อยละ 99.53 ของผลผลิตในฤดู แปรรูป (เงาะกระป๋อง) จำนวน 210 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.41 ของผลผลิตในฤดู ส่งออก จำนวน 31 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผลผลิตในฤดู
  4. ลองกอง ผลผลิตรวม 32,899 ตัน เป็นผลผลิตในฤดูกาล 30,538 ตัน คิดเป็นร้อยละ 99.997 ของผลผลิตทั้งปี แบ่งเป็นการบริโภคสดภายในประเทศ 51,583 ตัน ร้อยละ 99.53 ของผลผลิตในฤดู ส่งออก จำนวน 1 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.003 ของผลผลิตในฤดู

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ผลไม้เศรษฐกิจในภาคใต้ ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง อยู่ระหว่างให้ผลผลิตออกสู่ตลาด โดยผลผลิตจะมากที่สุดในเดือนกรกฎาคมนี้ และมีรายงานสถานการณ์การเก็บเกี่ยวผลผลิต (ตัดยอด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) พบว่า ขณะนี้ทุเรียนเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 141,706.42 ตัน ร้อยละ 24.31 ของผลผลิตในฤดูกาล มังคุดเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 74,157 ตัน ร้อยละ 54.14 ของผลผลิตในฤดูกาล เงาะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 17,346.98 ตัน ร้อยละ 33.47 ของผลผลิตในฤดูกาล และลองกองเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 989 ตัน ร้อยละ 3.24 ของผลผลิตในฤดูกาล

ด้านสถานที่ศึกษาดูงานซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำคณะสื่อมวลชนไปในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย

จุดที่ 1 แปลงใหญ่ทุเรียนถิ่นถ่านหิน หมู่ที่ 2 ตำบลพ่วงพรมคร อำเภอเคียนซา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อว่า ทุเรียนหมอนทองถิ่นถ่านหิน @ เคียนชา เพื่อให้สอดรับกับการได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งสามารถยกระดับนำทุเรียนส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังเน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการใช้สารชีวภัณฑ์ต่างๆ ในการกำจัดศัตรูพืช การใช้ระบบน้ำเพื่อลดการใช้แรงงานคน และพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสู่เกษตรกรสมัยใหม่ หรือ Smart Farmer

จุดที่ 2 ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี ที่มีบทบาทในอารักขาพืชและช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรจากศัตรูพืช เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมทำหน้าที่สำรวจ ติดตาม และประชาสัมพันธ์เตือนการระบาดของศัตรูพืชให้แก่ชุมชน โดยมีการใช้สารชีวภัณฑ์ในการเพาะเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อบิวเวอเรีย เชื้อราเมธาไรเซียม และเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ส่วนแมลงศัตรูธรรมชาติจะเน้นผลิตแมลงหางหนีบ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต และสารสกัดธรรมชาติ ได้ผลิตน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง โดยผลงานที่ผ่านมาของศูนย์จัดการศัตรูพืชตำบลตะกุกใต้ ประสบความสำเร็จจำนวนมากในการอารักขาพืช จากรางวัลชนะเลิศศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนดีเด่นระดับจังหวัดและระดับเขต ในปี 2565

จุดที่ 3 แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ภายหลังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ในปี 2564 ได้นำวัสดุเหลือทิ้งจากมะพร้าวนำมาแปรรูปจนหมด (Zero Waste) เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชน และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ ยังสามารถป้อนวัตถุดิบและเชื่อมโยงการตลาดไปยังโรงงานต่างๆ เช่น โรงงานผลิตที่นอนใยมะพร้าว โรงงานผลิตดินปลูก ปุ๋ยหมัก และวัสดุแทนดินปลูก โรงงานผลิตกระถางใยมะพร้าว และขุยมะพร้าวอัดก้อน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานไฟฟ้าชีวมวล พร้อมนำหลัก BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมมาใช้และวางแผนเพื่อนำกำไรที่ได้จากการขายขุยมะพร้าวและเส้นใยมะพร้าวต่อยอดเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มเติม เช่น ขุยมะพร้าว นำไปทำดินและปุ๋ยหมัก จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง และเส้นใยมะพร้าว จะนำไปขึ้นรูปอัดเป็นกระถางต้นไม้ และถาดเพาะจำหน่ายทั้งปลีกและส่งเช่นกัน สามารถสร้างงาน สร้างเงินให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี และ

จุดที่ 4 ชุมชนบางใบไม้ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่โดดเด่นเรื่องการแปรรูปมะพร้าว การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและอนุรักษ์ โดยมีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้ขึ้น ในปี 2559 ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนมะพร้าวและการทำเกษตรสืบทอดจากบรรพบุรุษ วิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน โดยมีสวนลุงสงค์ หรือ นายประสงค์ ศรีเทพ เป็นตัวอย่างในการแปรรูปมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายคือ จากเดิมเคยขายเฉพาะลูกมะพร้าวได้ผลละ 10-15 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปทำสบู่ สามารถขายได้ก้อนละหลายสิบบาท หรือนำมาทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ราคาขวดละหลายร้อยบาท ทั้งนี้ สวนลุงสงค์ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและการแปรรูป ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจมาศึกษาดูงานจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ที่เข้ารับการถ่ายทอดความรู้ สามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้ครอบครัวต่อไป