ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
---|---|
เผยแพร่ |
ในเมื่อโลกเราทุกวันนี้ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เป็นปัญหากับคน คนผู้ที่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของโลกนี้ สารพัดสิ่งที่เป็นภัยคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ โรคภัยมันมาจากไหน จากดิน จากหินผา จากน้ำ จากอากาศ หรือจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยร่วมโลกเดียวกันนี้ คน สัตว์ พืช จุลชีพจุลินทรีย์ทั้งหลาย การดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ พืช มีความจำเป็นต้องมี อาหาร น้ำ ที่อยู่ เครื่องห่อหุ้มคลุมปิด และยารักษาโรค ซึ่งก็มีอยู่บนโลกใบนี้เช่นกัน พึ่งพาอาศัย ใช้งานกันไปมา “คนกินสัตว์ สัตว์กินพืช พืชกินดิน ดินกลืนกินพืช กินสัตว์ และกินคน” เวียนวนกันอยู่เช่นนี้
ถ้าจะแจงนับเอาสิ่งมีชีวิต ที่เป็นเพื่อนคู่มิตรชิดใกล้กับคนเราแล้ว “พืช” เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้ชิดมาก ได้พึ่งพาอาศัย และทำลายล้างกันมาตลอด พบพืชชนิดหนึ่งที่ใกล้ชิดคนเรามานาน ใบคล้ายใบมะเขือขื่น มีหนามเหมือนมะเขือพวง มีลูกออกมาเป็นช่อ ช่อพวงละหลายลูก มีขนปกคลุมทั่วผล ตอนผลสุกแก่จะดูสวยงาม สวยกว่าผลของพืชอื่น แต่ถ้าจะดูให้น่ากลัว ก็น่าหวาดกลัวอยู่ มันมีขนปุกปุยรอบผล เหมือนขนของตัวบุ้งร่าน ที่พร้อมจะใช้เป็นอาวุธทำร้าย หรือป้องกันคนที่จะเข้าไปเด็ดดอม และกันสัตว์ที่จะเข้าไปกัดกินหรือทำลาย ยิ่งเห็นหนามขนที่ขึ้นทุกส่วนของต้น มันยิ่งน่ากลัวอยู่น้อยเสียเมื่อไหร่ แต่สำหรับผู้คนที่รู้จักตัวตนของพืชชนิดนี้ จะบอกว่า มันเป็นความน่ารักดี นี่คือผักประเภทผล เป็นอาหารคน ที่น่าลองลิ้มชิมรส
“มะอึก” ชื่อเขาดูแปลกๆ เหมือนเป็นคำที่เคยใช้ล้อคนอาภัพผม สมัยก่อนเขาล้อกันเล่นๆ แต่ก็ทำให้เป็นเรื่องเป็นราว จริงจังกันเยอะอยู่ เพราะคนที่ถูกล้อว่า “มะอึก” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หลากมากดี เศรษฐี เจ้าคุณ เจ้าขุนมูลนาย อย่างน้อยก็ระดับกำนัน และมักเป็นผู้ชาย ชอบเรียกกันว่า มะอึก ขุนช้าง ปู่เกลี้ยง ลุงเหม่ง พี่โล้น ตาล้าน น้าเถิก เกิดเรื่องกันอยู่เรื่อย ซึ่ง “มะอึก” คนทางภาคเหนือเรียก “มะเขือปู่” หรือ “บ่ะปู่” “มะปู่” “มะเขือขน” ภาคอีสานเรียก “มักอึก” หรือ “หมากอึก” “บักเอิก” “หมากเอิก” ภาคใต้เรียก “ลูกอึก” หรือ “อึก” ภาคกลางเรียก “มะเขือเหลืองขน” “มะอึก” เชื่อว่าหลายคนคงเคยรู้จัก เคยกิน หรือไม่ก็เคยผ่านหูผ่านตา มาบ้างแล้ว
มะอึก มีอยู่ทั่วไป เรียกชื่อสามัญว่า Solanum หรือ Bolo Maka หรือ Hairy Fruited eggplant เป็นไม้ในวงศ์เดียวกับมะเขือ มะเขือพวง มะแว้ง คือวงศ์ SOLANACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum Stramoniifolium Jacq. มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเมืองไทยบ้านเรา เป็นพืชพื้นบ้านที่ขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไปเป็นพืชเศรษฐกิจในแถบอเมริกากลาง ถึงเม็กซิโก ซึ่งเขานิยมนำมาทำน้ำผลไม้ปั่น หรือน้ำคั้นผลไม้ ที่มีคุณค่า ราคาสูง เผลอๆ อาจจะเป็นสินค้าแปรรูป อาหารสุขภาพ ส่งมาตีตลาดบ้านเราแล้วก็ได้
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ล้มลุกหลายปี สูงประมาณ 80-150 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มคล้ายต้นมะเขือพวง ขนาดลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ผิวเปลือกต้นเรียบ สีเขียว และมีนวลสีขาวเมื่อแก่ ลำต้นมีหนามแหลม และขนละเอียดสีน้ำตาลปกคลุมทั่วต้น เต็มไปหมด ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว มีขนอ่อนปกคลุมทั่วแผ่นใบ ออกเรียงสลับ รูปร่างใบ เป็นรูปไข่กว้างรี ขอบใบหยักเว้าลึกเข้าหาเส้นกลาง ปลายใบแหลม โคนใบเว้าหรือตัดเฉียง ฐานใบ 2 ข้างไม่เท่ากัน มีหนามแหลมแข็งอยู่บนเส้นใบ ใบยาว 15-25 เซนติเมตร กว้าง 10-25 เซนติเมตร ก้านใบยาว 5-7 เซนติเมตร
ดอกมะอึก ออกเป็นช่อมีดอกย่อย 3-5 ดอก ออกช่อเป็นกระจุกตามบริเวณซอกใบ กลีบดอกสีขาว หรือสีม่วงอ่อน 5 กลีบ โคนติดกัน แต่ละกลีบมีขนาดเล็กปลายกลีบแหลม เมื่อกลีบบานจะโค้งลง ผลหรือลูกมะอึก สีเขียวเมื่ออ่อน มีขนยาวปกคลุมหนาแน่นทั่วทั้งผล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร เมื่อผลแก่สุก จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม หรือเหลืองแกมน้ำตาล มีขนสีขาวปกคลุมผลอยู่เช่นเดิม ดูเหมือนจะมีมากเพิ่มขึ้นด้วย และเหมือนผมหงอก เปราะหลุดร่วงได้ง่ายๆ ในผลมีเมล็ดกลมเล็กเป็นจำนวนมาก สีขาวอมเหลือง เรียงเป็นแถวอยู่ภายในผล
ส่วนใหญ่จะพบต้นมะอึกขึ้นตามแหล่งธรรมชาติ บริเวณป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ ชายป่าเขา ที่รกร้าง ป่าทุ่ง ไร่สวน และริมทาง มีการนำไปปลูกในสวนหลังบ้าน ปลูกต้นเดียว กินลูกไม่หมด มะอึกติดลูกเยอะมาก เป็นคุณปู่ลูกดก เมื่อออกลูกก็จะออกพร้อมกันทั้งต้น มีระยะออกลูกต่อเนื่องกัน ทำให้สุกแก่เกือบพร้อมกัน หรือในเวลาไล่เลี่ยกัน เก็บกินไม่ทัน แบ่งปันก็แล้ว เลยต้องทิ้งให้หล่น ร่วง เน่า แพร่ขยายงอกออกต้นใหม่ เมื่อสภาพแวดล้อมและเวลาเหมาะสม ลูกมะอึกเป็นอาหารที่ชอบ ได้ใจ ของนกหลายชนิด ชักชวนให้นกมาชุมนุมกัน บางต้นเจ้าของจำใจต้องฟันทิ้ง แม้จะเสียดายอยู่บ้าง ก็จำทนตัดขาดจากกันไป เพื่อจะได้ไม่รกรำคาญตา ที่เห็นต้นมะอึกโทรมๆ คงเป็นเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต อย่างสัตว์ อย่างคน ที่ออกลูกดกมากๆ ก็โทรมไว อย่างนั้นแหละปลงได้ก็ปลงนะ
พูดถึงผลมะอึก ชวนให้นึกถึงสีสันบรรยากาศ เวลาเด็ดมาชื่นชมทั้งช่อพวง เมื่อตอนเป็นผลอ่อนๆ สีเขียว มีขนยาวหุ้มเต็มผล เมื่อแก่จนงอม เป็นสีเหลืองส้มสวยงาม ขนสีขาวก็คลุมทั่วผลอย่างนั้น ต้นไหนเด็ดเอามากินไม่ทัน ก็ฟันทิ้งทั้งกิ่งต้นผลแก่ โยนทิ้งให้นก หนู ไก่ จิกกิน คุ้ยเขี่ยกระเด็นไปตกที่เหมาะสม ก็งอกเป็นต้นใหม่ แต่น่าสังเกตว่า ต้นมะอึกมักจะไม่ค่อยขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มักขึ้นเป็นต้นเดียวเดี่ยวๆ หรืออย่างเก่งก็ 2 ต้น ที่ขึ้นติดกัน แคระต้น อ้วนลำต้น หรือว่า ต้นมะอึกจะเป็นไม้ที่ชอบสันโดษ ชอบอยู่โดดเดี่ยว เหมือน “คุณปู่” ที่คุณย่าเขาชิงลาจากไปก่อน ทำให้เป็นที่มาของชื่อ “มะเขือปู่” ละกระมังนิ
ขนยาวๆ สีขาวนวลของมะอึกมีประโยชน์ ชาวบ้านเมื่อก่อน เขาขูดเอาขนมะอึกตีใส่ไข่ทอดให้เด็กกิน เพื่อขับถ่ายพยาธิ ผลมะอึกซึ่งมีรสเปรี้ยว กลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พิเศษ มีเสน่ห์น่าเชยชม จะนิยมใช้เป็นผักและเครื่องปรุงรสอาหาร ผลแก่หรือผลสุกกินสดได้ หั่นซอยหรือผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำปลา รวมกับกระเทียมกลีบ พริกขี้หนูสวน เป็นผักแกล้มลาบ ยำ พล่า ก้อย หรือใช้ตำน้ำพริกมะอึก ตำกบ ใส่แกงส้มหมูย่าง ใส่ส้มตำ ใส่แกงเนื้อ แกงปลาย่าง เสริมแต่งรสอาหารต่างๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยวได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะ “น้ำพริกกะปิ” เอามะอึกผลแก่สุก ขัดเอาขนออก ฝานเป็นแผ่นบางๆ หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกใส่น้ำพริกกะปิ เพิ่มรสชาติความอร่อย ทดแทนความเปรี้ยวของมะนาว ได้เนื้อได้เมล็ดแทนมะเขือพวง มะเขือกรอบ ได้สีสันที่น่ากิน เพิ่มความอร่อย เป็นอร่อยมากกว่า คนเหนือว่าลำแต้ๆ อีสานว่าแซ่บหลาย คนใต้บอกอย่างรัวๆ ว่า หร่อยจังฮู้
ผลมะอึกมีรสเย็น เปรี้ยวอมขื่นเล็กน้อย ผลสุกเปรี้ยวมาก ผลมะอึก 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 53 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 3.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.5 กรัม โปรตีน 1.9 กรัม ไขมัน 0.8 กรัม แคลเซียม 26 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม หรือไนอะซิน 4.9 มิลลิกรัม วิตามินซี 3.0 มิลลิกรัม
สรรพคุณทางยา ผลมะอึก แก้ไอ แก้เจ็บคอ ช่วยกัดฟอกเสมหะ แก้ดีพิการ ขนใช้ผสมทอดไข่กินขับพยาธิ เมล็ดในผลมะอึก ใช้เผาสูดรมดมควันแก้ปวดฟัน ใบมะอึก รักษาโรคปอดบวม แก้พิษฝี แก้ผดผื่นคันตามผิวหนัง ทั้งใบ ดอก ราก ตำรวมกัน ใช้พอกทาแก้ผดผื่นคันได้ชะงัดนัก รากต้นมะอึก มีรสเย็น และเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นยาแก้ปวด แก้ไข้สันนิบาต ไข้มีตุ่มออกทางผิวหนัง เหือด หิด อีสุกอีใส แก้น้ำลายเหนียว ช่วยกัดฟอกละลายเสมหะ ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวลม ดับพิษร้อนภายในร่างกาย รักษาโรคถุงน้ำดีฝ่อ หรือแก้โรคดีกระดูก น้ำดีพิการ แก้สะดุ้งผวา เพ้อ หลับๆ ตื่นๆ ผลจากโรคดีฝ่อ คงเป็นแบบที่เขาว่ากลัวจน “ขวัญหนีดีฝ่อ” ละกระมังนี่
ช่วงปลายของฤดูฝนต้นหนาว มะอึกจะให้ลูกให้ผลมากมาย แล้วต้นจะเหี่ยวแห้งตาย เคยทดลองทำการต่ออายุต้นมะอึก โดยวิธีการทำสาว ตั้งแต่ให้ผลรุ่นแรก เหลือช่อดอกไว้บ้างบางกิ่ง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย พรวนดิน คลุมโคนต้น ผูกโยงกิ่ง ก็ยืดอายุการให้ผลได้ยาวถึงหนาวได้อีกนิดหน่อย ซึ่งคงจะเป็นธรรมดาของไม้ล้มลุกทั่วไป แต่ในบรรดาไม้ล้มลุกที่ทำสาวดัดตัดแต่งกิ่ง ให้ผลได้ระยะยาวหลายเดือนถึงเป็นปี เคยทำแล้วเห็นผล ยืดอายุให้อยู่ยืนยาวได้ก็มี มะเขือกรอบพันธุ์เจ้าพระยา พริกแม้วเหลือง ใช้วิธีโน้มกิ่งลงดินก็ต่ออายุได้ พืชผักพวกต้นหอมแบ่ง ขึ้นฉ่าย ก็ต่อยืดอายุได้ ส่วนต้นมะเขือปู่ มะปู่ บักอึก หมากอึก บักเอิก หรือมะเขือขน ไม่ยอมยืนยืดอายุให้ ต้องไปก่อนละนะคุณปู่มะอึก